1 พ.ค. เวลา 06:05 • ประวัติศาสตร์

การบริหาร “จักรวรรดิ” ให้ประสบความสำเร็จ

การบริหาร “อาณาจักร” หรือ “จักรวรรดิ” ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จักรวรรดิหลายๆ แห่งที่ยิ่งใหญ่นั้นล้มเหลวหลังจากยิ่งใหญ่มานาน
ผมไปเจอบทความหลายบทความที่วิเคราะห์หลักการสู่ความสำเร็จของจักรวรรดิ การบริหารให้ประสบความสำเร็จ
หลักการนั้นมีอะไรบ้าง ลองมาวิเคราะ์กันดูแล้วท่านผู้อ่านลองตัดสินเอานะครับว่าจริงหรือไม่
1.อย่าผลักภาระหรือออกคำสั่งแก่ประชาชนในประเทศมากจนเกินไป
เหตุผลหนึ่งที่ “สาธารณรัฐโรมัน (Roman Republic)” ล่มสลาย ก็คือการผลักภาระต่างๆ ไปยังประชาชนชาวโรมัน
ในช่วงยุค 100 ปีก่อนคริสตกาล ชายชาวโรมันต้องถูกเกณฑ์ให้เข้ารับใช้กองทัพ ทำให้ไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุข ทำให้เกิดจลาจลที่นำไปสู่การล่มสลายของสาธารณรัฐในเวลาต่อมา
ในทางกลับกัน ในคราวที่เป็น “จักรวรรดิโรมัน (Roman Empire)” ซึ่งมีกองทัพขนาดเล็ก ประกอบด้วยทหารมืออาชีพจำนวนไม่มากนัก และรับกองทหารจากนอกดินแดน
โรมันในเวลานั้นกลับอยู่ได้นานเป็นศตวรรษ
และแน่นอน สิ่งที่ต่างออกไปจากจักรวรรดิโรมันก็คือ ไม่มีการผลักภาระให้ประชาชน ไม่ได้บังคับเกณฑ์ทหาร
เช่นเดียวกัน “จักรวรรดิบริติช (British Empire)” ซึ่งไม่มีการเกณฑ์ทหารก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็อยู่ยืนยงได้นานนับศตวรรษ
อันที่จริง บริติชหรืออังกฤษ ได้พึ่งพิงกองทัพอาสา ทหารรับจ้างต่างดินแดน และนายทหารฝีมือดีที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
แต่เมื่อมาดูฝรั่งเศสใต้การปกครองของ “นโปเลียน โบนาปาร์ต (Napoleon Bonaparte)” และ “จักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)” ซึ่งมีการเกณฑ์ทหารเพื่อสร้างกองทัพขนาดใหญ่ ก็ล่มสลายในเวลาเพียงไม่นาน
2.ปกครองผ่านตัวแทนและหุ่นเชิด
เหตุผลหนึ่งที่ “จักรวรรดิอ็อตโตมัน (Ottoman Empire)” สามารถอยู่ยืนยงได้เป็นเวลานานกว่า 600 ปี นั่นก็คือองค์สุลต่าน ซึ่งเป็นพระประมุข ไม่ได้พยายามจะปกครองดินแดนของพระองค์โดยตรง
สุลต่านทรงใช้รัฐหุ่นเชิดกับพันธมิตรเพื่อปกครองดินแดนส่วนใหญ่ โดยรัฐหุ่นเชิดนั้นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการปกครองโดยตรง และยังใช้เป็นกันชนระหว่างจักรวรรดิอ็อตโตมันกับศัตรูได้
ในปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาก็ใช้กลยุทธ์คล้ายๆ กัน นั่นคือแทนที่จะเข้ายึดครองประเทศอื่น สหรัฐอเมริกากลับใช้วิธีสนับสนุนด้านการเงินแก่เหล่าผู้ปกครองท้องถิ่น
การทำเช่นนี้ทำให้สหรัฐอเมริกาแทบจะไม่ต้องใช้กองทัพในการบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายต่างๆ โดยสหรัฐอเมริกาสามารถแผ่อิทธิพลเข้าไปในอเมริกาใต้ได้โดยแทบไม่ต้องให้ทหารไปประจำการเลย
ในทางกลับกัน สหภาพโซเวียตซึ่งใช้การรุกรานทางการทหารและขยายดินแดน ได้ล่มสลายแทบจะในชั่วข้ามคืนระหว่างค.ศ.1989 (พ.ศ.2532) และค.ศ.1991 (พ.ศ.2534)
และหากย้อนกลับไปไกลกว่านั้น อังกฤษก็เข้ายึดครองอินเดียโดยการสนับสนุนผู้ปกครองท้องถิ่น ซึ่งส่วนมากก็คือเจ้าชายองค์ต่างๆ โดยกลยุทธ์ก็คือ ทำให้อินเดียแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่ายและทำให้ยากจน
แต่ในไม่ช้า ชาวอินเดียก็เริ่มจะมองเจ้าชายเหล่านี้เป็นตัวบ่อนทำลายประเทศ ซึ่งเร่งไปสู่การล่มสลายในปีค.ศ.1947 (พ.ศ.2490) โดยเหล่าเจ้าชายก็ไม่มีแรงสนับสนุนเหลือเลยเมื่ออินเดียได้รับอิสรภาพ ทำให้เจ้าชายเหล่านี้สิ้นสุดอำนาจ
3.“ศาสนา” สิ่งที่ทรงอำนาจที่สุด
จักรวรรดิที่มีรากฐานมาจากศาสนา มักจะอยู่ได้ยาวนาน เช่น ศาสนาอิสลามนิกายซุนนีในจักรวรรดิอ็อตโตมัน ก็สามารถอยู่ได้นานกว่า 500 ปี
หนึ่งในวิธีการที่ชาญฉลาด นั่นก็คือองค์สุลต่านทรงควบตำแหน่ง “เคาะลีฟะฮ์ (Caliph)” ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาอิสลามนิกายซุนนี
นั่นทำให้องค์สุลต่านเป็นทั้งองค์จักรพรรดิและผู้นำทางศาสนา เหล่ามุสลิมนิกายซุนนีก็ไม่สามารถต่อต้านได้ หากทำการกบฏหรือต่อต้านองค์สุลต่าน ก็เท่ากับเป็นพวกนอกรีต ต่อต้านศาสนา
4.เลือกตัวแทนให้ดีและระมัดระวัง
สงครามของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามนั้นล้มเหลวก็เนื่องจากการคอร์รัปชั่นและความอ่อนด้อยของรัฐบาลเวียดนามใต้ และความล้มเหลวของเจ้าหน้าที่อเมริกันในการตระหนักถึงปัญหานี้ ก็นำไปสู่ความล้มเหลวในเวลาต่อมา
สหรัฐอเมริกาได้เดินซ้ำรอยความล้มเหลวเดิมในอัฟกานิสถานและอิรัก โดยสหรัฐอเมริกานั้นไม่สามารถจัดการกับปัญหาผู้นำที่ไร้ความสามารถ
การจะหาตัวแทนและพันธมิตรที่มีความสามารถนั้นอาจจะเป็นเรื่องยาก แต่หากทำได้สำเร็จ จักรวรรดินั้นก็จะมีอายุยืนยง
อำนาจของอังกฤษในอินเดียนั้นยั่งยืนไปนานเกือบ 200 ปี สาเหตุก็เนื่องจากอังกฤษสามารถจัดการกับเหล่าผู้นำท้องถิ่นต่างๆ ได้อย่างดี
5.เรียนรู้ที่จะแบ่งแยกและยึดครอง
อังกฤษเข้าครอบครองยุโรปเป็นเวลากว่า 200 ปี โดยใช้วิธีการให้ชาติต่างๆ ในยุโรปเป็นศัตรูกันเอง
“จักรวรรดิไบแซนไทน์ (Byzantine Empire)” ก็อยู่รอดมาได้กว่า 500 ปีด้วยการทำให้ชาติต่างๆ ขัดแย้งกันเอง ก่อนจะฉวยโอกาสเข้ายึดอำนาจซะเอง
หากว่าเอาปลากัดสามตัวใส่ลงในบ่อ ปลากัดสองตัวจะกัดกันเองเพื่อแย่งชิงพื้นที่ ในขณะที่ปลากัดตัวที่สามจะอยู่นิ่งๆ เฝ้ามองดูปลากัดทั้งสองตัวกัดกันจนตัวใดตัวหนึ่งตายลง
เมื่อปลากัดตัวหนึ่งตาย ตัวที่ชนะนั้น ถึงแม้จะชนะ แต่ก็ได้รับบาดเจ็บ หมดเรี่ยวแรง ไร้เกราะป้องกัน ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้
ปลากัดตัวที่สามจะอาศัยช่วงเวลานี้ เข้าโจมตี
ปลากัดตัวที่ชนะนั้น ถึงจะชนะมา แต่ก็ได้รับบาดเจ็บและหมดเรี่ยวแรง จึงไม่สามารถปกป้องตนเองได้ สุดท้ายก็ตาย
และพื้นที่ทั้งหมด ก็จะตกเป็นของปลากัดตัวที่สาม โดยที่ปลากัดตัวที่สามแทบไม่ต้องลงแรงอะไรเลย
6.เรียนรู้ที่จะยอมเสียบ้าง และถอยเมื่อสถานการณ์จวนตัว ไม่ดันทุรัง
อีกหนึ่งเหตุผลที่จักรวรรดิบริติชหรืออังกฤษ อยู่รอดมาเป็นเวลานานนั้น ก็คืออังกฤษถอยได้รวดเร็วหลังจากล้มเหลว
ในช่วง “การปฏิวัติอเมริกา (American Revolution)” อังกฤษก็ยกเลิกแผนการที่จะเข้ายึดครองสหรัฐอเมริกา หันเหไปยังอินเดียแทน
และในข่วงศตวรรษที่ 19 อังกฤษก็รุกรานดินแดนหลายแห่ง และถอยหลายครั้งเช่นกัน โดยที่ซึ่งอังกฤษเข้ารุกรานและถอนกำลังออกไปก็เช่น อาร์เจนตินา สหรัฐอเมริกา และเม็กซิโก
และนี่ก็อาจจะเป็นหลักการบางส่วนในการบริหารจักรวรรดิให้อยู่ยืนยง
โฆษณา