ฟิน FAMILY เปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการเงินที่สนุกและปลอดภัย

ในยุคที่ทักษะทางการเงินกลายเป็นหนึ่งในอาวุธสำคัญของชีวิต แต่แทบไม่มีการสอนในห้องเรียนเท่าที่ควร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงจุดประกายการเรียนรู้เรื่องการเงินให้ทั้งผู้ปกครองและเด็ก ๆ ผ่านกิจกรรม "ฟิน FAMILY: เปลี่ยนบ้านเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการเงิน" ณ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา
กิจกรรมนี้ประกอบด้วยเวิร์กช็อปสำหรับเด็ก ๆ อายุ 8-10 ปี รวมถึงการอบรมสำหรับผู้ปกครอง โดยวารสารพระสยาม BOT MAGAZINE นำความรู้ที่ได้มาแบ่งปันในคอลัมน์นี้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านลองสร้างพื้นที่เรียนรู้เรื่องการเงินให้เด็ก ๆ ได้ที่บ้าน
“ล้มในบ้าน” เรียนรู้การเงินก่อนออกไปเจอโลกจริง
คุณวรุตม์ นิมิตยนต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบบอร์ดเกมเพื่อการเรียนรู้ และวิทยากรของกิจกรรมนี้ แบ่งปันแนวคิดก่อนเริ่มอบรมว่า "ครอบครัวไทยไม่ค่อยสอนหรือพูดคุยเรื่องการเงินกับลูกอย่างจริงจัง ทำให้เด็กจำนวนมากก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่โดยไม่มีทักษะการบริหารเงินที่เพียงพอ เราจึงควรทำบ้านให้เป็นพื้นที่ที่เด็ก ๆ สามารถล้มได้ เจ็บได้ เพื่อเรียนรู้ก่อนจะออกไปเจอของจริงนอกบ้าน"
คุณวรุตม์ยังเปรียบการเรียนรู้เรื่องการเงินว่าเป็นเหมือนกับการเตรียมตัวของนักบินอวกาศ ที่ต้องมีชุดข้อมูลเชิงเทคนิคและการซ้อมปฏิบัติจนกว่าจะชำนาญ เมื่อถึงวันที่ต้องเดินทางจริง ประสบการณ์ที่สะสมมาจากการซักซ้อมจะช่วยลดความผิดพลาดและทำให้นักบินอวกาศเดินทางได้อย่างปลอดภัย
“หลายคนในสังคมไทยเจอปัญหาด้านการเงิน เพราะขาดพื้นที่ซ้อม หรือการได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง กิจกรรมนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนบ้านให้กลายเป็น ‘พื้นที่ซ้อมด้านการเงิน’ ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ๆ นั่นเอง”
ไม่ใช่เพียง “มูลค่า” แต่สอนให้รู้จัก “คุณค่า”
สิ่งที่คุณวรุตม์ย้ำกับผู้เข้าร่วมการอบรมคือ การเรียนรู้ด้านการเงินเท่ากับการเรียนรู้ถึง “คุณค่า” โดยมองว่า เงินเป็นเพียงกลไกที่ทำให้การแลกเปลี่ยนสิ่งของง่ายขึ้นเท่านั้น ขณะที่คำว่า “คุณค่า” สามารถตีความออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น ความดี ความมีน้ำใจ ความรับผิดชอบ และจริยธรรมอื่น ๆ ที่ตีค่าเป็นเงินไม่ได้ เพื่อสอนให้เด็ก ๆ เข้าใจและมีความคาดหวังที่ถูกต้องเรื่องเงิน ไม่ให้เด็กมองเงินเป็นเรื่องใหญ่ที่สุด แต่ให้มองถึงคุณค่าที่เขาจะได้รับเมื่อบริหารเงินให้เหมาะสม ที่จะทำให้เขามีความสุขเมื่อเติบโต
เมื่อมีคนถามว่า “ควรเริ่มต้นสอนลูกตั้งแต่อายุเท่าไหร่?” คำตอบที่คุณวรุตม์ให้คือ “หนึ่งขวบ” ทำเอาผู้เข้าร่วมอบรมสงสัยไม่น้อยว่าอายุเท่านั้นจะเข้าใจเรื่องเงินได้หรือ? แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการเรียนรู้แนะนำต่อไปว่า การแบ่งกลุ่มอายุเด็กและสอนตามพัฒนาการเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ สำหรับการสร้างกระบวนการเรียนรู้ด้านการเงินของเด็ก โดยสามารถแบ่งออกเป็น 3 ช่วงวัย คือ ช่วงวางรากฐาน (1-9 ปี) ช่วงฝึกทักษะ (10-18 ปี) และช่วงสร้างตัว (18 ปีขึ้นไป) ซึ่งเรารวบรวมมาให้ลองเอาไปสอนเด็ก ๆ ที่บ้านได้
เริ่มจากการวางรากฐานที่มั่นคง
ช่วงวางรากฐาน (1-9 ปี) เป็นช่วงสำคัญที่เด็ก ๆ จะมีพัฒนาการรวดเร็ว โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มอายุ ได้แก่
o 1-3 ปี : ช่วงเรียนรู้ผ่านประสาทสัมผัส แม้วัยนี้จะยังไม่เข้าใจเรื่องการเงิน แต่สามารถแนะนำให้รู้จักและคุ้นเคยกับเงินผ่านการหยิบ จับ ดู และฟังเสียง
o 4-6 ปี : ช่วงเรียนรู้เหตุผล เริ่มเรียนรู้เหตุผล ถามตอบ และบวกเลข เป็นช่วงสำคัญของการเรียนรู้ ในวัยนี้ผู้ปกครองห้ามพูดว่า “อย่าถามได้ไหม” เพราะจะส่งผลต่อพฤติกรรมการเรียนรู้ต่อไปในอนาคต
เด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไปจะเริ่มสะสมของ จึงเป็นช่วงที่ดีที่จะเริ่มให้มี “กระปุกออมสินใบแรก” เพื่อให้เด็กรู้ถึงคุณค่าของการเก็บสะสม ฝึกการรอคอย และเข้าใจคุณค่าของสิ่งของ แต่ยังไม่ควรให้มีกระปุกออมสินหลายใบเพราะยังไม่ถึงวัยที่จะจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายหลายอย่างพร้อม ๆ กัน
o 7-9 ปี : ช่วงเริ่มเรียนรู้บางอย่างด้วยตนเอง เป็นช่วงวัยแห่งการทดลองทำ ผิดพลาด และเติบโต ผู้ปกครองควรให้เด็ก ๆ หัดทำงานบางอย่างที่เป็นประโยชน์โดยรวมของบ้านเพื่อแลกเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เช็ดหน้าต่าง 2 บานให้เงิน 10 บาท กวาดพื้นห้องนั่งเล่นให้เงินอีก 10 บาท และอาจเพิ่มกิจกรรมเรื่อย ๆ เพื่อให้เรียนรู้ว่าการทำบางอย่างจะได้เงินตอบแทน
(ควรให้แค่บางครั้ง และต้องเป็นการทำประโยชน์ให้ส่วนรวม หากเป็นการรับผิดชอบดูแลตัวเองที่ต้องทำอยู่แล้ว เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า จะไม่ได้รับ เพื่อให้เข้าใจถึง “คุณค่า” ของการทำเพื่อส่วนรวม และไม่ตีค่าทุกอย่างเป็นตัวเงินเสมอไป)
เมื่อหาเงินเพิ่มได้แล้ว ในวัยนี้ยังควรเริ่มมีกระปุกออมสินหลายใบเพื่อสอนเรื่องการตั้งเป้าหมายในการออม (ถ้าสนใจลองอ่านข้อมูลการเก็บเงินแบบเป็นระบบด้วยเทคนิค 6 jars เพิ่มเติม) และผู้ปกครองยังสามารถพาลูก ๆ ที่มีอายุตั้งแต่ 7 ปีไป “เปิดบัญชีออมทรัพย์ครั้งแรก” ได้ที่ธนาคารเพื่อให้รู้จักการออมในอีกขั้นหนึ่ง
สร้างตัวตนจากการสังเกตคนรอบตัว
วัยรุ่น (10-18 ปี) เป็นช่วงฝึกทักษะ เด็ก ๆ จะเริ่มเรียนรู้เรื่องความรับผิดชอบและมีความสนใจเรื่องการเงินที่หลากหลาย ในช่วงนี้ผู้ปกครองควรใส่ใจคนรอบตัวเป็นพิเศษ (รวมถึงตัวผู้ปกครองเองด้วย) เพราะเด็ก ๆ จะเริ่มสร้างตัวตนผ่านการสังเกตคนรอบข้าง รวมถึงพฤติกรรมทางการเงินด้วย
ช่วงวัยนี้ผู้ปกครองควรให้เด็ก ๆ เริ่มบริหารการเงินเล็ก ๆ ของตัวเอง เริ่มต้นจากการฝึกบริหารเงินรายสัปดาห์ (ช่วงปฐมวัยก็ลองให้เงินไปโรงเรียนรายสัปดาห์ได้แล้ว) รวมถึงซื้อของใช้ส่วนตัวบางอย่าง เช่น สบู่ แชมพู และเครื่องเขียน ซึ่งผู้ปกครองต้องคุยเรื่องการคำนวณค่าใช้จ่าย และต้องไม่ลืมเรื่องการออมเพื่อเป้าหมายที่ตั้งไว้ หากสัปดาห์ไหนเงินไม่พอใช้อาจให้ทำงานบางอย่างเพื่อแลกเงินเพิ่มเติม เพื่อฝึกให้พวกเขาควบคุมการใช้จ่ายของตัวเองได้ในอนาคต
ซ้อมใหญ่ก่อนออกบิน
วัยผู้ใหญ่ (18 ปีขึ้นไป) เป็นช่วงเรียนรู้เพื่อเป้าหมายทางการเงินในอนาคตของตนเอง บางคนออกไปทำงานแล้ว และอีกหลาย ๆ คนเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ช่วงวัยนี้ควรให้ฝึกวางแผนระยะยาว เช่น การเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่สนใจต้องใช้เงินเท่าไร เพื่อให้เขาเข้าใจทั้งคุณค่า (ของความรู้และประสบการณ์ที่จะได้รับ) และมูลค่า (ค่าเทอมและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ)
พ่อแม่ต้องฝึกให้ลูกรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของตัวเอง 100% รวมถึงค่าใช้จ่ายแฝงที่ปกติมีพ่อแม่จ่ายให้ จึงควรฝึกให้วางแผนการใช้เงินเป็นรายเดือน และอาจหารายได้เพิ่มจากการช่วยงานบ้าน หรือทำงานพิเศษ บางครอบครัวยังสอนไปถึงการวางแผนภาษี รวมถึงให้ลองมีหนี้ก้อนใหญ่ เช่น ผ่อนโทรศัพท์มือถือด้วยตัวเอง ที่สำคัญคือการเลือกหนี้แบบที่พ่อแม่ดูแลไหวในกรณีที่ลูกก้าวพลาดไป อย่าลืมว่าเป้าหมายของการทำทั้งหมดนี้เพื่อให้ลูก ๆ มีพื้นที่การเรียนรู้ทางการเงินที่เขาล้มได้ และฝึกให้พวกเขาอยู่ได้โดยไม่มีผู้ปกครอง
“ที่สำคัญคือควรอยู่ใกล้ ๆ เขา เพื่อที่เราสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที การเรียนรู้คือต้องทำให้รู้ว่ากระบวนการต่าง ๆ ไม่ได้มีแค่ทางเดียว หากวันหนึ่งเขาไม่สามารถไปในเส้นทางเดิมได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าถึงทางตัน เรายังสามารถหาทางอื่นไปต่อได้”
ออกแบบการเรียนรู้จากความเข้าใจ
ในส่วนของการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการเงินของทุกช่วงวัยนั้น คุณวรุตม์ได้แนะนำให้ทำตาม 4 ขั้นตอน ดังนี้ :
1. รู้จักลูก – ลองถามตัวเองว่าพ่อแม่รู้จักลูกดีแค่ไหน ทั้งสิ่งที่พวกเขาสนใจ อยากได้ พฤติกรรมทางการเงิน อาทิ มีการออมไหม มีเงินพอใช้หรือเปล่า ขั้นตอนนี้จะทำให้ผู้ปกครองรู้จักเด็กมากขึ้น และเข้าใจว่าทำไมจึงมีพฤติกรรมทางการเงินแบบนั้น
2. ตั้งเป้าหมายพฤติกรรมทางการเงิน – ที่ผ่านมาเราจะเห็นการตั้งเป้าหมายแบบกว้าง ๆ ให้เด็ก เช่น อยากให้ออมเงิน แต่ควรฝึกให้ลูกตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมมากขึ้น และอาจใช้แนวคิดต่าง ๆ อย่าง SMART Goal หรือ Moonshot เข้ามาช่วย ยกตัวอย่างเช่น จากเป้าหมายอยากให้ออมเงินเฉย ๆ ก็จะกลายเป็น อยากให้ออมได้ 1,000 บาท ในเวลา 1 เดือน ซึ่งดูแล้วเป็นเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้นและมีความเป็นไปได้ หรือการเป็นกำลังใจให้เด็ก ๆ กล้าตั้งเป้าและลงมือทำมากขึ้น
3. ออกแบบการเรียนรู้ – หัวใจสำคัญคือ การออกแบบให้ค่อย ๆ ปรับจากพฤติกรรมเดิมไปสู่พฤติกรรมใหม่ โดยอาจใช้ (1) เครื่องมือ เช่น บัญชีรายรับรายจ่าย และตารางค่าตอบแทนที่ลูกช่วยงานบ้าน (ให้เขาเห็นทั้งรายจ่ายและรายได้ของตัวเอง) และ (2) แรงจูงใจ ซึ่งมีทั้งเรื่องภายนอกอย่างเงินที่สะสมได้หรือของที่จะได้ซื้อจากเงินสะสมนั้น กับเรื่องภายในคือ ความภาคภูมิใจของตัวเขาเอง ในขั้นตอนนี้ต้องให้กำลังใจลูกมาก ๆ กล่าวคำชมในทุกความสำเร็จเพื่อให้เขามั่นใจว่าทำได้ดีแล้ว
4. ประเมินการเรียนรู้และถอดบทเรียน – ไม่ว่าจะทำสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ การประเมินถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดเพื่อหาสิ่งที่ยังขาดไป ก่อนจะลองตั้งเป้าหมายการปรับพฤติกรรมครั้งต่อไปลองใช้คำถาม 3 ระดับ ได้แก่
● รู้สึกอย่างไรบ้าง? เป็นคำถามแรก เพื่อประเมินความรู้สึก ชอบ ไม่ชอบ เหนื่อย
● ทำไมถึงรู้สึกแบบนั้น? เพื่อประเมินทัศนคติ เหตุผลที่ตัดสินใจ และมีวิธีจัดการให้ดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง
● คิดว่า ครั้งนี้ตัวเองทำได้ดีแค่ไหน? เพื่อให้ลูกประเมินตนเอง รวมถึงอาจชวนคุยถึงการตั้งเป้าหมายครั้งต่อไป
ก่อนจบการอบรมในวันนี้ คุณวรุตม์ยังขอท้าทายให้พ่อแม่ชวนลูก ๆ ทำ “21-Day Challenge” โดยให้เริ่มจากเรื่องเล็ก ๆ เช่น ออมเงินวันละบาท และค่อย ๆ เพิ่มเป้าหมายให้ใหญ่ขึ้น “ไม่ต้องสนใจว่าต้องทำนานแค่ไหน แต่ให้ทำอย่างต่อเนื่อง จำไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงต้องใช้เวลาครับ”
คลังความรู้ด้านการเงินที่คุณพ่อคุณแม่ต้องติดตาม
สำหรับพ่อแม่ของวัยเรียนรู้ ธปท. จัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรู้ด้านการเงินเป็นประจำทุกเดือน ที่ศูนย์การเรียนรู้ ธปท. นอกจากนี้ ยังมีแหล่งเรียนรู้ทางการเงินมากมายสำหรับครอบครัวที่ปลอดภัยสำหรับหนู ๆ ไม่ว่าจะเป็น INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน (INVESTORY พิพิธภัณฑ์เรียนรู้การลงทุน) และพิพิธภัณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือกิจกรรมต่าง ๆ ของ ธปท. ได้ทาง Facebook ศูนย์การเรียนรู้แบงก์ชาติ - BOTLC
หรือเว็บไซต์ ศูนย์การเรียนรู้ธนาคารแห่งประเทศไทย
“การเรียนรู้เรื่องการเงินไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน แต่ควรเริ่มต้นจากสถาบันครอบครัว ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการปลูกฝังทัศนคติและนิสัยทางการเงินที่ดีให้กับเด็ก ๆ เพราะวัยเด็กเป็นวัยที่เหมาะที่สุดสำหรับการปลูกฝังการเรียนรู้ด้านการเงิน เพื่อนำพาให้เขาเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีวินัยทางการเงิน
กิจกรรม ฟิน FAMILY จึงถูกออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้เรื่องการเงินในรูปแบบที่สนุกสนานและสร้างสรรค์ ทำให้บ้านกลายเป็นพื้นที่ที่ทุกคนในครอบครัวสามารถเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องเงินได้อย่างเป็นธรรมชาติ” คุณวรรณา วัฒนาศิริวิโรจน์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายกลยุทธ์สื่อสารและความสัมพันธ์องค์กร ธปท. เล่าถึงความเป็นมาของกิจกรรม และย้ำชัดว่า การให้ความรู้ทางการเงินคือหนึ่งในภารกิจของ ธปท. ซึ่งคล้องกับเป้าหมายระยะยาว ที่มุ่งให้คนไทยมีทักษะทางการเงินเพื่อป้องกันก่อนเกิดปัญหาในอนาคต

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา