18 เม.ย. เวลา 04:44 • ปรัชญา

เมื่อความสุขกลายเป็นสินค้า: จากความเรียบง่ายกลายเป็นความซับซ้อนที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

ในโลกที่เต็มไปด้วยการแข่งขันและการบริโภคอย่างไม่รู้จบ หลายคนพยายามไขว่คว้าความสุขจากวัตถุและสถานะทางสังคม แต่ว่าความสุขแท้จริงกลับเรียบง่ายและอยู่ใกล้ตัวเสียจนเรามักมองข้ามมันไป แท้จริงแล้วความสุขไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยสิ่งของหรือความโลดโผนใด ๆ มันอาจเป็นเพียงการได้อยู่กับผู้คนที่เรารัก การได้แบ่งปันเล็กน้อย หรือแม้แต่การนั่งเงียบ ๆ ในมุมสงบของบ้านตัวเอง
พวกเรารู้เรื่องนี้กันดี แต่เราก็ยังคงไล่หาความสุขจากวัตถุและสถานะทางสังคม ผมก็เป็นในบางครั้ง ผมจึงอยากเขียนบทความนี้ขึ้นมาทั้งเพื่อเตือนสติตัวเอง และเตือนสติผู้อ่านทุกท่าน อย่างไรก็ตามผมไม่ได้อยากให้ทุกท่านเลิกซื้อหาวัตถุเพื่อตอบสนองความพอใจ เพียงแต่เราไม่ควรยึดติดวัตถุเป็นความสุขอย่างเดียว
หลักคิดนี้ผมไม่ไ้ด้คิดเป็นตุเป็นตะขึ้นมาเอง แต่มีข้อมูลทางจิตวิทยารองรับอยู่พอสมควร ทิม แคสเซอร์ (Tim Kasser) นักจิตวิทยาและศาสตราจารย์กิตติคุณด้านจิตวิทยาที่วิทยาลัยน็อกซ์ ได้อธิบายให้เห็นถึงปรากฏการณ์สำคัญของสังคมบริโภคสมัยใหม่ว่า ยิ่งผู้คนให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางวัตถุและความทะเยอทะยานในการเสพบริโภคมากเท่าไร พวกเขากลับยิ่งมีความสุขและความพึงพอใจในชีวิตน้อยลงเท่านั้น
งานวิจัยของเขายังอธิบายเพิ่มเติมว่าบุคคลที่ยึดติดอยู่กับเงิน ภาพลักษณ์ และสถานะทางสังคมมักเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาวะ ไม่ว่าจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือการใช้สารเสพติด ที่น่าสนใจก็คือ โลกทุนนิยมสมัยใหม่ยังปลูกฝังคุณค่าของประโยชน์ส่วนตนและความสำเร็จทางการเงิน จนกลายเป็นวงจรที่แปรเปลี่ยนความไม่มั่นคงในชีวิตให้กลายเป็นแรงขับเคลื่อนให้ผู้คนดิ้นรนค้นหาความสุขในวัตถุได้ไม่รู้จบ
สิ่งที่ทำให้วงจรวัตถุนิยมนี้ทรงพลังคือการแกว่งไกวไปมาระหว่างค่านิยมแบบวัตถุนิยมกับคุณค่าทางสังคมที่เน้นความเห็นอกเห็นใจ ความเอื้อเฟื้อ และความร่วมมือกัน ซึ่งแคสเซอร์อธิบายว่าหากฝ่ายวัตถุนิยมเพิ่มขึ้น ส่วนของคุณค่าที่ทำให้สังคมสงบสุข มั่นคง และร่วมมือกันก็จะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ กล่าวคือเราทุกคนแกว่งไกวไปมาเสมอระหว่างวัตถุนิยมและคุณค่าทางสังคม
ขณะเดียวกัน หากคนเรายิ่งรู้สึกไม่มั่นคงหรือโหยหามากเท่าไร ก็จะยิ่งเพ่งความสนใจไปที่เป้าหมายทางวัตถุมากขึ้น สถานการณ์แบบนี้เปรียบได้กับผู้กระหายความเพลิดเพลินระยะสั้น แต่เมื่อได้รับแล้วกลับรู้สึกไม่อิ่ม และต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเกิดเป็นวงจรเสพติดเชิงพฤติกรรมที่ทำลายตัวเราเองและสิ่งแวดล้อมรอบข้าง
ปรากฏการณ์นี้สอดคล้องอย่างน่าสนใจกับแนวคิดของ ร็อบ ลุสติก (Rob Lustig) ที่แยกความแตกต่างระหว่าง ความเพลิดเพลิน กับ ความสุข ชัดเจนฉีกขาดกันมากขึ้น ความเพลิดเพลินคือความรู้สึกประมาณว่า “นี่มันดีจัง ฉันอยากได้เพิ่ม” ซึ่งขับเคลื่อนด้วยฮอร์โมนโดพามีนและโอปิเอตที่หลั่งออกมาในช่วงเวลาสั้น ๆ ทำให้เป็นภาวะที่ล่อใจแต่เปราะบาง คล้ายการเสพสารกระตุ้นที่ต้องใช้ปริมาณมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบเดิม
ตรงกันข้ามกับความสุขเป็นสภาวะอิ่มเอมที่อาศัยการหลั่งเซโรโทนินอย่างต่อเนื่องในร่างกาย มีลักษณะสงบลึก แต่ยั่งยืนกว่าการกระตุ้นแบบฉาบฉวย ระบบทุนนิยมมักจูงใจให้ผู้บริโภควิ่งตามความเพลิดเพลิน จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะเสพติดการบริโภค แต่กลับหาความอิ่มเอมใจหรือความสุขที่แท้จริงไม่เจอ
ทั้งนี้ทั้งนั้นผมไม่อยากให้ผู้อ่านทุกท่านโฟกัสไปที่สารสื่อประสาทมากจนเกินไป เอาเป็นว่ามันเป็นปฏิกิริยาทางประสาทที่ทำให้เราเข้าใจกลไกทางจิตวิทยาของมนุษย์มากขึ้น มันจึงไม่ใช่สาเหตุของพฤติกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น (โดยเฉพาะภาวะซึมเศร้า)
ถัดมารองมองในระดับปรัชญาและเศรษฐศาสตร์ดูบ้าง วงจรแห่งความเพลิดเพลินระยะสั้นสร้างกำไรให้กับระบบทุนนิยม แต่ก็ทำให้กับชีวิตมนุษย์ในแง่ของความสัมพันธ์ที่เสื่อมถอย (ขาดทุน) สุขภาพจิตที่ย่ำแย่ และสังคมที่เปราะบาง นักจิตวิทยาหลายท่านจึงเรียกร้องให้พวกเราตั้งคำถามกับค่านิยมบริโภคที่คอยบอกว่า “ต้องซื้อ ต้องได้ ต้องมี” จนทำให้ความสุขกลายเป็นเพียงสินค้าอีกชิ้นหนึ่ง
การตระหนักว่าความเพลิดเพลินสั้น ๆ ไม่ใช่คำตอบของความสุขในระยะยาว อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เราหันมามองความอิ่มเอมใจที่เกิดจากการสร้างสัมพันธ์ที่ดี กับคนรอบข้าง การแบ่งปัน และความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
แนวคิดของแคสเซอร์ และการจำแนกความแตกต่างระหว่างความเพลิดเพลินกับความสุขของลุสติก ต่างตอกย้ำว่าการยึดติดกับวัตถุนิยมและภาพลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นเส้นทางไปหาความสุข แต่กลับเป็นเส้นทางหลอกล่อที่ทำให้เราหมกมุ่นกับการบริโภคอย่างไม่มีสิ้นสุด ผมมักจะเปรียบเปรยสิ่งเหล่านี้เหมือนขั้นบันไดที่ไม่มีจุดสิ้นสุด คุณไม่มีทางที่จะขึ้นไปถึงจุดมุ่งหมายได้อย่างแน่นอน
หากเราตั้งใจมองชีวิตอย่างรอบด้านและรู้จักปรับเปลี่ยนนิยามความสุขให้เป็นการเติมเต็มทางใจมากกว่าการสนองความอยากชั่วครู่ เราก็จะหลุดพ้นจากวงจร “ต้องซื้อ ต้องได้ ต้องมี” ที่ทำให้ชีวิตว่างเปล่า และเริ่มสร้างความสุขที่ยั่งยืนได้จริงในทุกมิติ ตั้งแต่ความสัมพันธ์ที่ดี ไปจนถึงสังคมและโลกที่เราต่างมีส่วนร่วมดูแล
อ้างอิง
Dittmar, H., Bond, R., Hurst, M., & Kasser, T. (2014). The relationship between materialism and personal well‐being: A meta‐analysis. Personality and Social Psychology Review, 18, 199–229.
Lustig, R. H. (2017). Hacking of the American mind: The science behind the corporate takeover of our bodies and brains. Avery.
Maté, G., & Maté, D. (2022). The myth of normal: Trauma, illness, and healing in a toxic culture. Avery.
โฆษณา