2 พ.ค. เวลา 16:00 • สิ่งแวดล้อม

ทั่วโลก ‘รีไซเคิลพลาสติก’ แค่ 9.5% ส่วนใหญ่ไม่เผาทิ้ง ก็ฝังกลบ

“พลาสติก” เป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมระดับโลกที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะการผลิตพลาสติกจะต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นวัตถุดิบหลัก ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิด “ไมโครพลาสติก” ที่สามารถเข้าไปสะสมในร่างกายได้อีกด้วย
การผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากปี 1950 ที่ผลิตมาเพียง 2 ล้านตัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 800 ล้านตันต่อปีภายในปี 2050 ด้วยเหตุนี้ มลพิษจากพลาสติกจึงเป็นปัญหาเร่งด่วนและเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก โดยก่อให้เกิดความท้าทายครั้งใหญ่ต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสาธารณสุข
นักวิจัยได้ใช้ข้อมูลสถิติของแต่ละประเทศ รายงานอุตสาหกรรม และฐานข้อมูลระหว่างประเทศจากปี 2022 เพื่อสร้างการวิเคราะห์อุตสาหกรรมพลาสติกระดับโลกเป็นครั้งแรก พวกเขาพบว่าพลาสติกใหม่ 437 ล้านตันที่ผลิตในปี 2022 มีเพียง 38 ล้านตัน หรือคิดเป็น 9.5% เท่านั้นที่มาจากพลาสติกรีไซเคิล
สหรัฐ เป็นประเทศที่มีการใช้พลาสติกต่อประชากรมากที่สุด เทียบเท่ากับ 216 กิโลกรัมต่อคนต่อปี โดยรวมแล้วสหรัฐผลิตขยะพลาสติก 40.1 เมกะตัน ซึ่งส่วนใหญ่มาจากบรรจุภัณฑ์พลาสติก แต่กลับมีอัตราการรีไซเคิลต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีการนำกลับมาใช้ใหม่เพียง 5% เท่านั้น อัตราการรีไซเคิลยิ่งลดลงอีก หลังจากที่จีนประกาศห้ามนำเข้าขยะพลาสติกในปี 2018
หากมองถึงวิธีจัดการขยะจะพบว่า มีเพียง 27.9% ของขยะพลาสติกที่ถูกกำจัดจริงเท่านั้นที่นำไปรีไซเคิล ขยะพลาสติกส่วนใหญ่ยังคงลงเอยอยู่ที่หลุมฝังกลบถึง 40% แต่ก็ลดลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเผาขยะเพิ่มขึ้นเป็น 34% โดยญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการเผาขยะพลาสติกสูงที่สุดที่ 70% ตามมาด้วยจีน 60% และสหภาพยุโรป 38% เนื่องจากนำขยะมาใช้เป็นพลังงานและกู้คืนพลังงาน
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยเตือนว่าการเผาพลาสติกก็มีความเสี่ยงเช่นกัน เพราะยังคงปล่อยมลพิษที่เป็นอันตราย ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและมีการกำกับดูแลที่เข้มงวด และประเทศยากจนมักเผาขยะโดยไม่มีการควบคุม ทำให้พลาสติกแพร่กระจายไปในสิ่งแวดล้อม คุณภาพอากาศแย่ลง และคนงานสัมผัสกับสารเคมีพิษ อีกทั้งยังมีพลาสติกอีกประมาณ 11% ที่จัดการไม่ถูกต้อง
การศึกษาอธิบายว่ามีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลให้การรีไซเคิลพลาสติกยังทำได้ไม่ดี สาเหตุหนึ่งมาจากพลาสติกมีมากมายหลากแบบ ทำให้นำไปแปรรูปทำได้ยาก อีกทั้งบางชิ้นยังมีคราบอาหาร ฉลาก และสิ่งปนเปื้อนอื่น ๆ ยิ่งทำให้กระบวนการรีไซเคิลเป็นไปได้ยาก
ในขณะเดียวกัน พลาสติกใหม่มักจะมีราคาถูกกว่าเมื่อเทียบกับพลาสติกรีไซเคิล ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่ผันผวน ทำให้การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการรีไซเคิลลดลง ด้วยปัจจัยดังกล่าวยิ่งทำให้อัตราการรีไซเคิลลดลง นักวิจัยกล่าวว่าจำเป็นต้องหาทางให้สามารถรีไซเคิลผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และราคาถูกลง
ขณะที่ “ไบโอพลาสติก” พลาสติกที่ทำมาจากวัสดุอินทรีย์มีสัดส่วนเพียง 2% ของพลาสติกบริสุทธิ์ทั้งหมด เนื่องจากพลาสติกประเภทนี้เผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ เช่น การปล่อยมลพิษที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการผลิต ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการปลูกพืชผล และการแข่งขันกับการผลิตอาหาร
พลาสติกกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมากทั้งทางตรงและทางอ้อม จากการศึกษาล่าสุดพบว่า พลาสติกใหม่ที่ผลิตขึ้นทั่วโลกในปี 2022 ประมาณ 98% ผลิตจากวัตถุดิบที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดย 44% มาจากถ่านหิน 40% มาจากปิโตรเลียม และ 8% มาจากก๊าซฟอสซิล
เพื่อจัดการกับแหล่งปล่อยมลพิษหลักนี้และทำความสะอาดมลภาวะจากพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ประเทศต่าง ๆ พยายามจะออก “สนธิสัญญาพลาสติก” แต่การเจรจาเมื่อเดือนธันวาคม 2024 ยังคงล้มเหลว และจะเริ่มการเจรจากันใหม่ในเดือนสิงหาคม 2025 ที่เจนีวา
นักวิจัยบอกว่าการลดปริมาณการใช้พลาสติกเป็น “วิธีแก้ปัญหาที่สำคัญ” ควรมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ต่างๆ เช่น การรีไซเคิล การใช้ซ้ำ รวมถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อให้มีอายุการใช้งานยาวนาน อาจช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพลาสติกได้
ลอร่า เบอร์ลีย์ หัวหน้าทีมพลาสติกของกรีนพีซสหราชอาณาจักร กล่าวว่า การรีไซเคิลพลาสติกเป็นกลวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ เพื่อไม่ให้ผู้คนตระหนักว่าที่จริงแล้วพวกเขายังคงผลิตพลาสติกใหม่จากเชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตสภาพอากาศ และยังสร้างมลภาวะให้กับโลกด้วย
“วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงคือหยุดผลิตพลาสติกมากเกินไปตั้งแต่แรก” เบอร์ลีย์กล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมกันผลักดันสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลกที่เข้มแข็ง ซึ่งกำหนดให้ลดการผลิตลงอย่างน้อย 75% ภายในปี 2040
เช่นเดียวกับ เดลฟีน เลวี อัลวาเรส ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์ด้านปิโตรเคมีระดับโลกที่ศูนย์กฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการศึกษานี้ให้ความเห็นว่า
“การศึกษาครั้งนี้เป็นการเตือนอีกครั้งว่าเราไม่สามารถรีไซเคิล เพื่อหลีกหนีจากมลภาวะจากพลาสติกได้ เพราะพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลในรูปแบบอื่นและทำหน้าที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่สำคัญสำหรับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล ขั้นตอนแรกและสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหามลภาวะจากพลาสติกและวิกฤตสภาพอากาศคือ ต้องลดการผลิตพลาสติกใหม่”
โฆษณา