25 เม.ย. เวลา 01:43 • สุขภาพ

เคยรู้สึกหงุดหงิดใจกับพฤติกรรมบางอย่างของคนอื่นไหมครับ?

ผมเชื่อว่าหลายคนคงจะตอบอย่างรวดเร็วว่า “เคย!”
ผมเองก็เคยครับ – แถมยังบ่อยเสียด้วย!
สิ่งหนึ่งที่สร้างความหงุดหงิดใจให้กับผมบ่อยๆคือการที่ผมเห็นพฤติกรรมประเภท “ฉันไม่พอใจเธอนะ แต่ฉันเลือกที่จะเงียบแทนที่จะหยิบความไม่พอใจดังกล่าวมาคุยกับเธอตรงๆ”
ถ้าย้อนเวลากลับไปสมัยที่ผมยังเด็กๆ เมื่อไหร่ก็ตามที่ผมเจอกับพฤติกรรมประเภทนี้ ในใจผมจะเกิดความคิดว่า “จะเงียบไปทำไมกันเล่า!? กลัวอะไรอยู่ล่ะ!? กล้าๆหน่อยสิ! จะขี้ขลาดตาขาวไปถึงไหน!?”
อย่างไรก็ตาม พอผมได้เข้ามาเรียนจิตวิทยาและได้มีโอกาสเข้ารับบริการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมและเพื่อนๆร่วมรุ่นของผมทุกคนจะต้องเจอ) ผมก็ได้ค้นพบว่า จริงๆแล้ว ผมไม่ได้รู้สึกหงุดหงิดกลุ่มคนเหล่านั้นที่แสดงพฤติกรรมดังกล่าว
ผมได้ค้นพบว่า จริงๆแล้ว ผมรู้สึกหงุดหงิดตัวเอง
เพราะตัวผมเองก็มีพฤติกรรมที่ “ขี้ขลาดตาขาว” นี้อย่างชัดเจนเลยทีเดียว! (โดยเฉพาะกับแฟนเก่าของผมแต่ละคนที่ผมเลือกที่จะเงียบแทนที่จะพูดกับแฟนเก่าว่า “สิ่งที่เธอพูด/ทำเมื่อกี้…ฉันรู้สึกไม่โอเคนะ” เพราะผมกลัวที่จะจุดประเด็นความขัดแย้งภายในความสัมพันธ์)
หลังจากที่ผมได้ค้นพบว่า “เป้าหมาย” ของความหงุดหงิดนี้ไม่ได้อยู่ที่ตัวคนอื่น (แต่อยู่ที่ตัวผมเอง) สิ่งที่ผมสังเกตเห็นก็คือ ความรู้สึกหงุดหงิดดังกล่าวนั้น มันอาจจะไม่ได้หายไปจากใจผมหรอกนะครับ
แต่ระดับความเข้มข้นของความหงุดหงิดนั้น มันได้ลดลงอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
นอกจากนี้ ผมยังพบว่าตัวเองก็เริ่มเรียนรู้ที่จะกล้าทำในสิ่งที่ผมกลัว (ซึ่งก็คือการสื่อสารความไม่พอใจของตัวเองกับคนใกล้ตัว) มากขึ้นอีกด้วย
กรณีที่ผมหยิบมาเล่าให้ฟังนี้ มันอาจจะไม่ใช่ “คำอธิบาย” สำหรับทุกความหงุดหงิดที่เรามีต่อคนอื่นนะครับ
แต่ในกรณีที่มันใช่ (เหมือนกรณีที่ผมยกตัวอย่างของผมเองในข้างต้น) การมองเห็น “เบื้องหลัง” ความหงุดหงิดของเราอย่างชัดเจน (ว่ามันคือเรื่องของเรา ไม่ใช่เรื่องของคนอื่น) ถือเป็นอะไรที่ทรงพลังไม่น้อยเลยครับ
โฆษณา