29 เม.ย. เวลา 01:24 • สุขภาพ

หลายคนพบว่า ไม่ว่าพวกเขาจะมีแฟนกี่คน พวกเขาล้วนแต่จะเจอแฟนที่ปฏิบัติกับพวกเขาแย่ๆทั้งนั้น

ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำพูดดูถูกต่อว่าเหยียดหยาม การวางท่าทีเมินเฉยราวกับว่าพวกเขาเป็น “อากาศธาตุ” เวลาที่พวกเขาอยากพูดคุยด้วย การนอกใจ การทำร้ายร่างกาย ฯลฯ
พวกเขาอดไม่ได้ที่จะสงสัยอยู่ในใจว่า “ทำไม?”
ทำไมพวกเขาถึงได้เจอแต่ “แฟนห่วยๆ” มาโดยตลอดแบบนี้?
สาเหตุหนึ่งที่สามารถตอบข้อสงสัยนี้ได้ (สำหรับกรณีของหลายๆคน) คือสิ่งที่นักจิตวิทยาเราเรียกว่า repetition compulsion ครับ
มันคือการที่เราเคยเจอกับความสัมพันธ์ที่แย่มาในอดีต ส่งผลให้เราพาตัวเองเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่แย่ๆแบบนั้นในอนาคต (โดยที่เราเองก็อาจจะไม่ทันรู้ตัว)
ยกตัวอย่างเช่น เราเกิดมาในครอบครัวที่ผู้ใหญ่ในบ้านจะถือคติ “ทำดี = เสมอตัว, ทำชั่ว = โดนด่า” พอเราโตขึ้นและเรามีแฟน แฟนของเราแต่ละคนก็มักจะนิ่งเฉยกับสิ่งดีๆที่เราทำให้ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เราพูดหรือทำอะไรที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม หรือไม่ถูกใจแฟนขึ้นมา แฟนก็จะพร้อมที่จะต่อว่าเราด้วยคำพูดรุนแรงเสมอ เป็นต้น
ท่านผู้อ่านบางส่วนอาจจะสงสัยนะครับว่า ทำไมคนเราถึงมีเจ้า repetition compulsion นี้ด้วย? ในเมื่อความสัมพันธ์แบบนี้มันแย่ เราควรที่จะหลีกเลี่ยงมันไม่ใช่หรือ? ทำไมกลไกการทำงานของจิตใจมนุษย์จึงผลักดันให้เราพาตัวเองไปหาสิ่งที่เรารู้ว่ามันแย่ตั้งแต่แรกอีกเล่า?
นั่นเป็นเพราะว่า การรักษาความสัมพันธ์กับคนอื่นคือกุญแจสำคัญที่ทำให้มนุษย์เราเอาตัวรอดได้ (โดยเฉพาะในสมัยโบราณที่หากเราถูก “เนรเทศ” ออกจากเผ่า มันการันตีได้เลยครับว่าเราจะต้องตายแน่ๆ เพราะโลกในยุคนั้นเต็มไปด้วยอันตรายรอบด้าน)
ดังนั้น การที่เรามี repetition compulsion และพาตัวเอง (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม) เข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่เลวร้ายเหมือนที่เคยเจออีกครั้งหนึ่งนั้น เป็นเพราะเรามีความหวังลึกๆว่า ครั้งนี้ เราจะได้นำบทเรียนที่เรามีกับความสัมพันธ์ในอดีต (เช่น ความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ในบ้าน) มาใช้พัฒนาความสัมพันธ์ในปัจจุบัน (เช่น ความสัมพันธ์กับแฟน) นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากเราวางท่าทีในความสัมพันธ์ครั้งใหม่ในลักษณะที่ไม่ต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับความสัมพันธ์ในอดีต มันมีความเป็นไปได้อยู่เหมือนกันครับว่า ต่อให้ความสัมพันธ์ครั้งใหม่จบลง เราก็จะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ลักษณะนี้ในอนาคตอีก (ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม)
ยกตัวอย่างเช่น
ตอนที่เราถูกผู้ใหญ่ในบ้านเลี้ยงดูด้วยคติ “ทำดี = เสมอตัว, ทำชั่ว = โดนด่า” เราเลือกที่จะเงียบเพราะเรากลัวที่จะสื่อสารกับผู้ใหญ่ว่า เราเสียใจและไม่พอใจที่ได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น (เพราะเรากลัวว่าผู้ใหญ่จะไม่พอใจและทอดทิ้งเรา)
พอเราโตขึ้นมา เราเจอแฟนที่นิ่งเฉยเวลาที่เราทำสิ่งดีๆแต่ต่อว่าด้วยคำพูดรุนแรงทุกครั้งที่เราทำหรือพูดในสิ่งที่แฟนไม่ถูกใจ และเราก็เลือกที่จะเงียบเพราะเรากลัวที่จะพูดกับแฟนว่าเราเสียใจและไม่พอใจที่ได้รับการปฏิบัติแบบนี้ (เพราะเรากลัวว่าแฟนจะไม่พอใจและทอดทิ้งเราเช่นกัน) ในกรณีลักษณะนี้ ต่อให้เราจะเลิกกับแฟนคนนี้และคบกับแฟนคนใหม่ มันมีโอกาสอยู่เหมือนกันครับที่เราจะเลือกคบกับแฟนคนใหม่ที่ “เข้าอีหรอบเดิม”
เป็นต้น
หากเราต้องการจะเป็นอิสระจาก repetition compulsion สิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยเราได้คือการเรียนรู้จากความสัมพันธ์ในอดีตและไม่ทำให้ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” กับความสัมพันธ์ครั้งใหม่ (เช่น เราเคยนิ่งเงียบเพราะกลัวถูกผู้ใหญ่ทอดทิ้ง แต่ในความสัมพันธ์กับแฟน เราตัดสินใจที่จะไม่ปล่อยให้ความกลัวถูกแฟนทอดทิ้งมา “ปิดปาก” เราอีก)
ในมุมหนึ่ง สิ่งที่เกิดขึ้นมันคล้ายๆกับเวลาที่เรียนหนังสือเลยครับ – หากเรายัง “สอบไม่ผ่าน” เราก็จะต้อง “ซ้ำชั้น” ไปเรื่อยๆๆๆ จนกว่าเราจะ “สอบผ่าน” ในท้ายที่สุดครับ
อ้างอิง
Engel, Beverly. (2025). Put Your Past in the Past: Why You May Be Reenacting Your Trauma and How to Stop. Minneapolis, MN: Broadleaf Books.
โฆษณา