23 เม.ย. เวลา 15:58 • สุขภาพ

"พุ่มไม้สิทธิบัตร" อาจทำให้ฝีดาษลิงขยายวง

บทความเรื่อง "The global patent landscape of emerging infectious disease monkeypox" ที่ตีพิมพ์ในวารสาร BMC Infectious Diseases เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2024 กำลังเผยข้อมูลที่น่าสนใจ และชวนให้ขบคิดต่อคนทั้งโลก
บทความดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มและรูปแบบความรู้ระดับโลกเกี่ยวกับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิง รวมถึงการสำรวจทิศทางทางเทคนิคในอนาคตเพื่อสนับสนุนการวิจัยและนโยบายด้านสุขภาพ
ซึ่งนั่นแสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่คาดไม่ถึงของสิ่งที่เรียกว่า "พุ่มไม้สิทธิบัตร"
ฝีดาษลิงเป็นโรคติดเชื้อที่เกิดขึ้นใหม่ โดยมีรายงานผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตในหลายประเทศทั่วโลก การระบาดในหลายประเทศทำให้องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) .​
จากการศึกษาสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงจำนวน 1,791 ฉบับจากฐานข้อมูล Derwent พบว่า ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 21 จำนวนสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษามากขึ้น ธุรกิจเป็นผู้ถือสิทธิบัตรส่วนใหญ่
ในขณะที่สิทธิบัตรสำคัญแรกเริ่มมาจากสถาบันการศึกษา เทคโนโลยีหลักที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงรวมถึงยาชีวภาพและเคมี อย่างไรก็ตาม การพัฒนาวัคซีนและการทดสอบไวรัสยังขาดการสนับสนุนสิทธิบัตรที่เพียงพอ
นวัตกรรมการรักษาที่เกี่ยวข้องกับฝีดาษลิงมีข้อจำกัดทางภูมิศาสตร์และเผชิญกับอุปสรรคด้านสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างประเทศ แม้ว่าจะมีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การให้สิทธิ์ใช้งานสิทธิบัตรอย่างโปร่งใสถูกขับเคลื่อนโดยรูปแบบการควบรวมกิจการ การร่วมทุน และองค์กรวิจัยตามสัญญา
ปรากฏการณ์ "พุ่มไม้สิทธิบัตร" (patent thicket) ในด้านฝีดาษลิงอาจชะลอความก้าวหน้าในการต่อสู้กับโรคนี้ และอาจทำให้การระบาดขยายวง จนควบคุมได้ยากในอนาคต
"พุ่มไม้สิทธิบัตร" (patent thicket) เป็นคำอุปมาเปรียบเปรยในแวดวงทรัพย์สินทางปัญญา ใช้อธิบายสถานการณ์ที่มี สิทธิบัตรจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกันซ้อนทับกัน ในเทคโนโลยีเดียวหรือผลิตภัณฑ์เดียว ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ต้อง ฝ่า “พุ่มไม้” ของสิทธิบัตรเหล่านี้ ไปให้ได้ก่อน จึงจะสามารถผลิตหรือจำหน่ายสินค้า/บริการได้อย่างถูกกฎหมาย
"พุ่มไม้สิทธิบัตร" แง่หนึ่งจึงอาจเป็นตัวแทนของการผูกขาดโดยอ้อม โดยบริษัทใหญ่ที่ถือสิทธิบัตรจำนวนมากสามารถควบคุมตลาดและกันคู่แข่งรายใหม่ออกจากตลาด ทำให้ต้นทุนสูงขึ้นและขัดขวางการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งอาจสร้างประโยชน์มากมายในวงกว้าง
แต่ในทางกลับกัน หากไม่มีหลักเกณฑ์ของสิทธิบัตร ก็ยากที่บริษัทต่างๆจะอยากวิเคราะห์วิจัย คิดค้นนวัตกรรมด้านการแพทย์และการรักษา เนื่องจากไร้แรงจูงใจและผลประโยชน์ที่เหมาะสม
หากยังหาข้อยุติไม่ได้ในเร็ววัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของโรคระบาดที่มีผู้ได้รับผลกระทบทั่วโลกเช่นฝีดาษลิง สถานการณ์การระบาดอาจเลวร้ายมากกว่าเดิม และอาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที
อ้างอิง
โฆษณา