2 พ.ค. เวลา 14:00 • ข่าวรอบโลก

ทำไมสหรัฐจะแพ้สงครามการค้ากับจีน

[เรื่อง: ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ]
บทวิเคราะห์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ผมเห็นว่ามีความเด่นในเชิงของความลึกซึ้ง (insight) ที่สุดคือ บทวิเคราะห์ของนักเศรษฐศาสตร์และประธานของสถาบัน Peterson Institute for International Economics นาย Adam Posen ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Foreign Affairs เมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งผมนำมาสรุปให้อ่านกันในวันนี้
อาจารย์ Posen ชี้ว่า สมมติฐานของทีมทรัมป์คือ ความเชื่อที่ว่า สหรัฐมีแต้มเหนือประเทศคู่ค้าทุกประเทศ โดยเฉพาะกับจีนเพราะสหรัฐนำเข้าสินค้าจากจีนมูลค่า 440,000 ล้านดอลลาร์ เทียบกับการที่จีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐเพียง 144,000 ล้านดอลลาร์ในปี 2567 ดังนั้น สหรัฐจึง “มีไพ่” เหนือกว่าจีนกว่า 3 เท่าตัว แต่สมมติฐานดังกล่าวเป็นสมมติฐานที่ผิดพลาดอย่างมหันต์
ทั้งนี้เพราะการที่สหรัฐนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากจีนนั้น ไม่ได้แปลว่าสหรัฐมีอำนาจต่อรองมากกว่า แต่เป็นการสะท้อนว่าสหรัฐพึ่งพาจีนมากกว่า เพราะการซื้อสินค้าไม่ใช่การทำบุญ-ทำทาน แต่เป็นการสะท้อนการพึ่งพาประเทศคู่ค้า เห็นได้จากข้อมูลดังต่อไปนี้
1.กว่าครึ่งหนึ่งของโทรศัพท์มือถือที่ขายในสหรัฐ เป็นยี่ห้อ iPhone ซึ่งประมาณ 80% ประกอบในประเทศจีน
2.จีนเป็นผู้ส่งออกเครื่องปรับอากาศและพัดลมหลักของโลก (ครองตลาดประมาณ 70-80%)
3.ของเล่นเด็กและจักรยานที่คนสหรัฐซื้อนั้น 75% นำเข้าจากจีน
4.50% ของวัตถุดิบที่สหรัฐใช้ในการผลิตยาและยาปฏิชีวนะต้องนำเข้าจากจีน
5.เครื่องบินรบ F35 รถยนต์ EV เครื่องใช้ทางการแพทย์ และอุปกรณ์อื่นๆ อีกมาก ต้องใช้แร่หายาก (rare earth) ซึ่งจีนครองตลาดการแปรรูปแร่ดังกล่าวประมาณ 90%
(ข้อมูลข้างต้นไม่ได้มาจากอาจารย์ Posen แต่ผมนำมาเสนอเพื่อเป็นข้อมูลประกอบ)
กล่าวคือ ความเชื่อว่า “จุดแข็ง” ของสหรัฐคือการนำเข้าสินค้าจากจีนนั้น แท้จริงคือ “จุดอ่อน” เพราะการขึ้นภาษีศุลกากรสูงมากจนไม่สามารถนำเข้าสินค้าจากจีนได้เลยนั้น จะทำให้ประชาชนสหรัฐประกอบกับความยากลำบาก เพราะจะไม่สามารถหาสินค้าอื่นมาทดแทนได้
ตรงกันข้ามประเทศจีนเกินดุลการค้า ดังนั้น คนจีนจะไม่ประสบปัญหาการขาดแคลน แต่จะมีสินค้าเหลือ ซึ่งการพยายามระบายสินค้าดังกล่าวไปในประเทศอื่น ๆ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากลำบากเท่ากับการต้องเผชิญกับความขาดแคลน (ตัวอย่างเช่น เวลาเราจัดงานเลี้ยงอาหารก็จะทำอาหารเผื่อเอาไว้ ให้เกินพอ มากกว่าทำอาหารให้น้อยเกินไป)
นอกจากนั้น รัฐบาลจีนก็จะยังสามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศ เพื่อลดผลกระทบได้อีกด้วย (ซึ่งรัฐบาลไทยก็อาจจะต้องทำ แม้จะเกิดการขาดดุลงบประมาณมากขึ้นก็อาจต้องยอมในสภาวะปัจจุบัน)
อาจารย์ Posen แนะนำว่า หากจะประกาศสงครามการค้ากับจีนและจะ “เกทับ” ปรับภาษีขึ้นไป (escalate) ระดับ 100% สหรัฐก็ควรจะต้องเตรียมการเอาไว้ก่อนว่า สินค้าที่จะต้องหามาทดแทนจากที่เคยนำเข้าจากจีนนั้น จะมาจากแหล่งอื่นใด และจะต้องเพียงพอและทันท่วงที แต่ทีมของทรัมป์ก็ไม่ได้เตรียมตัวในเรื่องนี้แต่อย่างใด
นอกจากนั้น ประเทศที่ขาดทุนการค้าเช่นสหรัฐนั้น ในอีกด้านหนึ่งของเหรียญคือ การต้องพึ่งพาการไหลเข้าของเงินทุน (กล่าวคือ คนสหรัฐจะใช้จ่ายเกินตัว เกินรายได้ ก็ต้องด้วยการที่ชาวต่างชาติจะต้องนำเงินออมส่วนเกินมาซื้อสินทรัพย์ของสหรัฐ เช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ) แต่ประเทศที่เกินดุลการค้า (จีน) จะไม่มีจุดอ่อนตรงนี้
ดังนั้น เมื่อสหรัฐข่มเหงประเทศคู่ค้าต่างๆ ด้วยมาตรการภาษีศุลกากร ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ (เพราะเก็บภาษีวัตถุดิบซึ่งใช้ในการผลิต เช่น เหล็กกล้า และอะลูมิเนียม) นอกจากนั้น การเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันและเปลี่ยนไป-เปลี่ยนมา ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่แน่นอนและสร้างความไม่มั่นใจให้กับนักลงทุน การลงทุน และการซื้อ-ขาย ก็เสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
กล่าวคือ ทำให้เงินทุนไหลเข้าน้อยลง การซื้อพันธบัตรลดลง ทำให้ดอกเบี้ยระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นและเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ซึ่งยิ่งบั่นทอนความมั่นใจของทั้งผู้บริโภคและนักลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ที่สำคัญคือ การบั่นทอนความมั่นใจและความไว้วางใจในรัฐบาลสหรัฐ ทำให้เจรจาการค้าอาจประสบความสำเร็จได้ยากยิ่งขึ้น
อาจารย์ Posen กล่าวในตอนท้ายว่า “Americans and foreigners alike would invest less rather than more in the US economy and they would no longer trust the US government to live up to any deal…”
และทิ้งท้ายบทความว่า ทีมของทรัมป์กำลังดำเนินนโยบายสงครามทางการค้า ที่เปรียบเทียบได้กับการที่สหรัฐเลือกที่จะไปรบในเวียดนาม ซึ่งในที่สุดจะบั่นทอนศรัทธาของทั้งคนสหรัฐและคนทั่วโลกต่อความน่าเชื่อถือ (trustworthiness) และความสามารถ (competence) ของสหรัฐอเมริกา
โฆษณา