Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Timeless History (ประวัติศาสตร์ไร้กาลเวลา)
•
ติดตาม
20 เม.ย. เวลา 05:15 • ประวัติศาสตร์
ประวัติศาสตร์อิสราเอล จากจุดเริ่มต้นในสมัยโบราณ จนถึงยุคสมัยใหม่
ประวัติศาสตร์ของประเทศ “อิสราเอล” นั้นมีความยาวนาน สามารถย้อนไปได้นับพันปี
ตั้งแต่สมัยชนเผ่าฮีบรูโบราณ ไปจนถึงการก่อตั้งรัฐสมัยใหม่อิสราเอล ต้องผ่านช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งช่วงเวลารุ่งเรืองและวิกฤต
บทความนี้ผมจะพาไปรู้จักกับประวัติศาสตร์อิสราเอลครับ
จากบทบรรยายในคัมภีร์ฮีบรู พบว่าบทบรรยายต่างๆ นั้น ล้วนแต่เป็นรากฐานของธรรมเนียมต่างๆ ของชาวยิว ชาวคริสต์ และชาวอิสลาม
ตามบทบรรยายในพระคัมภีร์ จุดกำเนิดอิสราเอลสามารถย้อนไปได้ถึง “อับราฮัม (Abraham)” ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในกลุ่มศาสนาอับราฮัม และเมื่อราว 2000 ปีก่อนคริสตกาล อับราฮัมก็ได้รับคำสัญญาศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้า สัญญาว่าลูกหลานของอับราฮัมจะได้ดินแดนคานาอัน (Canaan)
การอพยพย้ายถิ่นฐานของอับราฮัมจากเมโสโปเตเมีย (ดินแดนอิรักในปัจจุบัน) ไปยังคานาอัน (อิสราเอลและปาเลสไตน์ในปัจจุบัน) เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างอิสราเอลกับพื้นที่แถบนี้
1
บุตรชายของอับราฮัม ได้แก่ “ไอแซค (Isaac)” และหลานชาย “จาค็อบ (Jacob)” คือบุคคลสำคัญในบทบรรยายนี้ โดยบุตรชายทั้ง 12 คนของจาค็อบ คือบรรพบุรุษของ “ชนเผ่าทั้ง 12 แห่งอิสราเอล (Twelve Tribes of Israel)“ ซึ่งเป็นรากฐานของตระกูลแต่ละตระกูลของชาวอิสราเอล
1
จาค็อบ (Jacob)
บุตรหลานของจาค็อบได้ตั้งรกรากในอียิปต์ ก่อนจะถูกจับเป็นทาสในเวลาต่อมา
1
เมื่อราว 1200 ปีก่อนคริสตกาล ชาวอิสราเอลในอียิปต์ถูกจับเป็นทาส จนกระทั่ง “โมเสส (Moses)” ผู้นำกลุ่มอิสราเอล ได้นำชาวอิสราเอลให้พ้นจากการกดขี่
ชาวอิสราเอลต้องเดินทางข้ามทะเลทราย ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างทางก็ล้วนแต่เป็นเหตุการณ์สำคัญสำหรับประวัติศาสตร์อิสราเอล
โมเสส (Moses)
การอพยพออกจากการกดขี่ของอียิปต์ และการรับมอบ “โทราห์ (Torah)” ซึ่งเป็นคัมภีร์ชุดแรกในคัมภีร์ฮีบรู นับเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงตัวตนของชาวยิวและแนวคิดที่ว่าชาวอิสราเอลคือเหล่าคนที่ถูกเลือกพร้อมด้วยภารกิจศักดิ์สิทธิ์
การเข้ารุกรานคานาอันของชาวอิสราเอล นำโดย “โจชัว (Joshua)” ผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากโมเสส นับเป็นจุดเริ่มต้นของการลงหลักปักฐานของชาวอิสราเอลใน “ดินแดนแห่งพันธสัญญา (Promised Land)”
หลังจากลงหลักปักฐานในคานาอัน กลุ่มผู้พิพากษา ผู้นำชนเผ่าต่างๆ และทหารระดับสูงซึ่งรวบรวมชนเผ่าทั้ง 12 ให้เป็นปึกแผ่น ก็ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำชาวอิสราเอล
โจชัว (Joshua)
แต่ในช่วงเวลานี้ ชาวอิสราเอลก็ปราศจากการบริหารอย่างเป็นระบบ ไม่มีศูนย์กลางอำนาจ ทำให้ไม่มั่นคงและเกิดความขัดแย้งกับดินแดนใกล้เคียงต่างๆ ตามมา
ชาวอิสราเอลจึงเรียกร้องให้มีกษัตริย์ มีผู้นำที่จะรวบรวมชนเผ่าต่างๆ ให้เป็นหนึ่งและป้องกันตนจากการรุกรานของศัตรู
ดังนั้น เมื่อราว 1030 ปีก่อนคริสตกาล “ซามูเอล (Samuel)” ซึ่งเป็นผู้วิเศษคนหนึ่ง จึงแต่งตั้ง “ซาอูล (Saul)” ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์แรกแห่งอิสราเอล
ซาอูล (Saul)
เมื่อมาถึงรัชสมัยของ “พระเจ้าเดวิด (David)” พระองค์ก็ทรงรวบรวมดินแดนเป็นปึกแผ่น และก่อตั้งกรุงเยรูซาเลม (Jerusalem) ให้เยรูซาเลมเป็นศูนย์กลางทางการเมืองและศาสนา
พระเจ้าเดวิดครองราชย์ในราวระหว่าง 1000-962 ปีก่อนคริสตกาล และได้รับยกย่องให้เป็นหนึ่งในผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของอิสราเอล
พระเจ้าเดวิดทรงขยายดินแดนของพระองค์ แผ่อิทธิพลเข้าไปยังดินแดนต่างๆ ในคานาอันและดินแดนข้างเคียง
พระเจ้าเดวิด (David)
“พระเจ้าโซโลมอน (Solomon)” พระราชโอรสในพระเจ้าเดวิด ทรงครองราชย์ต่อจากพระเจ้าเดวิด และมีชื่อเสียงจากการที่เป็นผู้ทรงสร้าง “พระวิหารโซโลมอน (Solomon’s Temple)” สัญลักษณ์แห่งความเป็นปึกแผ่นทางศาสนาของอิสราเอล
รัชสมัยของพระเจ้าโซโลมอนคือช่วงระหว่าง 970-931 ปีก่อนคริสตกาล และเป็นช่วงเวลาแห่งความรุ่งเรือง หากแต่เมื่อพระเจ้าโซโลมอนสวรรคต อาณาจักรของพระองค์ก็ได้แตกแยกเป็นสอง นั่นคือ “ราชอาณาจักรอิสราเอล (Kingdom of Israel)” ซึ่งอยู่ทางเหนือ กับ “ราชอาณาจักรยูดาห์ (Kingdom of Judah)” ทางใต้
1
ราชอาณาจักรอิสราเอล มีเมืองหลวงคือ “ซามาเรีย (Samaria)” ประกอบด้วยชนเผ่าทางเหนือจำนวน 10 ชนเผ่า ส่วนราชอาณาจักรยูดาห์ มีเมืองหลวงคือเยรูซาเลม ประกอบด้วยชนเผ่าทางใต้สองชนเผ่า
1
พระเจ้าโซโลมอน (Solomon)
ราชอาณาจักรทั้งสองมักจะมีเรื่องกระทบกระทั่งกันเสมอๆ รวมทั้งยังต้องรับมือกับดินแดนอื่นที่คิดจะเข้ามารุกราน เช่น อัสซีเรีย อียิปต์ และบาบิโลน
722 ปีก่อนคริสตกาล ราชอาณาจักรอิสราเอลก็ตกอยู่ใต้อำนาจของอัสซีเรีย โดยกองทัพอัสซีเรียได้เข้ายึดเมืองซามาเรีย และทำการเนรเทศชนเผ่าทั้ง 10 ออกไป
ชัยชนะของอัสซีเรีย นับเป็นจุดจบของราชอาณาจักรอิสราเอลทางเหนือ และเป็นจุดเริ่มต้นในการขยายอำนาจของดินแดนอื่นๆ ที่เข้ามารุกรานอิสราเอล
ส่วนทางด้านราชอาณาจักรยูดาห์ทางใต้ ยังคงอยู่รอดมาได้อีกกว่า 100 ปี ก่อนจะตกอยู่ใต้อำนาจของบาบิโลนเมื่อ 586 ปีก่อนคริสตกาล
กรุงเยรูซาเลมถูกทำลาย รวมถึงพระวิหารโซโลมอน ส่วนกลุ่มชนชั้นสูงในยูดาห์ก็ถูกเนรเทศไปอยู่บาบิโลน
เหตุการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการสูญเสียอิสรภาพของชาวยิว และเป็นจุดเริ่มต้นของการพลัดถิ่นซึ่งจะดำเนินไปเป็นเวลานับร้อยปี
เมื่อถึง 539 ปีก่อนคริสตกาล จักรวรรดิเปอร์เซีย (Persian Empire) นำโดย “พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great)” พระประมุขแห่งเปอร์เซีย ได้เข้ายึดครองบาบิโลน และอนุญาตให้ขาวยิวที่ถูกเนรเทศได้เดินทางกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ
1
พระเจ้าไซรัสมหาราช (Cyrus the Great)
ในช่วงที่เปอร์เซียเข้ามาเรืองอำนาจ มีการก่อสร้างวิหารใหม่ รวมทั้งฟื้นฟูการประกอบศาสนพิธีของชาวยิว และให้วิหารเป็นศูนย์กลางการบวงสรวงของการประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของชาวยิว
ในราวยุค 300 ปีก่อนคริสตกาล “พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)” กษัตริย์แห่งมาซิโดเนีย ได้พิชิตจักรวรรดิเปอร์เซีย ทำให้จูเดียตกมาอยู่ใต้อำนาจของกรีก
ในยุคนี้ มีการแนะนำวัฒนธรรมและแนวคิดต่างๆ ของกรีกแก่พื้นที่ในแถบนี้ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งระหว่างชาวยิวซึ่งเปิดรับธรรมเนียมกรีก กับกลุ่มที่ยังคงยึดติดกับธรรมเนียมเดิม
1
พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช (Alexander the Great)
ความขัดแย้งนี้นำไปสู่เหตุการณ์ “กบฏมัคคาบีน (Maccabean Revolt)” เมื่อ 167 ปีก่อนคริสตกาล โดยเหล่าชาวยิวได้ลุกฮือขึ้นต่อต้านจักรวรรดิซิลูซิด ซึ่งเป็นรัฐของกรีก และประสงค์จะให้ชาวยิวหันมาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตามแบบกรีก
ผลของการปฏิวัติ ได้ก่อให้เกิด “ราชอาณาจักรฮาสโมเนียน (Hasmonean Kingdom)” ซึ่งเป็นรัฐอิสระของชาวยิว และดำรงอยู่จนถึง 63 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อจักรวรรดิโรมันได้เข้าปกครองจูเดีย
เมื่อมาถึง 63 ปีก่อนคริสตกาล “ปอมเปย์ (Pompey)” แม่ทัพใหญ่ชาวโรมัน ได้เข้ารุกรานเยรูซาเลม และให้จูเดียเป็นรัฐบริวารของจักรวรรดิโรมัน
ปอมเปย์ (Pompey)
ในศตวรรษต่อมา อำนาจของโรมันในแถบนี้ก็ได้ขยายใหญ่ขึ้น และขึ้นถึงจุดสูงสุดในรัชสมัยของ “พระเจ้าเฮโรดมหาราช (Herod the Great)” ซึ่งครองราชย์ตั้งแต่ 37-4 ปีก่อนคริสตกาล
พระเจ้าเฮโรดมหาราชทรงมีชื่อเสียงจากโครงการก่อสร้างต่างๆ มากมาย หากแต่รัชสมัยของพระองค์ก็เต็มไปด้วยความรุนแรงทางการเมืองและการปราบปรามผู้ต่อต้านอย่างโหดเหี้ยม
ยุคสมัยของโรมันในจูเดียนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงจากการที่ชาวยิวลุกฮือขึ้นต่อต้าน โดยเฉพาะเรื่องของภาษีที่โรมันเรียกเก็บ การออกกฎห้ามทำพิธีทางศาสนาต่างๆ รวมทั้งการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากเหล่าบุคคลนอกศาสนา
ความไม่พอใจเหล่านี้นำมาสู่การปฏิวัติต่อต้านโรมันเมื่อค.ศ.66 (พ.ศ.609)
พระเจ้าเฮโรดมหาราช (Herod the Great)
“สงครามยิว-โรมันครั้งแรก (First Jewish–Roman War)“ ซึ่งเริ่มขึ้นในปีค.ศ.66 (พ.ศ.609) คือการต่อต้านอำนาจของโรมัน ซึ่งโรมันก็ไม่อยู่เฉย พร้อมเข้าปราบปราม
ค.ศ.70 (พ.ศ.613) กองทัพโรมันได้เข้าปิดล้อมเยรูซาเลม และทำลาย “พระวิหารที่สอง (Second Temple)” ซึ่งเป็นพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์
การล่มสลายของพระวิหารที่สอง นับเป็นเหตุการณ์ที่น่าสะเทือนใจสำหรับชาวยิว และเป็นจุดจบของรัฐชาวยิวในจูเดีย
จากนั้น ชาวยิวก็กระจัดกระจายกันไปทั่วจักรวรรดิโรมัน
หลังจากเหตุการณ์ “การก่อจลาจลที่บาร์โคคบา (Bar Kokhba Revolt)” ซึ่งเป็นการลุกฮือครั้งใหญ่ของชาวยิวในจูเดียเพื่อต่อต้านจักรวรรดิโรมัน เกิดขึ้นเมื่อค.ศ.132-136 (พ.ศ.675-679) ชาวยิวก็แตกกระจายไปคนละทิศละทาง
ชุมชนชาวยิวได้กระจายไปถึงเมดิเตอเรเนียน แอฟริกาเหนือ และยุโรปกับตะวันออกกลาง
แต่ถึงจะแตกสลายกระจัดกระจาย แต่ชาวยิวก็ยังคงรักษาศาสนา ธรรมเนียม และอัตลักษณ์ของตนได้เป็นอย่างดี
เมื่อมาถึงยุคกลาง ชาวยิวต้องพบเจอการกดขี่ทารุณอย่างหนัก ต้องถูกขับไล่จากดินแดนในยุโรปหลายๆ แห่ง และต้องเจอกับการบังคับให้ทอดทิ้งศาสนาของตน และมีการทารุณกดขี่อีกมาก
หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญนี้คือ “Spanish Inquisition” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวยิวถูกบังคับให้หันมานับถือศาสนาคริสต์ หรือไม่ก็ต้องถูกขับไล่ออกจากสเปนในปีค.ศ.1492 (พ.ศ.2035)
ส่วนทางด้านยุโรปตะวันออก โดยเฉพาะในโปแลนด์และรัสเซีย ชุมชนชาวยิวนั้นเติบโตและรุ่งเรือง หากแต่ก็ต้องพบเจอกับความรุนแรง โดยเฉพาะในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20
แต่ถึงอย่างนั้น บัณฑิตชาวยิว วัฒนธรรมยิว และความเชื่อทางศาสนา ก็ยังคงเติบโต เกิดขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ตามมา
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 “ขบวนการไซออนิสต์ (Zionism)” ก็ได้กำเนิดขึ้น โดยมีผู้นำคือนักข่าวชาวออสเตรียที่มีชื่อว่า “ทีโอดอร์ แฮร์ทเซิล (Theodor Herzl)”
แฮร์ทเซิลและผู้นำไซออนิสต์คนอื่นๆ ได้สนับสนุนและผลักดันให้ก่อตั้งมาตุภูมิชาวยิวในปาเลสไตน์ ซึ่งในเวลานั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิอ็อตโตมัน
ทีโอดอร์ แฮร์ทเซิล (Theodor Herzl)
ขบวนการไซออนิสต์ได้รับเสียงสนับสนุนในหมู่ชาวยิวในยุโรปตะวันออกและพื้นที่อื่นๆ ทำให้เกิดกระแสการอพยพย้ายถิ่นฐานของชาวยิวไปยังปาเลสไตน์
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 (WWI) สหราชอาณาจักรต้องการแรงสนับสนุนจากชาวยิวเพื่อประโยชน์ในการสงคราม จึงทำการออก “ปฏิญญาบัลโฟร์ (Balfour Declaration)“ ในปีค.ศ.1917 (พ.ศ.2460)
ปฏิญญาบัลโฟร์ระบุว่าสหราชอาณาจักรสนับสนุนการก่อตั้ง “ดินแดนของชาวยิว“ ในปาเลสไตน์ โดยหลังจากสงครามจบลง ปาเลสไตน์ก็ตกมาอยู่ใต้อำนาจของสหราชอาณาจักรตามคำสั่งของสันนิบาตชาติ
ในยุค 20 (พ.ศ.2463-2472) และยุค 30 (พ.ศ.2473-2482) ชาวยิวจำนวนมากยังคงอพยพเข้าไปยังปาเลสไตน์ หากแต่ความขัดแย้งกับชาวอาหรับก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากทั้งชาวยิวและอาหรับ ต่างก็เคลมดินแดนเป็นของตน และความขัดแย้งก็มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (WWII) ชาวยิวถูกกดขี่และโดนทารุณสารพัดโดยฝ่ายเยอรมัน มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนหลักล้าน ทำให้ชาวยิวต้องหาสถานที่ปลอดภัย
ส่วนทางด้านเวทีโลก ต่างก็ตกใจและรับไม่ได้กับความโหดร้ายของฝ่ายเยอรมันที่กระทำต่อชาวยิว และสนับสนุนการก่อตั้งรัฐยิว
ค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) องค์การสหประชาชาติได้นำเสนอแผนการที่จะแบ่งแยกปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วน คือดินแดนของชาวยิวส่วนหนึ่ง และอีกส่วนคือดินแดนของชาวอาหรับ
ฝ่ายยิวนั้นยอมรับข้อเสนอ หากแต่ฝ่ายอาหรับนั้นปฏิเสธ นำไปสู่ “สงครามอาหรับ–อิสราเอล (Arab-Israeli War)“ ในปีค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) หลังจากอิสราเอลประกาศอิสรภาพ
14 พฤษภาคม ค.ศ.1948 (พ.ศ.2491) “เดวิด เบนกูเรียน (David Ben-Gurion)” ผู้นำชาวยิวในปาเลสไตน์ ได้ประกาศการก่อตั้งรัฐอิสราเอล โดยหลังจากการประกาศอิสรภาพ รัฐอาหรับซึ่งอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ได้ทำการบุกโจมตีทันที ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามอาหรับ–อิสราเอล
ผลท่ได้นั้น คือไม่เพียงแค่อิสราเอลชนะสงครามเท่านั้น แต่ยังขยายดินแดนออกไปไกลเกินกว่าที่สหประชาชาติกำหนดไว้อีกด้วย
หลังจากสงคราม กลับกลายเป็นว่าชาวอาหรับ-ปาเลสไตน์นับแสนต้องเป็นฝ่ายอพยพ เกิดเป็นวิกฤตการณ์ผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์
เดวิด เบนกูเรียน (David Ben-Gurion)
นับตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ อิสราเอลก็ได้มีความขัดแย้งกับอาหรับมาเรื่อยๆ โดยในปีค.ศ.1979 (พ.ศ.2522) อิสราเอลได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพกับอียิปต์ ทำให้อียิปต์เป็นชาติอาหรับชาติแรกที่ให้การรับรองอิสราเอล
1
ต่อมาในปีค.ศ.1993 (พ.ศ.2536) “ข้อตกลงออสโล (Oslo Accords)” ก็ได้ถูกลงนามโดยอิสราเอลและองค์การปลดปล่อยปาเลสไตน์ และเป็นรากฐานของสันติภาพและการก่อตั้งรัฐปาเลสไตน์
แต่ถึงอย่างนั้น สันติภาพก็ยังดูจะเป็นสิ่งที่ห่างไกล
ในปัจจุบัน อิสราเอลได้ผันตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีการพัฒนาทางเทคโนโลยี มีกองทัพที่เข้มแข็ง เศรษฐกิจรุ่งเรือง
หากแต่ความขัดแย้งยังคงมีอยู่เรื่อยๆ
เรียกได้ว่าอิสราเอลยังคงต้องพบเจอกับความท้าทายหลายๆ ด้าน ทั้งโอกาสและความท้าทายต่างๆ ในอนาคต
และประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาของอิสราเอล ก็อาจจะเรียกได้ว่าเป็นเหมือนสิ่งที่สะท้อนถึงความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และจิตวิญญาณของผู้คน
1
References:
https://medium.com/@dinukamax1/the-history-of-israel-from-ancient-beginnings-to-the-modern-state-5115354f370a
https://www.gov.il/en/departments/ministry_of_foreign_affairs/govil-landing-page
https://www.britannica.com/topic/Israel-Old-Testament-kingdom
https://www.livescience.com/55774-ancient-israel.html#
ประวัติศาสตร์
16 บันทึก
31
9
16
31
9
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย