Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
16 เม.ย. เวลา 06:26 • ประวัติศาสตร์
“ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn)” ตำนานนักแสดงผู้ผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2
เชื่อว่าหลายคนที่เป็นคอภาพยนตร์ต้องรู้จักและคุ้นชื่อของ “ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn)”
1
เฮปเบิร์นเป็นนักแสดงระดับตำนานชาวอังกฤษ ผู้มีผลงานคลาสสิกมากมาย และถูกจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 นักแสดงหญิงยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาล
แต่นอกเหนือจากการเป็นตำนานแห่งวงการแสดงแล้ว เฮปเบิร์นยังต้องผ่านช่วงเวลาแห่งสงครามโลกครั้งที่ 2 และเคยเสี่ยงตายช่วยฝ่ายสัมพันธมิตรมาอีกตั้งแต่วัยเยาว์
เรื่องราวของเธอเป็นอย่างไร ผมจะเล่าให้ฟังครับ
ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn)
“ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn)” หรือชื่อเมื่อแรกเกิด ” ออเดรย์ แคทลีน รัสตัน (Audrey Kathleen Ruston)” เกิดที่เบลเยี่ยมในปีค.ศ.1929 (พ.ศ.2472) โดยมีบิดาเป็นนายธนาคารชาวอังกฤษ และมารดาเป็นบารอเนสส์ชาวดัทช์
เรียกว่าเฮปเบิร์นนั้นเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะดีและชาติตระกูลสูง โดยเฉพาะฝ่ายมารดาที่มาจากตระกูลขุนนางดัทช์
หากแต่เฮปเบิร์นนั้นไม่ทราบเลยว่าอะไรกำลังรอเธออยู่ในวันข้างหน้า
ทั้งบิดาและมารดาของเฮปเบิร์นนั้นเป็นผู้นิยมเยอรมัน โดยในปีค.ศ.1935 (พ.ศ.2478) บิดาของเฮปเบิร์นถูกทางการอังกฤษจับกุมในข้อหาเป็นสายลับให้เยอรมนี และทำให้บิดากับมารดาตัดสินใจหย่าร้าง
เฮปเบิร์นในวัยเด็ก
สี่ปีต่อมา ผู้เป็นมารดาเอาตัวเฮปเบิร์นออกจากโรงเรียนประจำที่อังกฤษ และย้ายตัวเธอมาอยู่ด้วยที่ฮอลแลนด์ เนื่องด้วยผู้เป็นมารดามั่นใจว่าในไม่ช้า ฝ่ายเยอรมันต้องเข้ารุกรานอังกฤษแน่นอน และการที่เฮปเบิร์นมาอยู่ที่ฮอลแลนด์ ก็จะเป็นการปลอดภัยกว่า
แต่สำหรับเฮปเบิร์น ฮอลแลนด์นั้นไม่ใช่บ้านที่อบอุ่น ภาษาก็เข้าใจยาก และในปีค.ศ.1940 (พ.ศ.2483) สิ่งที่ผู้เป็นมารดาเคยคิดไว้นั้นกลับไม่เป็นความจริง เนื่องจากเยอรมนีได้รุกรานฮออลแลนด์ ทำให้ชีวิตของผู้คนในฮอลแลนด์ตกอยู่ในความหวาดกลัวและยากลำบาก ผู้คนหิวโหย และต่างก็ถูกส่งตัวไปยังค่ายกักกัน
เฮปเบิร์นเคยกล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“ฉันจำได้อย่างแม่นยำ เด็กผู้ชายตัวเล็กๆ คนหนึ่งกำลังยืนอยู่บนชานชาลากับพ่อแม่ของเขา เด็กคนนั้นดูซีดมาก ผมบลอนด์มาก และใส่เสื้อโค้ตที่ตัวใหญ่กว่าตัวของเขามาก ก่อนเขาจะก้าวขึ้นรถไฟ ฉันเป็นเด็กที่กำลังสังเกตเด็กอีกคนหนึ่ง จากนั้นฉันก็รู้ทันทีว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเด็กคนนั้น“
ต่อมาเรื่องเศร้าก็ได้เข้ามากระทบกระเทือนจิตใจของเฮปเบิร์น เนื่องจากผู้เป็นลุงซึ่งเฮปเบิร์นรักเหมือนพ่อแท้ๆ ได้ถูกฝ่ายเยอรมันสังหาร เนื่องจากผู้เป็นลุงนั้นอยู่ในกลุ่มต่อต้านเยอรมัน และพยายามขัดขวางแผนการของพวกเยอรมัน
ในช่วงเวลาที่อดอยากและยากลำบาก สิ่งเดียวที่ช่วยคลายความทุกข์ในช่วงสงครามสำหรับเฮปเบิร์นก็คือ “การเต้น” โดยเฮปเบิร์นได้เข้าเรียนเต้นรำในสถาบันแห่งหนึ่ง
แต่ความสุขนี้ก็อยู่ได้ไม่นาน เนื่องจากเมื่ออายุได้ 15 ปี ฝ่ายเยอรมันได้ให้เฮปเบิร์นเลิกการแสดงในที่สาธารณะ ทำให้เฮปเบิร์นต้องเลิกเต้นบัลเลต์
เดือนกันยายน ค.ศ.1944 (พ.ศ.2487) เครื่องบินนับร้อยลำบินอยู่เหนือน่านฟ้าย่านที่เฮปเบิร์นอาศัยอยู่ เฮปเบิร์นรีบออกมานอกบ้านเพื่อดูว่าเกิดอะไรขึ้น ก่อนจะพบว่าท้องฟ้าเต็มไปด้วยทหารพลร่มชาวอังกฤษ อเมริกัน และโปแลนด์ กระโดดลงมาจากเครื่องบิน
1
นี่คือ “ปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน (Operation Market Garden)“ ซึ่งเป็นการโจมตีทางอากาศครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง
เฮปเบิร์นต้องไปหลบในห้องใต้ดิน ก่อนจะพบในเวลาต่อมาว่าปฏิบัติการนี้ไม่ประสบผลสำเร็จ และชีวิตที่ยากลำบากยังคงดำเนินต่อไป
ปฏิบัติการมาร์เก็ตการ์เดน (Operation Market Garden)
ถึงแม้ว่ามารดาของเฮปเบิร์นจะเป็นผู้นิยมเยอรมัน แต่หัวหน้ากลุ่มต่อต้านเยอรมันในท้องถิ่นก็เห็นศักยภาพในตัวเฮปเบิร์น และเห็นว่าเฮปเบิร์นนั้นมีประโยชน์ต่อกลุ่มตน
เฮปเบิร์นสามารถพูดภาษาอังกฤษได้อย่างคล่องแคล่ว และภารกิจแรกที่เฮปเบิร์นได้รับ ก็ถือต้องเข้าไปพบกับทหารพลร่มชาวอังกฤษในป่าเพื่อส่งมอบโค้ดลับ โดยโค้ดลับนั้นถูกซ่อนอยู่ในถุงเท้าของเฮปเบิร์น
ภารกิจแรกสำเร็จลุล่วงด้วยดี หากแต่ก็มีเรื่องให้น่าหวาดเสียว เนื่องจากหลังปฏิบัติภารกิจสำเร็จและกำลังกลับบ้าน เฮปเบิร์นก็ต้องเจอกับกลุ่มตำรวจชาวดัทช์ซึ่งเป็นคนของฝ่ายเยอรมัน และได้เข้ามาสอบสวนและจะค้นตัวเธอ
นี่เป็นครั้งแรกที่เฮปเบิร์นฉายแววการแสดงก่อนจะโด่งดังในฐานะนักแสดงระดับตำนาน เนื่องจากเฮปเบิร์นได้โปรยเสน่ห์ให้ตำรวจกลุ่มนั้น และแกล้งทำเป็นเก็บดอกไม้แถวนั้นให้เหล่าตำรวจ ทำให้เหล่าตำรวจเคลิบเคลิ้มและปล่อยเธอเป็นอิสระ
1
นอกจากนั้น เฮปเบิร์นยังช่วยแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ของฝ่ายต่อต้านเยอรมัน โดยซ่อนหนังสือพิมพ์ไว้ในถุงเท้า และขี่จักรยานไปแจกจ่ายตามบ้านเรือน
การกระทำของเฮปเบิร์นนับว่าเสี่ยงมาก เนื่องจากหากถูกจับได้ ชะตากรรมของเธอและครอบครัวย่อมไม่พ้นถูกส่งเข้าค่ายกักกันและถูกใช้แรงงานจนตาย
หลังจากสงครามจบลงในปีค.ศ.1945 (พ.ศ.2488) เฮปเบิร์นก็กลับไปอังกฤษ และทำงานเป็นนางแบบ พร้อมทั้งตั้งใจจะมุ่งมั่นสู่การเป็นนักบัลเลต์มืออาชีพ
เฮปเบิร์นได้เซ็นสัญญากับคณะบัลเลต์แห่งหนึ่ง แต่แล้วก็ถูกปฏิเสธในเวลาต่อมา โดยสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารในช่วงสงครามทำให้พละกำลังและความแข็งแรงของเธอไม่เพียงพอที่จะเป็นนักบัลเลต์มืออาชีพ
1
เมื่อความฝันในการเป็นนักบัลเลต์จบลง เฮปเบิร์นจึงหันเหไปสู่การแสดง ก่อนจะได้รับรางวัลออสการ์ในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปีค.ศ.1953 (พ.ศ.2496) จากภาพยนตร์เรื่อง “Roman Holiday”
จากนั้น เฮปเบิร์นก็ได้ปรากฎตัวในภาพยนตร์อีกกว่า 25 เรื่อง และคว้ารางวัลอีกมากมาย
สำหรับประสบการณ์ในช่วงสงครามนั้น เฮปเบิร์นไม่ค่อยนำมาพูดถึงมากนัก หากแต่ก็เชื่อว่าประสบการณ์ในช่วงสงครามได้หล่อหลอมเข้าสู่การแสดงของเฮปเบิร์นเช่นกัน
หลังจากเกษียณจากงานการแสดง เฮปเบิร์นก็ได้เสี่ยงชีวิตอีกครั้ง ครั้งนี้เพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น โดยเธอได้เข้าร่วมกับ “ยูนิเซฟ (UNICEF)” เป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟในปีค.ศ.1988 (พ.ศ.2531) และบางครั้งก็ต้องเข้าไปยังพื้นที่เสี่ยงภัย
เฮปเบิร์นเสียชีวิตในปีค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) ด้วยวัย 63 ปี
เฮปเบิร์นขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นทูตสันถวไมตรีของยูนิเซฟ
ทุกวันนี้ ชื่อของ “ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn)” ก็ยังเป็นที่จดจำไม่เพียงแค่ในฐานะของนักแสดงระดับตำนานเท่านั้น แต่คือหนึ่งในผู้รอดชีวิตจากความโหดร้ายของสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นหนึ่งในผู้ที่หวังจะให้โลกดีขึ้น
References:
https://medium.com/lessons-from-history/audrey-hepburn-was-a-battle-hardened-bad-ass-67158db1335f
https://people.com/movies/audrey-hepburn-was-a-battle-hardened-badass/
https://spyscape.com/article/audrey-hepburns-secret-life-as-a-world-war-ii-spy
ประวัติศาสตร์
1 บันทึก
21
2
2
1
21
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย