18 เม.ย. เวลา 11:00 • ประวัติศาสตร์

• จริงหรือไม่ที่คนในภาพ คือเจ้าหญิงที่เลอโฉมที่สุดของเปอร์เซีย?

ย้อนกลับไปในปี 2017 ได้เกิดโพสต์ไวรัลบนเฟสบุ๊ค โดยเป็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่สวมผ้าคลุมศีรษะของชาวมุสลิม มีรูปร่างอ้วนพี แถมยังมีหนวดที่ใบหน้า โดยเนื้อหาของโพสต์ได้เขียนไว้ว่า
“พบกับเจ้าหญิงกาจาร์! เธอเป็นสัญลักษณ์ของความงดงามในเปอร์เซีย (หรืออิหร่านปัจจุบัน) ชายหนุ่ม 13 คนได้ปลิดชีพตัวเองเพราะถูกเธอปฏิเสธรัก”
และในปี 2020 ก็มีอีกโพสต์หนึ่งที่มีภาพของผู้หญิงที่มีลักษณะคล้ายกับในโพสต์แรก โดยระบุว่า
“เจ้าหญิงกาจาร์ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความงามขั้นสูงสุดในเปอร์เซียในช่วงต้นทศวรรษ 1900 จริงๆ แล้ว มีชายหนุ่มทั้งหมด 13 คนปลิดชีพตัวเอง เพราะเธอปฏิเสธความรักจากพวกเขา”
ทั้งสองโพสต์นี้ มีคนเข้ามากดไลค์และแสดงความคิดเห็นมากกว่าหลายแสนคน จนกลายเป็น Meme ที่อยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต
แต่แน่นอนเราไม่สามารถเชื่อสิ่งที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตได้ในทันที ดังนั้นเราจะมาดูกันว่า ความจริงที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในสองภาพนี้คืออะไร
อย่างแรกที่ต้องรู้ก็คือ คำว่ากาจาร์ (Qajar) ไม่ได้เป็นชื่อของคนที่อยู่ในภาพ แต่เป็นชื่อของราชวงศ์ที่เคยปกครองเปอร์เซียหรืออิหร่านในช่วงปี 1789-1925
และอย่างที่สองก็คือ คนที่อยู่ในภาพคือคนที่มีตัวตนอยู่จริงและเป็นเจ้าหญิงของเปอร์เซียจริง ๆ
เริ่มจากเจ้าหญิงคนแรกที่สวมผ้าคลุมศีรษะ โดยเธอมีชื่อว่า เจ้าหญิงฟาติมา คานุม เอสมาต อัล-ดาวลาห์ (Fatemeh Khanum Esmat al-Dowleh) ส่วนเจ้าหญิงอีกคนมีชื่อว่า เจ้าหญิงซาห์รา คานุม ทัช อัล-ซัลทาเนห์ (Zahra Khanum Taj al-Saltaneh) โดยทั้งคู่เป็นพระราชธิดาของกษัตริย์นาซีร์ อัล-ดิน ชาห์ กาจาร์ (Naser al-Din Shah Qajar) ที่ปกครองอิหร่านในปี 1848-1896
เจ้าหญิงฟาติมา คานุม เอสมาต อัล-ดาวลาห์ (ซ้าย) เจ้าหญิงซาห์รา คานุม ทัช อัล-ซัลทาเนห์ (ขวา)
พระเจ้าชาห์นาซีร์ อัล-ดิน ชาห์ กาจาร์ พระราชบิดาของเจ้าหญิงทั้งสอง
สำหรับประวัติคร่าว ๆ ของทั้งสองเจ้าหญิงนั้น เริ่มต้นจากเจ้าหญิงฟาติมาที่เกิดในปี 1855 โดยเป็นพระราชธิดาองค์ที่ 2 ของกษัตริย์นาซีร์ อัล-ดิน
เจ้าหญิงฟาติมาทรงเป็นเจ้าหญิงที่ปรีชาสามารถหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเล่นเปียโน เย็บปักถักร้อย รวมถึงพูดภาษาฝรั่งเศสได้ ทำให้เวลาที่มีนักการทูตชาวยุโรปเข้าเฝ้ากษัตริย์นาซีร์ อัล-ดิน เจ้าหญิงฟาติมาก็จะรับหน้าที่ในการดูแลทูตเหล่านี้ ขณะที่เรื่องของความรัก เจ้าหญิงฟาติมาทรงแต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 11 ปีเท่านั้น
1
ส่วนเจ้าหญิงซาห์ราทรงเกิดในปี 1884 เป็นพระราชธิดาองค์ที่ 12 ของกษัตริย์นาซีร์ อัล-ดิน เจ้าหญิงซาห์ราทรงเป็นทั้งนักเขียนและนักสตรีนิยมหรือ Feminist คนแรก ๆ ของอิหร่าน
1
เจ้าหญิงซาห์รามีผลงานหนังสือชีวประวัติชื่อ ‘Crowning Anguish: Memoirs of a Persian Princess from the Harem to Modernity’ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องความเท่าเทียมและความยุติธรรมของสตรีเพศในอิหร่าน
“สตรีชาวเปอร์เซียถูกกีดกันจากมนุษย์และอยู่ร่วมกับฝูงวัวและสัตว์ร้าย พวกเธอใช้ชีวิตอย่างสิ้นหวังในคุก และถูกบดขยี้ภายใต้น้ำหนักของอุดมการณ์อันขมขื่น”
เจ้าหญิงฟาติมา คานุม เอสมาต อัล-ดาวลาห์ (นั่งอยู่ด้านบน) ถ่ายภาพกับพระราชธิดาและพระราชมารดา
“เมื่อถึงวันที่ฉันเห็นว่า เพศของฉันได้รับการปลดปล่อย และประเทศของฉันอยู่บนเส้นทางสู่ความก้าวหน้า ฉันจะยอมเสียสละตัวเองในสนามรบแห่งเสรีภาพ และยอมหลั่งเลือดอย่างอิสระภายใต้ฝ่าเท้าของกลุ่มผู้รักอิสระที่แสวงหาสิทธิ” เนื้อหาบางส่วนจากหนังสือ
เชื่อว่าสาเหตุที่ทำให้เจ้าหญิงซาห์ราทรงมีแนวคิดนี้ ก็มาจากการที่พระนางถูกบังคับแต่งงานตั้งแต่อายุเพียง 10 ปี และหย่าร้างกับพระสวามีถึง 2 ครั้ง ทำให้ทรงเห็นความอยุติธรรมหลายอย่างที่สตรีอิหร่านต้องประสบพบเจอ
เอาล่ะหลังจากที่เรารู้จักกับเจ้าหญิงทั้งสองแล้ว สิ่งสุดท้ายที่เราต้องรู้ต่อไปก็คือ ค่านิยมความสวยความงามของชาวอิหร่านในช่วงเวลานั้น
จากหนังสือ ‘Women with Mustaches and Men without Beards: Gender and Sexual Anxieties of Iranian Modernity’ ของอัฟซาเนห์ นัจมาบาดี (Afsaneh Najmabadi) นักประวัติศาสตร์ด้านเพศของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้ให้ข้อมูลว่า ในศตวรรษที่ 19 อิหร่านมีค่านิยมที่ว่า ผู้หญิงที่มีรูปร่างอ้วน มีขนบนใบหน้าอย่างการมีหนวด และไม่แต่งหน้าใด ๆ จะถือเป็นผู้หญิงที่สวยเพราะแสดงถึงความงามตามธรรมชาติ และเหมาะกับการเป็นภรรยาหรือแม่ของลูกที่ดี
ขณะที่เพศชาย ถ้าเป็นคนที่มีรูปร่างบอบบาง ใบหน้าเกลี้ยงเกลาไร้หนวดไร้เครา ก็จะถือว่าเป็นผู้ชายหล่อสมบูรณ์แบบตามทัศนคติ
อย่างไรก็ตามพอถึงต้นศตวรรษที่ 20 ค่านิยมดังกล่าวก็ค่อย ๆ เสื่อมความนิยมไป จากการที่ชาวอิหร่านเริ่มเดินทางไปยุโรปมากขึ้น ทำให้พวกเขาเริ่มทำตามค่านิยมความงามแบบยุโรปและละทิ้งค่านิยมแบบเดิมของตนไว้
เรียกได้ว่าจากที่เคยเป็น Meme บนโลกอินเทอร์เน็ต กลับมีเบื้องหลังที่น่าสนใจซุกซ่อนไว้อยู่ และถ้าจะให้สรุปว่า เจ้าหญิงทั้งสองเป็นคนที่เลอโฉมหรือไม่ ก็คงตอบว่าจริงถ้าเราอิงตามค่านิยมของคนอิหร่านในตอนนั้น ส่วนเรื่องที่ว่าเจ้าหญิงทำให้ผู้ชาย 13 คนปลิดชีพตัวเอง แน่นอนว่าไม่ใช่ความจริงแต่อย่างใด
1
ติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Histofun Deluxe
อ้างอิง
• ati. Meet The Real Persian Royals Behind The Viral ‘Princess Qajar’ Memes. Meet The Real Persian Royals Behind The Viral ‘Princess Qajar’ Memes
• History Defined. Princess Qajar of Persia: The True Story Behind the Meme. https://www.historydefined.net/princess-qajar/
#HistofunDeluxe
โฆษณา