22 เม.ย. เวลา 14:00 • สิ่งแวดล้อม

‘สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส’ ปลุกจิตสำนึกใส่ใจ ‘วิกฤติสภาพภูมิอากาศ’

“วาติกัน” แถลงการณ์อย่างเป็นทางการเมื่อวันจันทร์ 21 เม.ย. 2568 “สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส” ผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิก สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา หลังทรงหายจากอาการประชวรโรคปอดอักเสบรุนแรง
พระองค์ได้รับการจดจำว่าเป็นพระสันตะปาปาที่เปิดตาชาวคาทอลิก 1,300 ล้านคนทั่วโลกให้ตระหนักถึงอันตรายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดพระชนมายุ พระองค์ทรงกล่าวถึงความเสี่ยงเหล่านี้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบที่มีต่อผู้คนที่ยากจนและเปราะบางที่สุดในโลก
“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเป็นบุคคลที่มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สูงส่ง และเป็นผู้สนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่ไม่หวั่นไหวและไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย” ไซมอน สตีล หัวหน้าฝ่ายสภาพอากาศของสหประชาชาติกล่าวเกี่ยวกับการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
สตีลล์กล่าวเสริมว่า พระสันตะปาปาฟรานซิสมีความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับปัญหาสภาพอากาศที่ซับซ้อน และความเป็นผู้นำของพระองค์ได้รวบรวมพลังแห่งศรัทธาและวิทยาศาสตร์เข้าด้วยกัน เพื่อเผยแพร่ความจริงที่ไม่อาจกล่าวโทษได้ โดยเน้นย้ำถึงต้นทุนของวิกฤติสภาพอากาศสำหรับผู้คนหลายพันล้านคน”
“การจากไปของพระองค์จะเป็นที่รู้สึกอย่างลึกซึ้งต่อผู้คนนับล้าน แต่ข้อความของพระองค์จะยังคงอยู่ต่อไป เพราะมนุษยชาติคือชุมชน และเมื่อชุมชนใดชุมชนหนึ่งถูกละทิ้ง ไม่ว่าจะเป็นความยากจน ความอดอยาก ภัยพิบัติจากสภาพอากาศ และความอยุติธรรม มนุษยชาติทั้งหมดจะลดน้อยลงอย่างมาก ทั้งในด้านวัตถุและศีลธรรม ในระดับที่เท่าเทียมกัน” สตีลล์กล่าว
ในช่วงที่ทรงเป็นผู้นำคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงพูดถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอยู่บ่อยครั้ง ที่โด่งดังที่สุดคงจะเป็น “Laudato si’: On Care For Our Common Home” พระสมณสาสน์พิเศษปี 2015 ซึ่งเป็นคำวิงวอนสำหรับมวลมนุษยชาติทุกคน ให้ตื่นตัวและดูแลการสร้างสรรค์และยุติการทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมและความก้าวหน้าทางวัตถุที่ไร้ขีดจำกัด
“มันเป็นคำโกหกที่ว่าทรัพยากรบนโลกมีอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งทำให้โลกถูกบีบคั้นจนแห้งเหือดเกินขีดจำกัด” ข้อความตอนหนึ่งในพระสมณสาสน์
พระสมณสาสน์ยังระบุถึง ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยฝีมือมนุษย์ หากสิ่งต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตามเดิม โดยเชื่อมโยงกับมุมมองทางศีลธรรม อีกทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงสนับสนุนฉันทามติทางวิทยาศาสตร์ที่ระบุว่า “ภาวะโลกร้อนเกิดจากก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมของมนุษย์”
พระสมณสาสน์ฉบับนี้เผยแพร่ออกมาก่อนการประชุมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ COP21 เพียง 6 เดือน หลายคนเชื่อว่าเอกสารฉบับนี้และการมีส่วนร่วมของวาติกันส่งผลให้เกิดการลงนาม “ความตกลงปารีส” ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ นับเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ในความพยายามลดภาวะโลกร้อน
ด้วยอัจฉริยภาพของพระสันตะปาปาในการพูดคุยกับผู้คนจากหลายฝ่าย ได้ปูทางให้พระองค์มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้นในการประชุม COP28 ซึ่งจัดขึ้นที่ดูไบในปี 2023 พร้อมเผยแพร่ Laudate Deum สมณลิขิตเตือนใจเรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เมื่อเวลาผ่านไป ข้าพเจ้าตระหนักว่าการตอบสนองของเรายังไม่เพียงพอ ในขณะที่โลกที่เราอาศัยอยู่กำลังพังทลายและอาจใกล้ถึงจุดแตกหัก” ข้อความตอนหนึ่งในสมณลิขิตเตือนใจ
พระองค์เล็งเป้าไปที่พลเมืองของประเทศร่ำรวย เช่น สหรัฐ ที่ใช้ชีวิตแบบไร้ความรับผิดชอบ และทรงเน้นย้ำว่า ชาวอเมริกันหนึ่งคนปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงกว่าชาวจีนถึงสองเท่า และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศยากจนที่สุดในโลกถึง 7 เท่า อีกทั้งพระองค์ยังทรงชี้ให้เห็นถึงการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง เป็นตัวการหลักที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
1
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระประสงค์ที่จะเสด็จไปร่วมการประชุม COP28 ด้วยตนเอง โดยทรงสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะโป๊ปองค์แรกที่ทรงกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่พระองค์ทรงประชวรด้วยโรคไข้หวัดใหญ่และอาการอักเสบในปอด ทำให้พระองค์ไม่สามารถเสด็จไปดูไบได้ พระคาร์ดินัล ปาโรลิน เลขาธิการรัฐวาติกันจึงอ่านคำปราศรัยแทน
พระองค์ทรงวิพากษ์วิจารณ์ความพยายามโยนความผิดให้กับประเทศยากจนที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้น ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดวิกฤติการณ์สภาพภูมิอากาศอีกครั้ง โดยระบุว่าเป็นสิ่งที่ยุติธรรมแล้วที่กลุ่มประเทศที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมากเกินไปจะต้องให้เงินสนับสนุนประเทศยากจน และชดใช้ความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเรียกร้องให้มี “โครงสร้างทางการเงินระหว่างประเทศแบบใหม่” ที่ตั้งอยู่บนหลักการของความเท่าเทียม ความยุติธรรม และความสามัคคี
เมื่อปีที่แล้ว พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีพระอาการไม่สบายอีกครั้งจนไม่สามารถเสด็จไปร่วมการประชุม COP29 ที่ประเทศอาเซอร์ไบจานได้ แต่ทรงส่งสารถึงบรรดาผู้นำโลกที่มาร่วมประชุม โดย โดยมีพระคาร์ดินัล เปียโตร ปาโรลิน เลขาธิการแห่งรัฐวาติกัน ทรงทำหน้าที่แทน
พระองค์ตรัสว่า “ความท้าทายที่แท้จริงของศตวรรษของเรา คือความเฉยเมยต่อวิกฤตการณ์สภาพอากาศ และการเพิกเฉยนี้ถือเป็นการร่วมกระทำความอยุติธรรม”
ที่ผ่านมาคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกจัดการประชุมเกี่ยวกับสภาพอากาศของตนเองมาโดยตลอด อีกทั้งสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเน้นย้ำถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ในปี 2019 พระองค์ทรงสนับสนุนให้ “อีโคไซด์” (Ecocide) หรือ การทำลายสิ่งแวดล้อมในระดับรุนแรง เป็นอาชญากรรมต่อสันติภาพลำดับที่ 5 ซึ่งถือว่าเป็นอาชญากรรมรุนแรง เทียบเท่า “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” และ “อาชญากรรมสงคราม” และทรงประกาศว่าเป็นบาป โดยพระองค์ได้พบปะกับประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประมุขแห่งรัฐ ซีอีโอ และคณะกรรมการของบริษัทใหญ่ ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมาเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหานี้
ในเดือนพฤษภาคม 2024 พระองค์ได้จัดการประชุมสามวันของคริสตจักรคาทอลิกเกี่ยวกับความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพอากาศที่นครวาติกัน โดยมีนายกเทศมนตรีและผู้ว่าการทั่วโลกเข้าร่วมประชุม แทนที่จะมุ่งเน้นเฉพาะการบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว พระองค์ได้ดึงความสนใจไปที่ความจำเป็นในการปรับตัวของมนุษย์ พร้อมตั้งคำถามผู้นำทางการเมืองว่า “เรากำลังทำงานเพื่อวัฒนธรรมแห่งชีวิต หรือเพื่อวัฒนธรรมแห่งความตาย”
“ประเทศที่ร่ำรวยกว่าซึ่งมีประชากรราว 1,000 ล้านคน ก่อให้เกิดมลพิษที่กักเก็บความร้อนมากกว่าครึ่งหนึ่ง ในทางตรงกันข้าม คนจน 3,000 ล้านคนมีส่วนทำให้เกิดมลพิษน้อยกว่า 10% แต่พวกเขาต้องทนทุกข์กับความเสียหายที่เกิดขึ้นถึง 75%”
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงย้ำอีกครั้งว่าการทำลายสิ่งแวดล้อมเป็น “ความผิดต่อพระเจ้า” และเป็น “บาปเชิงโครงสร้าง” ที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ทุกคน ด้วยคำกล่าวเช่นนี้ทำให้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงได้รับการยอมรับในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
หลายคนยกย่องความสามารถของพระองค์ในการขับเคลื่อนการดำเนินการร่วมกันเพื่อข้ามความขัดแย้ง และถูกจดจำในฐานะผู้นำที่มีคุณธรรม เชื่อมช่องว่างระหว่างปัญหาต่าง ๆ ทั้งความยากจน การปรับตัวต่อสภาพอากาศ และผลที่ตามมาของภาวะโลกร้อนที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์
โฆษณา