27 เม.ย. เวลา 06:34 • การเมือง

ลุกลามบานปลาย “อินเดีย” กับ “ปากีสถาน” ขัดแย้งครั้งใหม่ จากเหตุก่อการร้าย

สืบเนื่องจากข้อพิพาทที่คาราคาซังของ “จัมมู และ แคชเมียร์”
ย้อนกลับไปเมื่อ 22 เมษายนที่ผ่านมา ได้มีกลุ่มก่อการร้ายโจมตีกลุ่มนักท่องเที่ยวในหุบเขา Baisaran “ไบซารัน” ใกล้กับเมือง Pahalgam “พาฮาลแกม” ในแคว้นจัมมูและแคชเมียร์ทางตอนเหนือของอินเดีย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 26 ราย รวมถึงชาวเนปาล 1 ราย ทำให้เป็นเหตุโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายที่นองเลือดที่สุดในอินเดีย นับตั้งแต่กลุ่มก่อการร้ายไอเอสโจมตีมุมไบเมื่อปี 2008
ความรับผิดชอบในการโจมตีครั้งนี้ได้รับการอ้างโดยกลุ่ม Resistance Front ซึ่งเป็นองค์กรของกลุ่มญิฮาด Lashkar-e-Taiba (ภาษาอูรดู แปลว่า “กองทัพผู้ชอบธรรม”) ที่ไม่ค่อยมีใครรู้จัก ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในแคชเมียร์ส่วนที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน [1]
แคชเมียร์เป็นแคว้นที่อินเดียและปากีสถานขัดแย้งกันมาอย่างยาวนานเกือบ 80 ปี ทั้งสองฝ่ายปะทะกันก็หลายครั้ง ประชาชนพื้นเมืองส่วนใหญ่ที่นั่นเป็นมุสลิม เป้าหมายที่ระบุไว้ของ Lashkar-e-Taiba คือการแยกแคชเมียร์ออกจากอินเดียทั้งหมด อย่างไรก็ตามนักรบจำนวนมากของกลุ่มเป็นชาวอินเดียมุสลิม
กลุ่มผู้สนับสนุน Jamaat-ud-Dawa ซึ่งเชื่อมโยงกับกลุ่ม Lashkar-e-Taiba เครดิตภาพ: Mohsin Raza / ASIA CLJ CRIM CWP
พยานบุคคลเล่าว่า มีคนร้ายถามนักท่องเที่ยวว่าพวกเขาเป็นชาวฮินดูหรือมุสลิม แล้วก็ตามมาด้วยการเปิดฉากยิงคนฮินดูทิ้ง พวกเขาละเว้นผู้หญิงอย่างน้อยหนึ่งคนซึ่งกำลังมีลูกน้อย และสามีของเธอถูกสังหาร [2]
กองกำลังความมั่นคงของอินเดียได้เผยแพร่ภาพเหมือนของผู้ต้องสงสัยก่อการร้าย 3 ราย ซึ่งสเก็ตช์ภาพโดยตำรวจอ้างอิงจากคำอธิบายของผู้เห็นเหตุการณ์ ไม่ทราบจำนวนผู้ก่อเหตุทั้งหมด การค้นหาผู้ก่อการร้ายยังคงดำเนินต่อไปในหุบเขาไบซารัน นายกรัฐมนตรีอินเดีย “นเรนทรา โมดี” สัญญาว่าพวกเขาจะต้องตามตัวให้พบจนได้ “ทุกซอกทุกมุม” [3]
1
แนวร่วมต่อต้านระบุว่าสาเหตุโดยตรงของการโจมตีของกลุ่มก่อการร้ายคือการที่ทางการอินเดียออกใบอนุญาตให้ก่อสร้างที่อยู่อาศัยในแคชเมียร์สำหรับผู้คนกว่า 80,000 คน โดยคาดว่าผู้อพยพเหล่านี้น่าจะมาจากพื้นที่อื่นๆ ของอินเดีย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวฮินดู ซึ่งจะทำให้โครงสร้างประชากรของพื้นที่พิพาทเปลี่ยนแปลงไป
2
รัฐบาลอินเดียไม่ได้ออกแถลงการณ์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของปากีสถานในการโจมตีครั้งนี้หรือไม่ แต่ท่าทีและการกระทำของรัฐบาลอินเดียทำให้เชื่ออย่างชัดเจนว่ารัฐบาลปากีสถานมีส่วนร่วมไม่มากก็น้อยต่อเหตุครั้งนี้ หนึ่งวันหลังจากการโจมตี อินเดียปิดพรมแดนกับปากีสถานและยกเลิกวีซาที่ออกให้ชาวปากีสถาน พวกเขามีเวลาสามวันในการออกจากอินเดียทันที
กลุ่มผู้ประท้วงชาวอินเดียเผาธงชาติปากีสถานหลังเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ เครดิตภาพ: Biju Boro / AFP
อิชาค ดาร์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศของปากีสถาน กล่าวถึงการตอบโต้ของอินเดียต่อการโจมตีครั้งนี้ว่า “ยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจนและรีบร้อนเกินไป” และเรียกร้องให้อินเดีย “หากมีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าปากีสถานมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เมืองพาฮาลแกม โปรดแจ้งและโชว์ให้เราเห็นและรวมถึงต่อองค์กรนานาชาติด้วย” [4]
ปากีสถานตอบโต้การกระทำของอินเดียด้วยการปิดพรมแดนสำหรับผู้คนและสินค้า และปิดน่านฟ้าสำหรับสายการบินอินเดีย ทั้งสองฝ่ายยังขับไล่ทูตจำนวนมากและขู่ว่าจะถอนตัวจาก “ข้อตกลงหยุดยิงทวิภาคี” และ “ข้อตกลงแบ่งปันน้ำแม่น้ำสินธุ” (Indus River หรือ แม่น้ำสินธุ) และ อิชาค ดาร์ ต้องเลื่อนการเยือนบังกลาเทศเนื่องจากวิกฤตทางการทูตที่เกิดขึ้นกับอินเดีย [5]
1
Lashkar-e-Taiba ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้ายไอเอสเพียงกลุ่มเดียวในปากีสถาน แต่ต่างจากกลุ่มอื่นๆ ตรงที่กลุ่มนี้ประกาศต่อสาธารณะอยู่บ่อยครั้งว่า ไม่ถือว่าระบอบการปกครองโดยใช้หลักศาสนานำของปากีสถานเป็นปริปักษ์ กลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ยาวนานกับหน่วยข่าวกรองของกองทัพปากีสถาน ซึ่งใช้หน่วยข่าวกรองเป็นเครื่องมือในการเผชิญหน้ากับอินเดีย (แม้ว่าทางการจะปฏิเสธเรื่องนี้ก็ตาม)
ข้อตกลงแบ่งปันน้ำแม่น้ำสินธุ (The Indus Waters Treaty) เครดิตภาพ: Open source / Kashmir Times
การโจมตีที่เมืองพาฮาลแกม เชื่อว่าเป็นการโจมตีรัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกโมดี ในเรื่องนโยบายจัมมูและแคชเมียร์ เมื่อไม่นานนี้ เมื่อธันวาคม 2023 โมดีได้ดำเนินการตามแผนที่วางไว้มานานในการลิดรอนอำนาจปกครองตนเองของแคว้นตอนเหนือที่เป็นข้อพิพาทนี้ โดยเขาพยายามให้รัฐบาลกลางอินเดียมีอำนาจในการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ รวมถึงในภาคการท่องเที่ยวด้วย
เมื่อปลายปี 2023 “ศาลสูงสุดของอินเดีย” ได้อ่านคำตัดสินให้ “แคว้นจัมมูและแคชเมียร์” สูญเสียสถานะการปกครองตนเองอย่างเป็นทางการ ซึ่งได้รับการสงวนให้เป็นเขตปกครองพิเศษในภูมิภาคนี้ตั้งแต่ช่วงกลางศตวรรษที่ 20 [6]
ในทางกลับกันสถานะใหม่ของ “จัมมูและแคชเมียร์” ทำให้กองกำลังรักษาความมั่นคงของอินเดียมีอำนาจมากขึ้นในภูมิภาคนี้ ในสุนทรพจน์ครั้งแรกหลังเหตุโจมตีนักท่องเที่ยว โมดีประกาศว่า “ถึงเวลาแล้วที่จะทำลายแหล่งหลบภัยของผู้ก่อการร้าย [ในแคชเมียร์] ให้สิ้นซาก” ซึ่งอาจหมายถึงการปราบปรามองค์กรมุสลิมในภูมิภาคนี้เพิ่มมากขึ้น [3]
เครดิตภาพ: Indian Express
เป็นเวลากว่า 70 ปีแล้วที่เกิดความขัดแย้งขึ้นใน “จัมมูและแคชเมียร์” ซึ่งเริ่มต้นหลังจากที่อินเดียได้รับเอกราชจากจักรวรรดิอังกฤษและปากีสถานได้แยกตัวออกมาตั้งประเทศ การตัดสินใจของอินเดียครั้งใหม่นี้เกี่ยวกับสถานะรัฐทางตอนเหนือทำให้สถานการณ์ในภูมิภาคนี้เลวร้ายลงอย่างแน่นอน ฝ่ายต่อต้านในพื้นที่ได้รายงานเรื่องการจับกุมและคุมตัว และเกรงกันว่า “การสู้รบครั้งใหญ่ระหว่างอินเดีย-ปากีสถาน ครั้งที่ 4” จะเริ่มต้นขึ้น
ทางเพจขอสรุปเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับข้อพิพาทด้านดินแดนที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในเอเชียแห่งนี้ไว้ดังต่อไปนี้
  • ความขัดแย้งในแคชเมียร์มีพื้นฐานมาจากการแบ่งแยกอินเดียในสมัยอาณานิคม เกิดจากความแตกต่างทางศาสนาระหว่างชาวฮินดูและมุสลิม
การเจรจาเพื่อขอเอกราชของอินเดียจากจักรวรรดิอังกฤษในช่วงทศวรรษ 1940 ดำเนินการโดยสองฝ่ายประกอบด้วยตัวแทนของชาวฮินดูและมุสลิม ได้แก่ “สภาแห่งชาติอินเดีย” และ “สันนิบาตมุสลิมแห่งอินเดีย: All-India Muslim League (AIML)” เมื่ออังกฤษตกลงที่จะให้เอกราชแก่อาณานิคมในปี 1947 พวกเขาจึงตัดสินใจแบ่งประเทศออกเป็นสองรัฐ ได้แก่ อินเดียและปากีสถาน เพื่อหลีกเลี่ยงความแตกต่างทางการเมืองและศาสนา
3
ในสมัยอาณานิคมอินเดีย นักการเมืองที่เป็นมุสลิมมักได้รับการเลือกปฏิบัติแยกต่างหากในองค์กรนิติบัญญัติระดับภูมิภาค กอปรกับความไม่พอใจต่อสถานะที่เป็นชนกลุ่มน้อยในเกือบทุกรัฐทำให้เกิดความรู้สึกถึงความแบ่งแยกดินแดนในหมู่ชาวมุสลิม ทางการอังกฤษเกรงว่าหากอินเดียได้รับเอกราชเป็นรัฐเดียว ประเทศจะแตกออกอันเนื่องจาก “สงครามกลางเมือง” [7]
1
เครดิตภาพ: IGES
“มูฮัมหมัด อาลี จินนาห์” ผู้นำกลุ่ม AIML พยายามยืนยันว่าศาสนาไม่ควรเป็นเกณฑ์หลักในการกำหนดความเป็นรัฐ เขาเชื่อว่าพลเมืองทุกคนมีสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการนับถือศาสนา ดังนั้นการแบ่งแยกดังกล่าวจึงไม่มีความหมาย อย่างไรก็ตามในช่วงกลางทศวรรษ 1940 ความตึงเครียดระหว่างชาวมุสลิมและชาวฮินดูขยายไปถึงระดับที่อังกฤษเลือกที่จะไม่เสี่ยงใดๆ
ปัญหาหลักของการแบ่งประเทศตามหลักความเชื่อทางศาสนาเกิดจากการที่มีตัวแทนของทั้งสองกลุ่มอาศัยอยู่ในทุกรัฐของอินเดียในสมัยนั้น การที่มีนโยบายของรัฐบาลอังกฤษกำหนดไว้ทำให้ผู้คนในอาณานิคมอินเดียต้องรีบย้ายออกจากดินแดนที่หลายคนใช้ชีวิตมาทั้งชีวิต สิ่งนี้นำไปสู่การบังคับย้ายถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อย 14 ล้านคนและก่อให้เกิดการจลาจลครั้งใหญ่ซึ่งทำให้ประชากรประมาณสองล้านคน (ในดินแดนของสองประเทศปัจจุบัน อินเดียและปากีฯ) เสียชีวิต
อังกฤษในตอนนั้นได้ตระหนักแล้วว่า พวกเขาสูญเสียการควบคุมสถานการณ์แล้ว จึงละทิ้งอาณานิคมเดิมและทิ้งให้หน่วยงานปกครองท้องถิ่นที่ตั้งขึ้นมาใหม่จัดการกับปัญหาด้านมนุษยธรรมในประเทศกันเอง
อ้างอิง: [8]
ภาพรถไฟขบวนหนึ่งอัดแน่นไปด้วยผู้พลัดถิ่นในเมืองอัมริตซาร์ ชายแดนอินเดียและปากีสถาน เมื่อปี 1947 เครดิตภาพ: Mary Evans Picture Library 2013
หนึ่งในภูมิภาคที่ตึงเครียดที่สุดระหว่างการแบ่งอาณานิคมอินเดียคือ “แคชเมียร์” ซึ่งเป็นดินแดนที่มีพื้นที่รวมประมาณ 222,000 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ภูเขาทางตะวันตกเฉียงเหนือของคาบสมุทรฮินดูสถาน ประชากรประกอบด้วยมุสลิมประมาณ 75% และชาวฮินดูประมาณ 20% ถ้าดูตามการนับถือศาสนาของผู้คนในพื้นที่แล้ว ดินแดนนี้ควรจะเป็นส่วนหนึ่งของปากีสถาน
อย่างไรก็ตามในตอนนั้น “แคชเมียร์มีสถานะเป็นรัฐมหาราชา” (หมายถึง รัฐที่ปกครองโดยเจ้าพื้นเมืองอินเดีย) และโดยการตัดสินใจของอังกฤษ ทำให้ผู้ปกครองของรัฐนี้สามารถเลือกประเทศใหม่ที่จะเข้าร่วมได้ “ฮารี ซิงห์” เจ้าผู้ปกครองแห่งรัฐแคชเมียร์ดันนับถือศาสนาฮินดู แต่ไม่ชอบผู้นำของสภาแห่งชาติอินเดียเป็นการส่วนตัว ดังนั้นเขาจึงพยายามดำเนินการตามแผนของเขาเอง โดยประกาศให้รัฐแคชเมียร์เป็นรัฐเอกราช [7]
ซิงห์ล้มเหลวในการปกป้องเอกราชของรัฐแคชเมียร์ ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1947 กองกำลังติดอาวุธของชาวปาชตุนที่นับถือศาสนาอิสลามได้บุกแคชเมียร์จากดินแดนของปากีสถาน [9]
1
เจ้าผู้ปกครองได้หันไปขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอินเดียและถูกบังคับให้ลงนามข้อตกลงร่วมกับอินเดีย ตามเงื่อนไขดังกล่าวทำให้แคชเมียร์ได้รับสถานะเอกราชแบบพิเศษพร้อมรัฐธรรมนูญและธงของตนเอง
“ฮารี ซิงห์” เจ้าผู้ปกครองแห่งรัฐแคชเมียร์ในสมัยอังกฤษปล่อยให้อินเดียได้รับเอกราช ได้ลงนามข้อตกลงกับรัฐบาลอินเดียแลกกับความช่วยเหลือในการต่อต้านกลุ่มกองกำลังปาชตุนที่มาบุก เครดิตภาพ: Sandipan Sharma / The Federal
หลังจากซิงห์เซ็นข้อตกลงกับรัฐบาลอินเดีย นายกรัฐมนตรีอินเดียในตอนนั้น “ชวาหระลาล เนห์รู” ได้ส่งกองกำลังไปยังแคชเมียร์เพื่อช่วยขับไล่การรุกรานของกองกำลังมุสลิมจากปากีสถาน เมื่อถึงฤดูใบไม้ร่วงปี 1947 กองทัพอินเดียสามารถปลดปล่อยแคชเมียร์ได้เกือบทั้งหมด แต่ยังมีดินแดนเล็กๆ ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน
จากนั้นสหประชาชาติก็เข้ามาแทรกแซงต่อความขัดแย้ง โดยประกาศว่าหากการตัดสินใจของเจ้าผู้ปกครองขัดต่อความปรารถนาของประชากรส่วนใหญ่ ผู้อยู่อาศัยในดินแดนจะต้องจัดให้มีการลงประชามติและตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมกับประเทศใด
1
นักการทูตระหว่างประเทศในตอนนั้นเสนอแนะให้กองทัพอินเดียและปากีสถานระงับความขัดแย้งและถอนกำลังออกจากแคชเมียร์ก่อน เพื่อให้มีการลงประชามติให้เสร็จสิ้นก่อน แต่ทั้งสองฝ่ายปฏิเสธ “สงครามอินเดีย – ปากีสถาน” ครั้งแรกจึงเริ่มขึ้นซึ่งกินเวลาตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 1947 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 1948 จบลงด้วยการพักรบตามมติครั้งใหม่ของสหประชาชาติ
“ในมุมมองของอินเดีย - แคชเมียร์เข้าร่วมกับอินเดียอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการสนับสนุนขบวนการกบฏและการรุกรานของทหารของปากีสถานถือเป็นการกระทำที่ก้าวร้าว ส่วนในมุมมองของปากีสถาน - ซิงห์ไม่มีสิทธิ์ผนวกแคชเมียร์เข้ากับอินเดีย เนื่องจากเขาไม่ได้ตัดสินใจเช่นนั้นในทันที (เมื่ออังกฤษเริ่มแบ่งดินแดนอาณานิคม) นอกจากนี้ประชากรส่วนใหญ่ในดินแดนยังเป็นมุสลิม” ฟิลิป คอนสเตเบิล ผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์เอเชียอธิบาย [10]
กองกำลังติดอาวุธของชาวปาชตุนได้บุกแคชเมียร์จากดินแดนของปากีสถาน เมื่อปี 1947 เครดิตภาพ: MARGARET BOURKE-WHITE/THE LIFE PICTURE COLLECTION
  • ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 อินเดียและปากีสถานต่อสู้กันในแคชเมียร์อีกสองครั้ง และจีนก็เข้ามาแทรกแซงด้วย
ในปี 1951 การเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญครั้งแรกจัดขึ้นที่แคชเมียร์ โดยพรรคแห่งชาติจัมมูและแคชเมียร์ได้รับที่นั่งทั้งหมด 75 ที่นั่ง ซึ่งสนับสนุนการเข้าร่วมกับอินเดียโดยสมบูรณ์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเตือนล่วงหน้าว่าไม่ได้ถือว่าการลงคะแนนเสียงครั้งนี้เป็นการแสดงออกถึงเจตจำนงของประชาชนในเรื่องสัญชาติ แต่ทางการอินเดียมั่นใจว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้พวกเขาเข้ามาควบคุมดินแดนพิพาทได้อย่างสมบูรณ์
ทว่าไม่เป็นเช่นนั้น ในที่สุดแคชเมียร์ก็ถูกแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ “รัฐจัมมูและแคชเมียร์ภายใต้อินเดีย” และ “รัฐอาซาดแคชเชียร์ที่ประกาศปกครองตัวเองซึ่งแท้จริงแล้วอยู่ภายใต้ของปากีสถาน”
ความพยายามของทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ได้รับการสนับสนุนจากนานาชาติในอีก 20 ปีข้างหน้าไม่บังเกิดผล และในช่วงต้นทศวรรษ 1960 “จีนโดดร่วมวงความขัดแย้ง” ด้วยการสร้างถนนผ่านแคชเมียร์ส่วนที่อินเดียปกครอง ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1962 “สงครามชายแดนจีน-อินเดีย” ได้เริ่มขึ้น พบว่าจีนได้ครอบครองภูมิภาคอัคไซจินซึ่งกินพื้นที่ประมาณ 20% ของรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ตอนนี้แคชเมียร์ได้แบ่งออกเป็นสามส่วนแล้ว [11]
1
เครดิตภาพ: Twitter/@PraveenOni
ในช่วงกลางทศวรรษ 1960 ปากีสถานซึ่งในเวลานั้นได้กระชับความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจกับจีนและสหภาพโซเวียตให้แน่นแฟ้นขึ้นได้เรียกร้องให้มีการลงประชามติอีกครั้งเกี่ยวกับสถานะของดินแดนที่เป็นข้อพิพาท แต่นายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยนั้น “เนห์รู” ปฏิเสธที่จะร่วมด้วย จนทำให้กองกำลังปากีสถานได้เคลื่อนทัพออกจากอาซัดแคชเมียร์
ในช่วงปลายฤดูร้อนและต้นฤดูใบไม้ร่วงปี 1965 ปากีสถานมั่นใจในความเหนือกว่าของกองทัพตน จึงได้ส่งกองกำลังก่อวินาศกรรมหลายครั้งเข้าไปในดินแดนแคชเมียร์ส่วนของอินเดียและพยายามเริ่มสงครามกองโจร อินเดียตอบโต้ด้วยการโจมตีชายแดนทางใต้ของปากีสถานทั้งหมด ทำให้เกิด “สงครามอินเดีย-ปากีสถาน ครั้งที่สอง” กินเวลา 23 วัน แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขความขัดแย้งใดๆ ต่างฝ่ายต่างกลับคืนสู่จุดเดิม
ยิ่งไปกว่านั้น “สงครามอินเดีย-ปากีสถาน ครั้งที่สอง” ยิ่งทำให้ความขัดแย้งภายในรุนแรงขึ้น เพราะย้อนกลับไปในทศวรรษที่ 1940 ปากีสถานมีสองภูมิภาคที่ไม่ได้มีพรมแดนติดกันโดยตรง โดยตั้งอยู่ทางตะวันตกและตะวันออกของอินเดีย “การาจี” เป็นเมืองหลวงของปากีสถานตะวันตก ซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมากกว่าปากีสถานตะวันออก (ปัจจุบันคือบังกลาเทศ)
ปากีสถานตะวันตกเป็นผู้อ้างสิทธิ์ในแคชเมียร์ ในขณะที่ชาวเบงกาลีจากปากีสถานตะวันออกมองว่าการเผชิญหน้ากับอินเดียเป็นความขัดแย้งในต่างประเทศ
1
เครดิตภาพ: Dimpal Pathak / World BEYOND War
ในช่วงปลายทศวรรษ 1960 พรรคสันนิบาตอาวานี (AL) ซึ่งปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนเบงกาลี ชนะการเลือกตั้งในปากีสถาน ตามรัฐธรรมนูญจึงสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ทำให้ปากีสถานตะวันออกมีความคิดที่อยากจะได้รับเอกราช เพื่อป้องกันเรื่องนี้ “ยาห์ยา ข่าน” ประธานาธิบดีปากีสถานในตอนนั้นได้สั่งควบคุมตัวผู้นำของ AL และส่งกองกำลังไปยังปากีสถานตะวันออก และได้เริ่มกวาดล้างประชาชนเบงกาลี สงครามกลางเมืองเริ่มขึ้นในประเทศ
“อินทิรา คานธี” นายกรัฐมนตรีอินเดียในสมัยนั้นสนับสนุนกลุ่มกบฏอาวานี ในเดือนธันวาคม 1971 กองทัพอินเดียเข้าสู่ดินแดนของปากีสถานและเอาชนะกองทัพของรัฐบาลปากีสถานได้ภายในสองสัปดาห์ นี่ถือเป็น “สงครามอินเดีย-ปากีสถาน ครั้งที่สาม” การสนับสนุนจากอินเดียทำให้ปากีสถานตะวันออกได้รับเอกราชและก่อตั้งรัฐเอกราชขึ้นมาใหม่ นั่นคือ “ประเทศบังกลาเทศ” [12]
เมื่อปี 1972 อินเดียและปากีสถานที่อ่อนแอลงได้สรุปข้อตกลงในเมืองชิมลาของอินเดีย ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าแคชเมียร์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งอยู่ภายในอาณาเขตเดียวกันในช่วงเวลาที่มีการหยุดยิงกัน
”อินทิรา คานธี” อดีตนายกรัฐมนตรีอินเดีย เครดิตภาพ: India Today
  • แม้ว่าความขัดแย้งจะยุติลง แต่สถานการณ์ในแคชเมียร์ก็ยังคงวุ่นวายเนื่องจากการก่อความวุ่นวายหวังผลด้านการเมือง
ตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970 กลุ่มหัวรุนแรงหลายกลุ่มได้ก่อความวุ่นวายในดินแดนแคชเมียร์ส่วนของอินเดีย ซึ่งประกอบด้วยชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อแสวงหาการก่อตั้งรัฐเอกราช หนึ่งในนั้นคือแนวร่วมปลดปล่อยจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากหลังการเลือกตั้งระดับภูมิภาคในปี 1987 เยาวชนชาวแคชเมียร์จำนวนมากหันมาสนับสนุนแนวร่วมมุสลิมยูไนเต็ด ซึ่งเป็นพรรคที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลอินเดียเข้ามามีส่วนร่วมในดินแดนแคชเมียร์น้อยที่สุด [13]
ถึงกระนั้นพรรคแห่งชาติจัมมูและแคชเมียร์ซึ่งภักดีต่อเดลีมาอย่างนานยังคงได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในภูมิภาค ชาวมุสลิมซึ่งไม่พอใจในผลการเลือกตั้งจึงเริ่มเข้าร่วมแนวร่วมปลดปล่อยและขบวนการเอกราชอื่นๆ เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่นั้นมาจำนวนการโจมตีจากกลุ่มก่อการร้ายเพื่อหวังผลทางการเมืองก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในแคชเมียร์ ตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2000
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในแคชเมียร์ได้วางเพลิงทำลายสะพานข้ามแม่น้ำสำคัญ ภาพถ่ายเมื่อปี 1990 เครดิตภาพ: Robert Nickelsberg / Getty Images
ในปี 1995 กลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มหนึ่งลักพาตัวนักท่องเที่ยว 6 คน เป็นชาวอังกฤษ 2 คน อเมริกัน 2 คน เยอรมัน 1 คน และนอร์เวย์ 1 คน หนึ่งในนั้นสามารถหลบหนีได้ ส่วนอีกคนหนึ่งถูกตัดศีรษะ ที่เหลือยังไม่ทราบชะตากรรม [14]
ในปี 1999 นายกรัฐมนตรีอินเดีย “อาตัล พิฮารี วัจปายี” ตกลงที่จะจัดการเจรจาเกี่ยวกับแคชเมียร์กับนายกรัฐมนตรี “นาวาซ ชารีฟ” ของปากีสถาน อย่างไรก็ตามความขัดแย้งบริเวณชายแดนในเขตคาร์กิลได้นำไปสู่ความตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง
หลังจากนั้นไม่มีการสู้รบขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ (ในระดับที่เรียกว่าสงครามอินเดีย-ปากีสถาน) แต่มีการยิงปืนใหญ่เกิดขึ้นที่ชายแดนเป็นประจำ กลุ่มอิสลามและกลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังคงปฏิบัติการอยู่ในดินแดนของอินเดีย หนึ่งในนั้นกลุ่มที่เรียกว่า Jaish-e-Mohammed ได้จัดการโจมตีขบวนรถตำรวจในเขต Pulwama ของแคชเมียร์เมื่อปี 2019 [15]
การโจมตีขบวนรถตำรวจในแคชเมียร์โดยกลุ่ม Jaish-e-Mohammed เมื่อปี 2019 เครดิตภาพ: The Economic Times
  • บทสรุปส่งท้าย
การยกเลิกสถานะปกครองตนเองของจัมมูและแคชเมียร์เมื่อปี 2023 จะทำให้อินเดียนำไปสู่การปราบปรามฝ่ายต่อต้านในท้องถิ่น (รวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่ส่วนกลาง) แต่อาจยังนำไปสู่สงครามระดับภูมิภาคครั้งใหม่ได้ด้วย และเหตุการณ์ในปีนี้ 2025 ก็เป็นสัญญาณเตือนให้เห็นแล้ว
ย้อนไปเมื่อปี 2019 ตามคำพูดของ Ghulam Nabi Azad ผู้นำฝ่ายค้านในจัมมูและแคชเมียร์ “ทางการอินเดียกำหนดเคอร์ฟิวในแคชเมียร์และควบคุมตัวนักการเมืองท้องถิ่น และอดีตหัวหน้ารัฐบาลของจัมมูและแคชเมียร์ เมห์บูบา มุฟตี ถูกกักบริเวณในบ้านเป็นเวลาหลายเดือนโดยไม่มีการตั้งข้อหาใดๆ”
ในความเห็นของมุฟตีนั้นการสูญเสียอำนาจปกครองตนเองของแคชเมียร์อาจมี “ผลที่ตามมาอย่างหายนะต่ออนุทวีป” และยังกล่าวหารัฐบาลอินเดียว่าพยายามฮุบดินแดนนี้และคุกคามประชาชน “อินเดียหลอกลวงแคชเมียร์และไม่รักษาสัญญา” มุฟตีกล่าวเสริม
อ้างอิง: [16][17]
เมห์บูบา มุฟตี อดีตหัวหน้ารัฐบาลของจัมมูและแคชเมียร์ เครดิตภาพ: jkpdp.in
เรียบเรียงโดย Right Style
27th Apr 2025
  • เชิงอรรถ:
<เครดิตภาพปก: หน้าปกนิตยสาร The Economist / Bhaskar English>
โฆษณา