22 เม.ย. เวลา 00:36 • ปรัชญา

มรรค 8 กับ การบิน

"ศาสตร์แห่งการบินที่ผสมผสานกับศิลปะแห่งสติ (Mindfulness)"
วงการบินตระหนักในเรื่องทักษะที่จับต้องไม่ได้มานานมากๆแล้ว นับตั้งแต่อุบัติเหตุสุดโหดสองครั้งต่อเนื่องในปี ค.ศ. 1977 และ 1978 (เหตุการณ์ Tenerife Airport Disaster และ United Airlines Flight 173)
หลายองค์กรพยายามเจาะลึก เสาะหาที่มาที่ไป คิดค้นหลายต่อหลายศาสตร์ขึ้นมา วิชา CRM คือหนึ่งในไฟต์บังคับที่ใครคิดจะเข้าวงการนี้ต้องได้มาเรียน ถือได้ว่าเป็นรากฐานของวิชาปัจจัยมนุษย์ (Human Factors) เลยก็ว่าได้
เมื่อโลกหมุนเคลื่อนไป กระทั่ง ICAO พัฒนาการฝึกแบบ EBT ขึ้นมา ตามต่อด้วย CBT แล้ว EASA ก็เอาไปสร้างวิชา KSA ขึ้นมาขาย กลายเป็นอีกหนึ่งไฟต์บังคับที่นักบินทุกคนต้องได้เรียน ตอนนี้ก็ผ่านมาเกือบ 50 ปีแล้ว (มีคำอธิบายตัวย่อต่างๆอยู่ในคอมเมนต์)
แก่นของมันยังคงเน้นถึงทักษะที่จับต้องไม่ได้เหมือนเดิม สำหรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า 'คน' อย่างเรา ที่มีปัจจัยหลายอย่างในตัว ล่อแหลมต่อการเกิดความผิดพลาดอยู่ตลอดเวลา สิ่งเริ่มต้นแรกสุดคงหนีไม่พ้นเรื่องของ 'ชุดความคิด' หรือ 'Mindset' นั่นเอง
จะสมรรถนะอีกกี่สิบอย่างที่จะถูกค่ายไหนก็ตามคิดค้นต่อยอดต่อไปเรื่อยๆ สุดท้ายทั้งหมดทั้งมวลก็หนีไม่พ้นทางสายเอกทางหนึ่ง ทางที่เราๆได้ซึมซับกันมาตั้งแต่เด็กๆ แต่หลายคนไม่รู้ อยู่ที่ว่าใครจะเดินตามทางนั้นไหม ทางที่ว่ามีอยู่ 8 อย่าง และเหมาะมากที่นักบินทุกคนจะนำไปใช้ ทางเหล่านั้นเรียงลำดับได้ดังนี้
1. The Right Mindset
มีความเห็นถูก หรือ มีชุดความคิด (Mindset) ที่ใช่ กล่าวคือ นักบินต้องมี Growth Mindset (ชุดความคิดแบบเติบโต) ข้อนี้ตรงกับหลักธรรมที่ชื่อว่า 'สัมมาทิฏฐิ'
2. The Right Attitude
Attitude คือส่วนย่อยของ Mindset อีกที อธิบายได้ว่า Mindset เกิดจากภายใน นำพาให้คนเราฉายภาพความคิดต่อสิ่งใดๆก็ตามออกสู่ภายนอก กลายเป็น 'Attitude'
ในที่นี้แปลเป็นคำไทยได้ว่า 'เจตคติ' เมื่อมีความคิดที่ใช่ มีเจตคติที่ถูกทาง การเชื่อมโยงไปยังสมรรถนะต่างๆของนักบินก็ยิ่งง่าย ข้อนี้ตรงกับหลักธรรมที่ชื่อว่า 'สัมมาสังกัปปะ'
3. The Right Communication
การสื่อสารที่ดี คือหนึ่งในหัวใจหลักของวงการบิน และนี่คือหนึ่งในสมรรถนะ 9 อย่างที่นักบินพึงมีด้วย ในทางธรรมก็คือเรื่องของวาจาชอบ หรือ 'สัมมาวาจา' นั่นเอง
4. The Right Behavior
การประพฤติปฏิบัติที่ถูก เรื่องนี้ตรงกับเรื่องพฤติกรรม (Behaviours) ของนักบิน การฝึกอบรมโดยเน้นเรื่องสมรรถนะนั้น เมื่อมาแกะสมรรถนะทั้ง 9 อย่างที่นักบินพึงมี ก็จะพบนิสัยที่สามารถสังเกตหรือใช้เป็นตัวชี้วัดได้ถึง 73 อย่าง ทั้งหมดนี้นักบินต้องทำได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ สิ่งนี้คือธรรมที่ชื่อว่า 'สัมมากัมมันตะ' หรือการกระทำชอบ
5. The Right Professionalism
ถ้าในทางธรรม นี่คือเรื่องของการหาเลี้ยงชีพในทางที่ถูก แต่ถ้าในสายงานด้านการบิน มันคือเรื่องของการทำตามขั้นตอน ทำตามกฎหมายการบิน ไม่ผิดวินัยทางการบิน บนถนนยังมีกฎจราจร บนท้องฟ้าก็เช่นกัน หลักนี้ชื่อว่า 'สัมมาอาชีวะ'
6. The Right Determination
จะเป็นนักบินต้องมีความเพียร มีมานะ มีความบากบั่น มีวินัย อดทนอดกลั้น เส้นทางวิชาชีพนี้ไม่เคยมีกุหลายโรย ใครว่ามาเรียนบินแล้วสบาย บอกเลยว่าเข้าใจผิด เพราะเมื่อไรเท้าพ้นพื้น เมื่อนั้นคือบททดสอบว่าคุณคู่ควรหรือไม่กับปีกที่จะไปไขว่คว้ามาไว้ครอบครอง
ศิษย์การบินจะถูกปลูกฝังคำว่า 'วินัย' ลงไปในสมอง ยัดให้ลึกถึงระดับ DNA ถ้าวินัยหย่อนยาน เป็นนักบินที่ดีไม่ได้แน่นอน นี่คือหลักธรรมที่ชื่อว่า 'สัมมาวายามะ'
7. The Right Awareness
ในวงการบิน มีคำสั้นๆอยู่คำหนึ่ง รู้จักกันในชื่อ SA ย่อมาจาก Situational Awareness หมายถึง "การตระหนักรู้ในสถานการณ์" เป็นทักษะที่นักบินต้องรู้เท่าทันต่อสถานการณ์รอบตัว รู้สิ่งที่ผ่านมา รู้ปัจจุบัน รู้สิ่งที่กำลังเป็นไป เปรียบได้กับ 'เรดาร์ในใจ' ที่ต้องเปิดอยู่เสมอ
หลักธรรมนี้ชื่อว่า 'สัมมาสติ' คือมีสติชอบ ไม่เผลอไผล ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ในห้วงยามวิกฤต
8 . The Right Focus
งานบนฟ้าต้องใช้สมาธิสูง นักบินต้องโฟกัสหลายอย่าง แต่ทำทีละอย่างด้วยความรวดเร็ว ด้วยทักษะที่ถูกเคี่ยวเข็ญมา เช่น การสแกนเครื่องวัดขณะบิน การคอนโทรลเครื่องให้ได้ตามโปรไฟล์ที่ตั้งใจไว้ การแก้ไขปัญหาฉุกเฉินต่างๆที่พบเจอ ทุกสิ่งบนฟ้าต้องการผลลัพธ์ที่แม่นยำ เพราะ 'สมาธิ' คือพื้นฐานของความแม่นยำทางการบิน
และนี่คือทางในลำดับสุดท้ายที่ชื่อว่า 'สัมมาสมาธิ' เป็นเรื่องของการตั้งมั่นในทางที่ใช่ โฟกัสบางสิ่งให้ถูกต้องตามจังหวะและเวลา
โดยสรุปแล้ว
หนทางทั้ง 8 นี้ จะวน Loop ต่อเนื่องเกี่ยวร้อยโยงใยกันตลอดในทุกเที่ยวบิน ที่สำคัญ มันครอบคลุมทุกอย่างที่สอนในตำรา KSA ของค่ายยุโรปทั้งสิ้น ความหมายคือ ทางเดินทั้ง 8 บ่มเพาะให้เรามีครบทั้ง ความรู้ ทักษะ และเจตคติ (Knowledge, Skills, Attitudes) อันถือเป็น 3 เสาหลักที่ฝรั่งเขาตกผลึกมา แล้วเอามาขายให้เราเรียน
ถ้าบ้านเรานำเอามรรค 8 มาประยุกต์ใช้กับทุกวงการ โดยเฉพาะวงการบิน รับรองได้เลยว่า ICAO จะทึ่ง EASA ก็ยังอาย ..
หลักยึดดีๆเรามีเยอะ เอามาต่อยอด สร้างนวัตกรรมได้อีกหลายโข ไม่จำเป็นต้องเดินตามฝรั่งไปหมดเสียทุกเรื่อง ของดีมีอยู่ใกล้ๆตัว
จาก CRM สู่ EBT สู่ CBT สู่ KSA
ถ้าต่อไป เราจะพัฒนาวิชาใหม่สำหรับนักบินที่ชื่อว่า 'Mindful Pilot Training' เองก็ยังได้ แล้วก็เอาไปขายให้ต่างชาติใช้บ้าง บอกว่านี่แหละ งานวิจัยที่มีมาก่อนกาลร่วม 2,500 ปี
ศาสตร์แห่งการบินที่ผสมผสานกับศิลปะแห่งสติ (Mindfulness) หาใช่เรื่องที่ล้าสมัยไม่ มันคือสิ่งที่มาก่อนกาลชัดๆ สังเกตดีๆจะพบว่าศาสตร์ตะวันตกค่อยๆเจาะลึกเข้ามาสู่การพัฒนาระดับจิตใจกันมากขึ้นแล้ว
แต่แท้ที่จริง ไม่สำคัญหรอกว่าใครจะเป็นคนคิด ต่อยอด หรือพัฒนาอะไรขึ้นมามากมายขนาดไหน
สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ว่า จะนำมันไปใช้ จะฝึกฝนและเสริมสร้างสมรรถนะที่พึงมีให้ครบถ้วนสมบูรณ์ได้อย่างไรมากกว่า โดยเฉพาะทักษะด้าน Soft Skill นี้ เพื่ออุดรอยรั่วของอุบัติเหตุให้ได้มากที่สุด และนี่คือแก่นที่ต้องการของทุกเที่ยวบิน
ว่ากันว่า
"Master the machine, but first master the mind"
(จงเชี่ยวชาญเครื่องจักร แต่ก่อนอื่น จงเชี่ยวชาญจิตใจของตนก่อน)
🚘 #ประกันภัยรถยนต์ Online ผ่อนได้
📌 ไม่ต้องมีบัตรนายหน้า
#สร้างรายได้ #สร้างอาชีพ #งานเสริม #งานประจำ
📌รหัสแนะนำ FM-40816
โฆษณา