Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
คาลอส บุญสุภา
•
ติดตาม
26 เม.ย. เวลา 03:46 • ปรัชญา
ศิลปะแห่งรอยแตก: แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์โดยไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ
ผมอ่านเจอประโยคที่น่าใจมาก “The first draft of anything is shit.” (ฉบับร่างแรกของทุกสิ่งมันห่วยแตกทั้งนั้น) คำกล่าวนี้มาจาก เออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ (Ernest Hemingway) นักประพันธ์รางวัลโนเบล เหตุที่ผมนสนใจเนื่องจาก ใคร ๆ ก็คิดว่าเวลาที่เราจะเริ่มต้นทำอะไร มันจะต้องผ่านการวางแผนไว้อย่างดี โดยเฉพาะวัฒนธรรมไทยของเรา
แต่ในทางกลับกันเฮมิงเวย์ที่เป็นนักประพันธ์ระดับโนเนลกลับบอกให้เรา เริ่มต้นก่อนแล้วค่อยกลับมาแก้ไขภายหลัง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความสมบูรณ์แบบตั้งแต่วินาทีแรก กล่าวคือ แม้แต่นักเขียนระดับตำนานยังเชื่อว่าฉบับร่างแรกย่อมเต็มไปด้วยรอยด่างรอยดิบซึ่งจำเป็นต่อกระบวนการขัดเกลาให้กลายเป็นงานที่ดีในตอนท้ายได้
เมื่อได้เจอข้อความนี้ผมเชื่อมโยงไปที่เรื่องของการแก้ไขปัญหาโดยทันที เพราะหลายคติดกับดักว่า “ต้องคิดให้ครบ ต้องถูกตั้งแต่แรก” จนไม่กล้าขยับ แต่ถ้าเรายอมรับว่าทางออกขั้นต้นย่อมมีช่องโหว่เหมือนร่างแรกของต้นฉบับ ในทางกลับกันหากเราสร้างต้นแบบ หรือแนวทางคร่าว ๆ ขึ้นมาก่อน จากนั้นจึงทดสอบ รับฟีดแบ็ก และปรับแก้เป็นรอบ ๆ ซึ่งสอดคล้องกัลบกระบวนการ Design Thinking ที่พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้ได้วิธีแก้จริงเร็วกว่า
กล่าวอีกอย่างคือ ร่างแรกที่ไม่สมบูรณ์ทำหน้าที่เปิดเกมให้ข้อมูลหรือความคิดใหม่ ๆ ไหลเข้ามา ถ้าไม่เริ่ม เราจะไม่มีอะไรให้เรียนรู้เลย เราจะต้องไม่ลืมว่าความผิดพลาดคือการเรียนรู้ เช่นเดียวกันเราสามารถวางวิธีแก้ดิบ ๆ และปรับกลยุทธ์จากข้อผิดพลาด สรุปคือ ยิ่งกล้าพลาดเร็วเท่าไร ก็ยิ่งพบคำตอบที่ใช้การได้เร็วขึ้นเท่านั้น
แน่นอนว่าในโลกปัจจุบันปัญหามีความซับซ้อนมากขึ้น การหาทางออกแบบเดิม ๆ ไม่ง่ายเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องสร้างสรรค์วิธีการจัดการปัญหาใหม่ ๆ เรียกสิ่งนี้ว่า "การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์" หมายถึง การผสานจินตนาการกับเหตุผลเพื่อคิดแนวทางใหม่ ทดลอง และปรับแก้ จนได้วิธีออกจากข้อจำกัดเดิมอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำใคร
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์ไม่ใช่การเฟ้นหาคำตอบสมบูรณ์แบบ แต่คือการโอบรับความเป็นไปได้แล้วปล่อยให้ข้อบกพร่องพาเราไปพบหนทางใหม่ แม้หลายครั้งเราจะคาดหวังว่า การแก้ปัญหาคือการแก้ที่สาเหตุ แต่จริง ๆ แล้วในโลกปัจจุบันมันเป็นไปได้ยากอย่างมาก ดังนั้นหากเราลดระดับความคาดหวังลง และมองโปรเจ็กต์หนึ่งเป็นเพียงขั้นบันไดสู่โปรเจ็กต์ถัดไป เราจะกล้าลองผิดลองถูกมากขึ้น กระบวนการจึงกลายเป็นพื้นที่เล่นสนุก
คีย์เวิร์ดของบทความนี้จึงเป็น "ปล่อยให้ข้อบกพร่องพาเราไปพบหนทางใหม่" ทำให้ผมนึกถึงแนวคิด คินสึงิ ของช่างปั้นญี่ปุ่นช่วยย้ำว่า "รอยแตก” ไม่ได้ลดค่าผลงาน การตะไบรอยร้าวให้เรียบแล้วหล่อทองลงไป กลับทำให้ถ้วยใบเดิมงดงามและแข็งแรงกว่าเดิม เช่นเดียวกับหอเอนเมืองปิซาที่เกิดจากข้อผิดพลาดทางวิศวกรรม แต่กลายเป็นสถาปัตยกรรมขึ้นชื่อระดับโลก
ความไม่สมบูรณ์เหล่านี้สอนว่า เวลาเราประกอบชิ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อตอบปัญหา เราไม่จำเป็นต้องพรางความผิดพลาด ควรใช้มันเป็นพลังเล่าเรื่องและสร้างหนทางที่เป็นเอกลักษณ์แทน ยิ่งเรากล้ายอมรับแผลเป็นส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นความกลัว ความกังขา หรือข้อจำกัดด้านทักษะมากเท่าไร เราก็ยิ่งมีวัสดุอันอุดมสำหรับแปรรูปเป็นความคิดสร้างสรรค์มากเท่านั้น
ดังนั้นการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์จึงเริ่มจากการเพิ่มพื้นที่ทดลอง เราจะต้องตั้งโจทย์ว่าเราไม่ได้ลงสนามเพื่อชนะในครั้งเดียว แต่ลงเพื่อเล่นและเก็บข้อมูล เมื่อเป้าหมายขยับจากต้องสมบูรณ์แบบมาเป็นต้องเรียนรู้ให้มากที่สุด การมีคอนเซ็ปความคิดแบบนี้จะทำให้เรายอมรับได้เมื่อตัวเองล้ม เพื่อก้าวถัดไปได้รวดเร็ว
เพราะสิ่งสำคัญมิใช่การควบคุมทุกตัวแปรให้ไร้ที่ติ แต่คือการโอบรับทุกความเป็นไปได้ที่เกิดระหว่างทาง แล้วใช้พลังของความไม่สมบูรณ์แบบนั้น ขยายขอบเขตจินตนาการสู่คำตอบที่ทั้งงดงามและคาดไม่ถึง
อ้างอิง
Rubin, R. (2023). The Creative Act: A Way of Being. Penguin Press
พัฒนาตัวเอง
แนวคิด
ปรัชญา
บันทึก
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย