21 เม.ย. เวลา 01:57 • สุขภาพ

หลายคนแก้ปัญหา “งานท่วมหัว” ด้วยการพยายามทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน

การแก้ปัญหาวิธีนี้อาจจะ “ได้ผล” ในกรณีที่งานหนึ่งเป็นงานที่ “ใช้ความคิด” ส่วนอีกงานหนึ่ง “ไม่ใช้ความคิด” (เช่น คุยโทรศัพท์กับลูกค้าขณะที่กำลังเดินถือเอกสารไปวางไว้ที่โต๊ะของหัวหน้า)
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาวิธีนี้ยากที่จะ “ได้ผล” ในกรณีที่แต่ละงานที่เราพยายามทำล้วนเป็นงานที่ “ใช้ความคิด” ทั้งหมด (เช่น เขียนอีเมลพร้อมๆกับฟังการนำเสนองาน)
เพราะสมองเราสามารถ “ประมวลผล” ได้ทีละอย่างเท่านั้น
หากเราพยายามฝืนทำงานที่ “ใช้ความคิด” ภายในเวลาเดียวกัน สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ สมองเราจะ “โฟกัส” งานชิ้นที่หนึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ (เช่น คิดว่าจะเขียนอีเมลประโยคต่อไปอย่างไรดี) จากนั้น สมองเราก็จะเปลี่ยนมา “โฟกัส” กับงานชิ้นที่สองเป็นระยะเวลาสั้นๆ (เช่น ฟังสิ่งที่คนนำเสนองานกำลังพูดอยู่สัก 2-3 ประโยค) และหลังจากนั้น สมองเราก็จะขยับกลับมา “โฟกัส” กับงานชิ้นแรกเป็นระยะเวลาสั้นๆอีก (เช่น คิดว่าจะเขียนอีเมลประโยคต่อไปอย่างไรดี)
สลับไปมาแบบนี้ไปเรื่อยๆ
ผลลัพธ์ของการสลับกันไปมาอย่างรวดเร็วนี้ก็คือ งานแต่ละอย่างที่เราทำจะออกมา “คุณภาพต่ำ” กันถ้วนหน้า (เช่น อีเมลที่เราส่งไปเต็มไปด้วยการสะกดคำที่ผิด แถมยังฟังไม่เข้าใจเนื้อหาการนำเสนอไปครึ่งนึงอีกด้วย)
พอเป็นแบบนี้ เราก็อาจจะต้องเสียเวลากลับไปแก้ไขงานที่เราทำอีกรอบ (เช่น กลับไปเขียนอีเมลใหม่ กลับไปฟังเนื้อหาการนำเสนอใหม่) ทำให้ปัญหา “งานท่วมหัว” ไม่ได้คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้นแต่อย่างใด
ด้วยเหตุนี้ ต่อให้เราจะมีปัญหา “งานท่วมหัว” หนักขนาดไหน การแก้ปัญหาด้วยการพยายามทำหลายสิ่งในเวลาเดียวกันอาจจะไม่ใช่ทางออกที่ดีเท่าไหร่นัก เพราะนอกจากมันดูจะไม่ได้ช่วยให้ปัญหาเบาขึ้นแล้ว มันยังสามารถสร้างปัญหาเพิ่มเติมได้อีกด้วย
โฆษณา