28 เม.ย. เวลา 11:30 • ยานยนต์

วิธีฟื้นฟูแบตเตอรี่รถยนต์

แทนที่จะซื้อแบตเตอรี่รถยนต์ใหม่เพื่อมาแทนที่แบตเตอรี่ที่หมด ก็ซื้ออุปกรณ์ราคาถูก หรือหาช่างแบตเตอรี่ที่รับทำ เพื่อชุบชีวิตแบตเตอรี่ที่หมดไฟ แบตเตอรี่เก่าบางลูกนั้นหมดไฟหรือไม่สามารถเก็บประจุได้อีกต่อไป เนื่องจากมีซัลเฟตเกาะติดกับแผ่นครีบโละในตัวแบตฯจนไม่สามารถเก็บประจุไฟฟ้าได้อีก
แต่เครื่องขจัดซัลเฟตแบตเตอรี่ อาจทำให้แบตเตอรี่ที่หมดสภาพ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง การกลับมาใช้งานได้ใหม่ ไม่ได้หมายความว่าคุณจะได้แบตเตอรี่ลูกใหม่ การฟื้นฟูขึ้นอยู่กับสภาพของแบตฯเอง ถ้าแก่เกินแกง ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งยังไง แบตฯที่พยายามฟื้นคืนสภาพอาจใช้งานได้ไม่นานก็เจ๊งอีก และการเจ๊ง หมายถึงคุณสตาร์ทไม่ได้ ไปหรือกลับไม่ถึงบ้าน นั่นหมายถึงไปไฟหมดกลางทางนั่นเอง
มีโอกาสสูงที่วันหนึ่งคุณกำลังจะออกไปทำธุระข้างนอก เมื่อหมุนกุญแจ หรือกดสวิชท์สตาร์ท แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น....นอกจากความเงียบงันที่ไร้ชีวิตชีวา มีเสียงแต๊กๆแต่..ไดสตาร์ทมันไม่หมุน เพราะไฟในแบตเตอรี่ไม่พอ หรือไฟไม่มีเหลือเลยแม้แต่จะฉุดให้ไดทำงานก็ยังทำไม่ได้ ไฟโชว์แบตฯติดหราคาตลอด นั่นแสดงว่าแบตฯของคุณไฟไม่พอ ไฟหมด แบตฯเริ่มเก็บประจุจากการชาร์จของไดชาร์จได้ไม่เหมือนเดิม หรือพูดง่ายๆก็คือ แบตฯคุณได้ลาจากโลกนี้ไปแล้ว
ในความเป็นจริง โดยเฉพาะการใช้รถยนต์ ไม่มีอะไรอยู่ได้ตลอดไป โดยเฉพาะกับอุปกรณ์จ่ายกระแสไฟอย่างแบตเตอรี่ หากโชคดี สามารถสตาร์ทรถหรือเอาแบตเตอรี่ไปที่ร้านอะไหล่รถยนต์ และแบตเตอรี่ส่วนใหญ่ก็จะฟื้นคืนชีพได้ การชาร์จแบตเตอรี่ที่หมดสภาพให้กลับมาเก็บไฟได้เป็นเรื่องที่น่ายินดีโดยเฉพาะสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ต้องเน้นความประหยัดและใช้เงินอย่างคุ้มค่า
1
การประหยัดโดยลองเอาแบตฯเก่ากลับไปอัดไฟใหม่ให้เต็ม ถ้าแบตฯยังรับกระแสไฟเข้าไปเก็บได้และกลับมาทำงานได้เหมือนเดิมก็ถือเป็นเรื่องที่น่าพอใจมาก เพราะแบตฯใหม่ลูกนึงปาเข้าไป 3500-6000 บาท หรือบางที อาจแพงกว่านั้นถ้าเป็นรถยุโรปรุ่นใหม่ๆ ที่ใช้แบตเตอรี่แบบไม่ต้องเติมน้ำกลั่น
เมื่อถึงเวลาที่แบตเตอรี่หมดประจุ ไม่สามารถชาร์จได้อีก หรือสามารถชาร์จได้แต่ก็ไฟหมดเร็ว เมื่อมีโหลดหรือใช้ไฟมากเกินไป สามัญสำนึกมักจะบอกให้เจ้าของรถส่วนใหญ่ทำการเปลี่ยนแบตเตอรี่ทันที
แต่.....ลองหาวิธีที่จะประหยัดเงินในช่วงที่เศรษฐกิจโงหัวไม่ขึ้นหาเงินหาทองยาก การชุบชีวิตแบตเตอรี่ที่หมดประจุให้กลับมาใช้งานได้เป็นสิ่งที่ควรจะลองทำ แต่ก็อย่างที่บอกไปว่า...เมื่อฟื้นฟูแล้ว แบตฯจะกลับมาใช้งานได้มั้ย มาในสภาพไหน อยู่นานหรือหรือใช้ไปแค่ไม่กี่วันก็เจ๊งอีกแล้ว นั่นไม่มีใครตอบได้นอกจากคุณจะต้องทำตัวเป็นหนูลองยาซะเอง
รถที่จอดนาน แบตเตอรี่ที่ทำงานด้วยกลไกเคมีซึ่งผสมกัน จะมีการแยกชั้นของของเหลว (น้ำกรด - น้ำกลั่น) ทำให้มีซัลเฟต ลักษณะเป็นตะกอนสีขาว เกาะสะสมอยู่บนแผ่นตะกั่ว ซัลเฟตถือเป็นตัวร้ายที่คอยขัดขวางการไหลของกระแสไฟฟ้า ทำให้แบตเตอรี่สูญเสียพื้นที่ในการเก็บประจุ ส่งผลให้แบตเตอรี่เก็บประจุไฟได้น้อยลง รถที่จอดนาน ๆ จึงมักจะมีปัญหารถสตาร์ทไม่ติด
แบตเตอรี่ทำงานโดยอาศัยปฏิกิริยาเคมี และเคมีของแบตเตอรี่ตะกั่วกรด ไม่ใช่สิ่งที่ชอบปล่อยประจุเป็นเวลานาน แบตเตอรี่ตะกั่วกรดเมื่อเริ่มวงจรการใช้งานก็จะเริ่มเสื่อมสภาพไปเรื่อยๆ
ซัลเฟต ผลึกซัลเฟตขนาดเล็กที่ก่อตัวขึ้น เป็นเรื่องปกติและไม่เป็นอันตราย แต่ ในระหว่างที่ชาร์จไม่เพียงพอ หรือวิ่งนานพอจนไดชาร์จสามารถประจุไฟใส่แบตเตอรี่จนเกือบเต็ม การวิ่งระยะสั้นๆ เป็นประจำ หรือหนักไปในทางจอดมากกว่าขับ ซัลเฟตตะกั่ว จะเปลี่ยนเป็นผลึกที่เสถียรและเกาะบนแผ่นขั้วลบ ทำให้เกิดผลึกขนาดใหญ่ขึ้นฃ กลายเป็นสารออกฤทธิ์ต่อแบตเตอรี่ซึ่งเป็นตัวการที่ทำให้แบตเตอรี่ทำงานลดลง
หากแบตเตอรี่ได้รับการซ่อมบำรุงเร็ว ซัลเฟตแบบกลับคืนได้มักจะได้รับการแก้ไข...โดยการชาร์จเกินให้กับแบตเตอรี่ที่ชาร์จเต็มแล้วในรูปแบบของกระแสไฟฟ้าที่ควบคุมได้ประมาณ 200mA แรงดันไฟที่ขั้วแบตเตอรี่ สามารถเพิ่มขึ้นได้ระหว่าง 2.50 ถึง 2.66 โวลต์ต่อเซลล์ (15 และ 16 โวลต์บนบล็อกโมโน 12 โวลต์) เป็นเวลาประมาณ 24 ชั่วโมง
การเพิ่มอุณหภูมิแบตเตอรี่เป็น 50–60°C (122–140°F) ในระหว่างการซ่อมแซมจะช่วยละลายผลึกซัลเฟตได้มากขึ้น ส่วนการเกิดซัลเฟตถาวร เกิดขึ้นเมื่อแบตเตอรี่อยู่ในสถานะการชาร์จต่ำ หรือไม่ได้ชาร์จเป็นเวลานานหลายเดือน นานต่อเนื่องกันจนแบตฯเสื่อมสภาพจากซัลเฟตท่ีเกาะจนเน่า
การฟื้นฟูแบตด้วยวิธีทางเคมี
ช่างจะเติมสาร Additive ลงในแบตเตอรี่ น้ำยาฟื้นฟูแบตเตอรี่ที่มีสารเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการแตกตัวของผลึกซัลเฟตที่เกาะอยู่บนแผ่นธาตุ ทำให้แบตเตอรี่สามารถเก็บประจุไฟได้ดีขึ้น
เปลี่ยนน้ำกรด วิธีนี้เหมาะสำหรับแบตเตอรี่ตะกั่วกรดแบบเติมน้ำกลั่น โดยจะทำการถ่ายน้ำกรดเก่าออกแล้วเติมน้ำกรดใหม่ลงไป ซึ่งจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกและตะกอนที่สะสมอยู่ในแบตเตอรี่
การฟื้นฟูแบตด้วยการใช้ไฟฟ้า
ใช้เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ เครื่องชาร์จแบตเตอรี่บางรุ่นจะมีโหมดพิเศษที่ออกแบบมาเพื่อฟื้นฟูแบตเตอรี่โดยเฉพาะ อย่างเช่น เครื่องชาร์จแบตเตอรี่ CTEK จากสวีเดน ที่มีโหมด Recond หรือ Recondition ซึ่งเป็นโหมดที่เพิ่มขึ้นมาเพื่อใช้ในการฟื้นฟูแบตเตอรี่ ด้วยการปล่อยกระแสไฟเป็นจังหวะ ด้วยโวลต์ที่สูง ๆ ต่ำ ๆ กระตุ้นให้เกิดการคนของเหลวในแบตเตอรี่เข้าด้วยกัน ทำให้สารละลายในแบตเตอรี่ก็กลับมาเป็นเนื้อเดียวกัน และสลายซัลเฟตที่มาเกาะกับแผ่นตะกั่ว คืนพื้นที่ในการเก็บประจุไฟให้กับแบตเตอรี่
ไม่ใช่แบตเตอรี่ทุกก้อนที่จะกลับมาใช้งานได้ดีเหมือนเดิม การฟื้นฟูแบตเตอรี่ไม่มีความแน่นอนว่า แบตเตอรี่ที่ฟื้นคืนชีพแล้วจะใช้งานได้นานแค่ไหน และไม่สามารถบอกได้ว่าแบตเตอรี่จะมีความจุเท่าใดหลังจากการฟื้นฟู.
อาคม รวมสุวรรณ
โฆษณา