19 เม.ย. เวลา 04:31 • ปรัชญา

Übermensch มนุษย์ที่เหนือมนุษย์: เมื่อสัญชาตญาณหลอมรวมกับเจตจำนงเสรี

ผมไม่ใช่แฟนคลับของศิลปิน K-Pop เพียงแต่จะเลือกฟังแค่บางเพลงเท่านั้น แต่ถ้าจะต้องตอบจริง ๆ ใครที่มาปลื้มมากที่สุด ผมจะตอบว่า จี‑ดรากอน (G-Dragon) หรือ ควอน จี ยง เพราะเขาเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังทั้งเพลงฮิตและกระแสแฟชั่นของ K‑pop ตลอดเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา นอกเหนือจากการเป็น แรปเปอร์ นักร้องเสียงเอกลักษณ์ และผู้แต่งคำร้อง ทำนอง และโปรดิวเซอร์หลักให้กับ BIGBANG และงานเดี่ยวของตนเองอีกมากมาย
เขาเป็นผู้สร้างสรรค์สไตล์ฮิปฮอป อิเล็กโทรนิกร็อก กับเมโลดี้ติดหูได้อย่างแหลมคม จนกลายเป็นพิมพ์เขียวให้เพลง K‑pop ยุคหลังนำมาพัฒนา นอกเหนือจากเสียงดนตรี เขายังโดดเด่นด้านวิสัยทัศน์ การออกแบบอาร์ตไดเรกชันเวทีคอนเสิร์ต ตั้งแต่โครงสร้างจอ LED ไปจนถึงคอสตูมสุดล้ำ และเป็นแฟชั่นไอคอนตัวจริงที่แบรนด์ระดับโลกอย่าง Chanel, Nike และ Peaceminusone รุมจับมือ
ภัทรณกัญ อนันเต่า กองบรรณาธิการคัลเจอร์ สำนักข่าว THE STANDARD ได้เขียนถึง อลบั้มใหม่ล่าสุดของเขาชื่อว่า Übermensch โดยมีความหมายสื่อถึงคนที่มีความเหนือกว่า และในบริบทนี้ก็อาจแปลได้ว่า G-DRAGON ก็คือศิลปินที่กล้าจะก้าวข้ามผ่านขีดจำกัดของตัวเองแล้วก็พร้อมที่จะท้าทายสิ่งใหม่
มีหลายเวปไซต์ที่วิเคราะห์เหตุผลว่าทำไม จีดี ถึงตั้งชื่ออลบั้มของเขาว่า Übermensch แต่ผมจะไม่มาในเวย์นี้ ผมจะให้ความสำคัญไปที่ปรัชญาเบื้องหลังของ Übermensch และไปถึงข้อถกเถียงว่า "ไอสิ้งนี้มีจริงหรือไม่" ดังนั้นก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักกับ Übermensch กันเล็กน้อยก่อน
Übermensch (อูเบอร์เมนช์) เป็นแนวคิดปรัชญาของฟรีดริช นีทเช่ (Friedrich Nietzsche) (แน่นอนมีการกล่าวถึงคำนี้ก่อนหน้านี้) ปรากฏครั้งแรกในหนังสือ Thus Spoke Zarathustra (1883‑1885) เพื่อสื่อถึงมนุษย์ที่เหนือมนุษย์ไม่ได้หมายถึงสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติ หากคือมนุษย์ที่ก้าวข้ามตน (Self‑overcoming) หลังยุค "พระเจ้าตายแล้ว” เมื่อค่านิยมเก่าและศีลธรรมสากลสูญสิ้น เขาจึงสร้างคุณค่าใหม่จากเจตจำนงของตนเอง (Will power) รังสรรค์ชีวิตดุจศิลปะ ไม่ติดอยู่ในศีลธรรมฝูงชนและกล้ายอมรับความจริงอย่างกล้าหาญ
นีทเช่ยังอธิบายว่า Übermensch คืออุดมคติแห่งการเป็นตัวของตัวเองขั้นสุด ความเจ็บปวด สัญชาตญาณ และความขัดแย้งมิใช่สิ่งต้องกีดกัน หากเป็นเชื้อเพลิงที่จิตใจอิสระสามารถแปรรูปให้กลายเป็นพลังสร้างสรรค์ ความงาม และคุณค่าใหม่ หน้าที่ของมนุษย์จึงมิใช่แสวงหาโลกหลังความตาย แต่คือการยกระดับชีวิตบนโลกนี้ให้มีความหมาย ด้วยการประกาศอิสรภาพทางจิตใจและรับผิดชอบต่อชะตากรรมของตนอย่างสมบูรณ์
อย่างไรก็ตามแม้นิทเช่จะยกย่องเจตจำนงเสรีของปัจเจกในฐานะพลังสร้างสรรค์สำหรับรังสรรค์คุณค่าใหม่ แต่นักวิจารณ์และนักวิชาการจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่าเสรีภาพเช่นนี้เป็นจริงได้เพียงใด
เพราะในความเป็นมนุษย์ เราถูกหล่อหลอมทั้งจากชีววิทยา สัญชาตญาณ แรงกระตุ้นไร้สำนึก และบรรทัดฐานทางสังคมที่โอบล้อมตั้งแต่เกิด กระทั่งความคิดว่าฉันเลือกเอง เป็นเพียงผลสะท้อนของสิ่งเร้าและบริบทที่ซ่อนอยู่ภายใต้จิตสำนึก ยากยิ่งที่จะก้าวพ้นวงจรเงื่อนไขเหล่านี้ได้อย่างแท้จริง ทัศนะคัดค้านจึงมองว่าเสรีในแบบนิทเช่อาจเป็นอุดมคติ มากกว่าสถานะที่มนุษย์ส่วนใหญ่เข้าถึงได้
ในทัศนะของผมแน่นอนเราทุกคนที่หล่อหลอมโดยสภาพแวดล้อม เราเป็นทุกวันเพราะส่วนใหญ่เพราะโครงสร้างทางสังคม และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนตลอดชีวิตของเรา พลังที่ขับเคลื่อนเราอาจเป็นความปรารถนา การเอาตัวรอด หรือแม้แต่ความทะเยอทะยานอยาก แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีศักยภาพที่จะฉุกคิด ทบทวน และตัดสินใจอย่างมีเหตุผล
1
สูตรลับของมนุษย์เหนือมนุษย์จึงไม่ได้อยู่ที่การปฏิเสธสัญชาตญาณของเรา หากแต่เป็นการเข้าใจและ จัดการมันอย่างชาญฉลาด เพื่อสร้างเงื่อนไขให้เจตจำนงเสรีได้ทำงานอย่างเต็มที่ กล่าวคือเราไม่สามารถควบคุมอิทธิพลทางสังคมได้ ซึ่งทำให้เราไม่สามารถมีเจตจำนงเสรีได้อย่างเต็มที่ แต่เราสามารถจัดการมันได้โดยการตระหนักถึงสภาพแวดล้อม สัญชาตญาณ แรงขับเคลื่อนต่าง ๆ และใช้สติปัญญาในการเลือกการแสดงออกของเราอย่างเสรีได้
ในบางคราวเราอาจปล่อยตัวไปตามอารมณ์หรือแรงกระตุ้นทันที โดยไม่ได้ถามตัวเองว่า “นี่ใช่สิ่งที่ฉันต้องการจริง ๆ หรือเปล่า” ขณะเดียวกัน ก็มีอีกหลายช่วงเวลาในชีวิตที่เราเลือกจะคิดอย่างรอบคอบ กำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน และเดินไปข้างหน้าด้วยความตั้งใจของตนเอง การตระหนักรู้ว่าทั้ง สัญชาตญาณและเจตจำนงเสรีสามารถดำรงอยู่ร่วมกันได้ จึงเป็นก้าวแรกสู่การเป็นมนุษย์เหนือมนุษย์อย่างที่เราปรารถนา
เราไม่จำเป็นต้องลบล้างสัญชาตญาณหรือควบคุมมันอย่างแข็งกระด้างเสมอไป หากแต่ควรศึกษาว่ามันกำลังบอกอะไรเรา ความโกรธ ความกลัว ความหิวโหย หรือความหลงใหล ล้วนเป็นสัญญาณที่สื่อถึงความต้องการเบื้องลึก แต่เจตจำนงเสรีคือสิ่งที่ทำให้เราสามารถแปรสัญญาณเหล่านั้นให้เป็นพลังสร้างสรรค์ได้ โดยไม่ไหลหลงไปตามแรงกระตุ้น จนสูญเสียตัวตนและทิศทาง
ดังนั้นในทัศนะของผม Übermensch (มนุษย์ที่เหนือมนุษย์) จึงไม่ใช่การก้าวพ้นความเป็นมนุษย์ หากแต่คือการเข้าใจทุกแง่มุมในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นสัญชาตญาณ หรือความสามารถในการเลือกอย่างมีเหตุผล แล้วผสานทั้งสองอย่างให้กลายเป็นพลังที่สร้างสรรค์และมีคุณค่า
การเจริญเติบโตทางจิตใจเช่นนี้จะนำเราไปสู่ชีวิตที่มีความหมายยิ่งขึ้น และกลายเป็นตัวขับเคลื่อนให้เรามีอิสรภาพในการกำหนดอนาคตของตนเองได้
อ้างอิง
ภัทรณกัญ อนันเต่า (THE STANDARD). (2568). G-DRAGON เตรียมเปิดตัว Übermensch อัลบั้มเต็มชุดใหม่ในรอบ 11 ปี วันที่ 25 ก.พ. นี้. https://thestandard.co/g-dragon-ubermensch-25-feb-2025/
Ezung, A. (2025). Nietzsche’s Vision of Humanity: From Free Spirit to Übermensch. (2025). Journal of Nietzsche Studies, 38(1), 1‑24. https://doi.org/10.1007/s40961‑025‑00351‑w
Migliaccio, J. (2016). Nietzsche, philosophy, and the overman. Existentialia, 12(2), 45‑59.
โฆษณา