20 เม.ย. เวลา 14:29 • การเมือง

สัญญาเกินตัวแล้วทำไม่ได้ นี่ไง “แพะรับบาป”

ผ่านไปแล้วสามเดือนนับตั้งแต่ทรัมป์กลับเข้าทำเนียบขาว และยังไม่ปรากฏผลเป็นรูปธรรมใดๆ เพื่อสันติภาพในยูเครน การเจรจาระหว่างสหรัฐกับรัสเซียเน้นไปที่การประสานความสัมพันธ์ทวิภาคีเป็นหลัก ในขณะที่ความพยายามในการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงแม้เพียงเล็กน้อย ไม่ว่าจะในทะเลดำหรือในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ก็ยังล้มเหลวอยู่
จริงอยู่ที่ทรัมป์ไม่ได้บอกเป็นมั่นเหมาะว่าจะยื่นยูเครนถวายให้ปูติน ตามที่หลายคนกังวลหลังจากที่ความขัดแย้งระหว่างเซเลนสกีและทรัมป์ถูกถ่ายทอดไปทั่วโลกจากห้องรูปไข่ในทำเนียบขาวเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวยังคงพูดถึง “ความคืบหน้า” ในการเจรจากับรัสเซียต่อไป แม้ว่าจำนวนพลเรือนเสียชีวิตในเมืองใหญ่ๆ ของยูเครนยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ตาม
ส่วนรัสเซียกำลังส่งสัญญาณอย่างระมัดระวังว่าไม่ควรคาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าที่แท้จริงในยูเครน
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครเสนอแม้แต่ร่างเบื้องต้นของแผนสันติภาพที่อาจทำให้เครมลินพอใจได้โดยไม่ต้องถึงกับให้ยูเครนพ่ายอย่างสิ้นเชิง จากสถานการณ์ปัจจุบันผลลัพธ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือสงครามที่ดำเนินต่อไป แต่แม้ว่าการเจรจาจะล้มเหลว ก็ไม่ได้หมายความว่าการเริ่มต้นใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียจะต้องสะดุดลง
1
มีอย่างน้อย 3 เหตุผลที่ทำให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและรัสเซียมีแนวโน้มที่จะคลี่คลายลง แม้ว่าเคียฟ คาร์คิฟ ซูมี โอเดสซา และเมืองอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วนของยูเครนจะยังคงตกอยู่ภายใต้การโจมตีของรัสเซีย นั่นคือ
  • ประการที่ 1: สำหรับทรัมป์ การเมืองในยุโรปและอนาคตของยูเครนไม่ใช่เรื่องสำคัญ เขาส่งสัญญาณอย่างต่อเนื่องไปยังทั้งสหภาพยุโรปและยูเครนว่า แม้ว่าสหรัฐฯ ต้องการยุติสงคราม แต่ก็ไม่มีความตั้งใจที่จะมีบทบาทเชิงรุกในการบรรลุข้อตกลงสันติภาพ ในทางกลับกันสหรัฐฯ ภายใต้ทรัมป์กลับโยนความรับผิดชอบสำหรับข้อตกลงในอนาคตและการบังคับใช้ข้อตกลงดังกล่าวให้กับยุโรป
2
สำหรับทรัมป์แล้ว การที่การเจรจาล้มเหลวจะไม่ถือว่าเป็นความพ่ายแพ้ส่วนตัวของเขา เขายังสามารถตำหนิไบเดน เซเลนสกี หรือ ปูติน ได้เสมอว่าไม่เต็มใจหรือไม่สามารถทำให้การเจรจาสันติภาพเดินหน้าต่อได้ เช่นเดียวกับที่เขากำลังทำอยู่ตอนนี้ ซึ่งจะทำให้เขาลดความเกี่ยวข้องในประเด็นยูเครนลงและหันไปให้ความสำคัญกับประเด็นอื่นๆ ในด้านการเมืองภายในอเมริกาแทน
2
เมื่อพิจารณาจากแผนการ “ผนวกกรีนแลนด์” “เนรเทศผู้อพยพหนึ่งล้านคน” “ทำสงครามการค้ากับทั่วโลก” และในที่สุดคือการเผชิญหน้ากับจีน ประเด็นยูเครนจึงอาจกลายเป็นประเด็นรองในวาระของเขาไปได้อย่างง่ายดาย
เครดิตภาพ: Evelyn Hockstein/Reuters
  • ประการที่ 2: ทรัมป์ไม่ได้มองว่ารัสเซียเป็นภัยคุกคามร้ายแรง ท่ามกลางสงครามการค้าที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนกับจีน เขาพยายามที่จะไม่ผลักดันให้รัสเซียเข้าใกล้จีนมากขึ้น เพื่อให้รัสเซียอยู่ห่างจากจีน ทรัมป์จำเป็นต้องรักษาการเจรจากับเครมลิน ซึ่งอย่างน้อยที่สุดก็หมายถึงการไม่เพิ่มแรงกดดันในการคว่ำบาตรปูติน (การทำ Reverse Kissinger)
  • ประการที่ 3: รัสเซียกำลังทำให้สหรัฐชัดเจนว่าแผนงานทวิภาคีของทั้งสองประเทศสามารถไปได้ไกลกว่าสงครามในยูเครน แม้ว่าศักยภาพในการร่วมมือทางเศรษฐกิจอาจมีจำกัด แต่รัสเซียอาจพิสูจน์ได้ว่ามันมีประโยชน์เมื่อต้องควบคุมวิกฤตในตะวันออกกลาง (ซีเรีย อิสราเอล และอิหร่าน)
สำหรับทรัมป์ นั่นทำให้การไม่เพิ่มความตึงเครียดกับปูตินมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น และแม้แต่การทำให้ความสัมพันธ์กลับมาเป็นปกติในระดับเล็กน้อยก็อาจถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญสำหรับทั้งทำเนียบขาวและเครมลิน (ไม่ขอเอาเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเรื่องทรัมป์เป็นสายลับรัสเซียเข้ามาเกี่ยว)
1
เครดิตภาพ: Reuters
นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมทั้งสองฝ่ายจึงน่าจะคิดทบทวนให้ดีก่อนจะยกระดับสถานการณ์ให้เข้มข้นขึ้น มีสถานการณ์ที่เป็นไปได้หลายประการที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และรัสเซียจะยังพัฒนาไปต่อได้ โดยคำนึงถึงผลที่อาจตามมาจากความล้มเหลวของการเจรจาสันติภาพยูเครน
  • ความร่วมมือที่ไม่มีการผูกมัด
เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มปัจจุบัน สถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดคือการผลักดันให้เกิดการ “รีเซ็ต” โดยไม่มีคำมั่นสัญญาที่จริงจังจากทั้งสองฝ่าย เพื่อให้รัสเซียยังคงมีส่วนร่วมและสนับสนุนความร่วมมือนอกเหนือจากปัญหาในยูเครน ส่วนสหรัฐฯ ควรส่งสัญญาณลดความช่วยเหลือทางทหารและการเงินแก่เคียฟ รวมทั้งดำเนินการลดบทบาททางทหารในยุโรป
ปูตินอาจตีความการเคลื่อนไหวดังกล่าวว่าเป็นการที่สหรัฐฯ สัญญาว่าจะถอนตัวออกจากความขัดแย้ง ซึ่งมีผลทำให้สหรัฐฯ เปลี่ยนจากบทบาทของศัตรูมาเป็นพันธมิตรที่ยากจะรับมือได้แต่ก็อาจมีประโยชน์ได้ อย่างน้อยก็ในประเด็นรอง
การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรทั้งหมดอาจไม่จำเป็น เพราะรัสเซียเข้าใจว่าการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นเรื่องยากทางการเมืองสำหรับทรัมป์ แต่การถอนการสนับสนุนจากยูเครนอาจเป็นเหตุผลเพียงพอที่ทำให้เครมลินยังคงเรียกทรัมป์ว่าเป็น “คนฉลาดหลักแหลม” ต่อไป
เครดิตภาพ: DW
ในสถานการณ์เช่นนี้ ภาระในการช่วยเหลือยูเครนจะตกอยู่ที่สหภาพยุโรปโดยตรง เพื่อคาดการณ์เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น บรัสเซลส์จึงได้ดำเนินการเสริมสร้างศักยภาพด้านการป้องกันประเทศของตนเองและเพิ่มความช่วยเหลือให้กับเคียฟ พูดตรงๆ ก็คือ สหภาพยุโรปมีแหล่งเงินทุนเพียงพอที่จะให้การสนับสนุนยูเครนในรูปแบบ “การป้องกันเชิงรุก” ต่อไปได้ (ตามที่พวกเขารายงาน ไม่ใช่จากหน้าข่าวที่บางแหล่งบอกว่าหาเงินไม่ได้)
อย่างไรก็ตามหากไม่สามารถเข้าถึงอุตสาหกรรมด้านกลาโหมของสหรัฐฯ ความช่วยเหลือทางการทหารที่เคียฟจะคงอยู่ต่อไปก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ ในสถานการณ์ที่เอื้ออำนวยที่สุดสำหรับรัสเซีย ทรัมป์อาจทำตามตัวอย่างของอิสราเอลด้วยการห้ามการถ่ายโอนอาวุธสำหรับป้องกันประเทศที่สหรัฐฯ ผลิตให้กับยูเครน แม้ว่าสหภาพยุโรปจะยินดีจ่ายเงินก็ตาม
การที่ทรัมป์จะอนุญาตให้สหภาพยุโรปซื้ออาวุธจากสหรัฐฯ ให้กับยูเครนหรือไม่นั้น ไม่เพียงแต่จะขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของเขากับเซเลนสกีเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปโดยรวมด้วย สงครามการค้าที่ดำเนินอยู่ในขณะนี้และความทะเยอทะยานที่เกี่ยวข้องกับกรีนแลนด์บนโต๊ะเจรจา ทำให้ยากต่อการคาดเดาว่าพลวัตระหว่างสองฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกในอีกหกเดือนข้างหน้าจะเป็นอย่างไร
3
  • มาตรการคว่ำบาตร ไปต่อหรือพอแค่นี้
สถานการณ์แบบที่มองโลกในแง่ดีที่สุดๆ สำหรับยูเครนคือ ทรัมป์พยายามจะคลี่คลายความตึงเครียดกับพันธมิตรตะวันตกและสถาบันการเมืองของเขาเอง โดยจะโยนความผิดให้กับปูตินโดยตรงสำหรับการเจรจาที่ล้มเหลว จากนั้นก็เข้าร่วมกับยุโรปในการลงโทษรัสเซียที่ปฏิเสธที่จะยุติสงครามที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในรอบ 80 ปี เรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่ ดูจากสถานการณ์ตอนนี้เป็นไปได้ยาก
1
ถึงกระนั้นก็ไม่ควรคาดหวังว่าโลกทัศน์ของทรัมป์จะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ความขัดแย้งทางการค้าและการเผชิญหน้ากับจีนจะยังคงเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดของเขาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ในกรณีที่ดีที่สุดเคียฟสามารถหวังได้ว่าจะได้รับการสนับสนุนทางทหารอย่างต่อเนื่องในระดับปัจจุบัน โดยมีเงื่อนไขว่าสหภาพยุโรปต้องแบกรับภาระทางการเงินส่วนใหญ่
ภายใต้สถานการณ์นี้ ทรัมป์อาจตกลงที่จะกำหนดมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซียและระงับการเจรจาทวิภาคีส่วนใหญ่ออกไป อย่างไรก็ตามแม้จะมีความตึงเครียดที่กลับฟื้นขึ้นมา ความพยายามที่จะรักษาการติดต่อกับมอสโกให้น้อยที่สุดก็มีแนวโน้มว่าจะยังคงดำเนินต่อไป
มาตรการคว่ำบาตรใหม่หรือข้อจำกัดอื่นๆ ที่นำมาใช้โดยทรัมป์จะไม่ส่งผลต่อการตัดสินใจในเครมลิน แต่จะทำให้ความพยายามของรัสเซียในการสร้างศักยภาพทางทหารขึ้นมาใหม่และเปิดฉากสงครามระยะยาวมีความซับซ้อนมากขึ้น
ที่น่าขันก็คือ ถึงแม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับรัสเซียจะแลดูอบอุ่นเพียงใด ภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดต่อรัสเซียก็คือสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันลดลง ในทางปฏิบัติทรัมป์สามารถเป็น “เพื่อน” ของปูตินต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของรัสเซียมากกว่าระบอบคว่ำบาตรใดๆ ที่เคยทำมา
เครดิตภาพ: Daybreak/Getty Images
  • มิตรภาพที่เกิดจากความเคียดแค้น
สถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นก็คือ สหรัฐฯ จะถอนการสนับสนุนยูเครนทั้งหมด ความสัมพันธ์ระหว่างวอชิงตันและบรัสเซลส์เสื่อมถอยลง และทรัมป์ก็เต็มใจที่จะขยายความร่วมมือกับรัสเซียอย่างมาก
แต่สิ่งที่ควรรู้ทันทีก็คือ ศักยภาพในการร่วมมือดังกล่าวยังคงมีจำกัด และไม่ควรคาดหวังว่าจะมีความก้าวหน้าครั้งสำคัญใดๆ เกิดขึ้น รัสเซียจะไม่ละทิ้งความร่วมมือกับจีน แต่สามารถมีบทบาทเชิงรุกในข้อตกลงใหม่เกี่ยวกับอิหร่าน แสดงความคล่องตัวเกี่ยวกับซีเรีย และให้การสนับสนุนอิสราเอลอย่างจำกัด
หากต้องการให้รัสเซียแสดงแอคทีฟมากขึ้น ทรัมป์จะต้องยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรอย่างน้อยบางส่วน ซึ่งอาจรวมถึงภาคการบินและข้อจำกัดต่อการส่งออกของรัสเซีย ในทางกลับกันรัสเซียอาจเสนอ “โครงการร่วมที่สำคัญในภูมิภาคอาร์กติก” และในวงกว้างกว่านั้น
1
อาจเสนอข้อตกลงไม่บุกและความเข้าใจร่วมกันฉบับใหม่ที่กำหนดขอบเขตอิทธิพลอย่างชัดเจน ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว รัสเซียอาจมุ่งมั่นที่จะเป็นกลางในระดับจำกัดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อแลกกับการไม่แทรกแซงกิจการของยุโรปของสหรัฐฯ
เครดิตภาพ: Evan Vucci / AP
  • ฉากทัศน์ใดที่เป็นไปได้มากที่สุด?
ฉากทัศน์แรก “ความตึงเครียดที่ลดลงพร้อมความร่วมมือที่จำกัด” ยังคงดูเหมือนเป็นจริงมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญคืออย่ามองข้ามข้อเท็จจริงที่ว่าแนวทางของทรัมป์ในช่วงสามเดือนที่ผ่านมานั้นวุ่นวายอย่างมาก คาดเดาไม่ได้ และมักจะขัดแย้งกับผลประโยชน์ของกลุ่มอิทธิพลดั้งเดิมของสหรัฐฯ (ดีฟสเตท)
การเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจที่ดุดันของทรัมป์กำลังผลักดันให้เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสหรัฐฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เช่นกัน การเลือกตั้งกลางเทอมมีกำหนดจัดขึ้นในพฤศจิกายน 2026 และพรรคเดโมแครตมีแนวโน้มที่จะกลับมาครองเสียงข้างมากในรัฐสภาอีกครั้ง ซึ่งจะยิ่งทำให้การดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ซับซ้อนยิ่งขึ้นและหันเหความสนใจของเขาออกจากนโยบายต่างประเทศ
แม้แต่สำหรับประธานาธิบดีที่เพิ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาใหม่ การพยายามหาเรื่องกับคนทั่วโลก ยกเว้นรัสเซีย ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย และแม้ว่าทรัมป์จะบ้าพลังขนาดไหน แต่ทรัมป์ก็ไม่น่าจะปฏิวัตินโยบายต่างประเทศได้ในชั่วข้ามคืน ดังที่เราได้เห็นมาก่อนเขามักจะไม่มุ่งเน้นไปที่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งเป็นเวลานาน ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ความคิดที่ว่าเขาสามารถสร้างความร่วมมือที่ลึกซึ้งและยั่งยืนกับปูตินจึงดูเป็นเรื่องไกลตัว
สิ่งที่ดูจะสมเหตุสมผลมากกว่าคือการถอนตัวบางส่วนจากยุโรปและการลดการสนับสนุนเคียฟ ซึ่งนั่นทำให้เกิดการหันกลับมาพิจารณาถึงบทบาทของยุโรปในอนาคตของยูเครนอีกครั้ง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ กับรัสเซีย สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนคือเคียฟจะไม่ยอมรับการยอมแพ้ และยุโรปก็จะไม่ละทิ้งการสนับสนุนสิทธิของยูเครนในการปกป้องตัวเอง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อต่อต้านปูติน
วิเคราะห์และเรียบเรียงโดย Right Style
20th Apr 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: Getty Images>
โฆษณา