30 เม.ย. เวลา 10:10 • การเมือง

“ผู้ว่า สตง.” ยันไม่มีห้องดูหนัง-สกายเลานจ์ เก้าอี้ 9 หมื่น แค่ของผู้บริหาร

ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน แจงยิบ ปมเฟอร์นิเจอร์แพง เผยเก้าอี้ตัวละ 90,000 บาท สำหรับผู้บริหารแค่ชุดเดียว ส่วนเจ้าหน้าที่ทั่วไปนั่งเก้าอี้ราคาปกติ ยืนยันไม่มีห้องดูหนัง-สกายเลานจ์ในตึก สตง. เป็นเพียงรูปแบบห้องประชุม ด้านประธาน กมธ.ป.ป.ช. ยัน ผู้ว่า สตง. มาด้วยความสบายใจ “ธีรัจชัย” ถามกลับ ทำไมใช้ระบบเลือกแทนประมูล ใช้ชื่อ บ.คนไทย รับซองงานแทน
4
วันที่ 30 เม.ย. 2568 นายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน กล่าวถึงกรณีที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า โครงการก่อสร้างตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีราคาสูง ในการออกแบบสมมติมีเงินอยู่ 300 ล้านบาท จะสร้างสำนักงาน 1 หลังพร้อมอยู่ จึงไปจ้างคนมาออกแบบพร้อมครุภัณฑ์ในอาคาร และบอกว่าแต่ละชั้นจะใช้ครุภัณฑ์อะไรบ้าง
2
ซึ่งต้องมีการระบุชัดเจนว่าครุภัณฑ์มาจากห้างหรือร้านไหน สตง.มีหน้าที่ตรวจว่าการออกแบบและครุภัณฑ์นั้นเหมาะสมและเชื่อถือได้หรือไม่ กรณีที่เป็นข่าวเป็นครุภัณฑ์ที่อยู่ระหว่างการออกแบบ แต่จะเป็นครุภัณฑ์จริง ๆ ได้ ต้องมีการก่อสร้างเสร็จและนำมา โดยในคณะกรรมาธิการก็มีการสอบถามว่าจะมีการปรับลดราคาจริงหรือไม่ โดยหลังก่อสร้างเสร็จก็ต้องดูว่าเหมาะสมตามแบบราชการหรือไม่ ในส่วนราชการหากมีการปรับแบบ เพิ่มงานเท่ากับเพิ่มเงิน ลดงานก็เท่ากับลดเงิน ซึ่งปัจจุบันแบบของ สตง. ได้มีการลดเงิน
2
ส่วนกรณีฝักบัวราคากว่า 10,000 บาท เก้าอี้ห้องประชุมตัวละ 90,000 บาทนั้น นายมณเฑียร ชี้แจงว่า สตง.มีเจ้าหน้าที่ทั้งหมด 2,400 คน การสร้างบริษัทโดยปกติจะกำหนดว่าชั้นสูงที่เป็นพื้นที่ผู้บริหาร ดังนั้นครุภัณฑ์จะมีการออกแบบตามฐานะ เก้าอี้แพงมีเพียงชุดเดียว ก็คือเก้าอี้ของประธาน
และเก้าอี้ของกรรมการในห้องประชุม หลายคนเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ สตง. ทุกคนต้องนั่งเก้าอี้ตัวละ 90,000 บาท แต่ความจริงแล้วไม่ใช่ ไปดูรายละเอียดจากกรมบัญชีกลางได้ เจ้าหน้าที่เกิน 80% นั่งเก้าอี้ปกติ ส่วนฝักบัวนั้น ปัจจุบันทุกบริษัทต้องมีห้องน้ำ หากไปดูแบบของฝักบัวมีอยู่ 2 แบบ เมื่อทำจริงเอาทั้ง 2 แบบมารวมกัน ฝักบัวจึงแพง
นายมณเฑียร อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ออกแบบได้เสนอราคาครุภัณฑ์มา สตง.มีหน้าที่ดูว่าเหมาะสมหรือไม่ และดูว่าบริษัทผู้ออกแบบได้อ้างอิงครุภัณฑ์ชิ้นดังกล่าวมาจากร้านใด ราคาถูกต้องหรือไม่ ย้ำว่าเป็นขั้นตอนการออกแบบไม่ใช่ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง
ขณะที่ประเด็นเก้าอี้ตามฐานะหากเทียบตำแหน่งของบริหารในสำนักงานก็เทียบเท่าระดับรัฐมนตรี ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย สามารถศึกษาได้ว่าประธานเทียบเท่าตำแหน่งอะไร หรือตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเทียบเท่าตำแหน่งอะไร กฎหมายมีเขียนไว้
1
ส่วนที่มีการออกมาเปิดเผยว่ามีห้องฉายภาพยนตร์ในอาคารสำนักงาน สตง.นั้น นายมณเฑียร ชี้แจงว่า ทั้งหมดเรียกว่าห้องประชุม ย้ำว่าเป็นห้องประชุม หลังห้องประชุมจะเขียนว่าเป็นห้องแบบใด เช่น ห้อง class room และห้อง theater ย้ำว่าไม่มีห้องฉายภาพยนตร์ เป็นเพียงลักษณะของห้องประชุม จึงขอแก้ข่าวว่า สตง.ไม่มีห้องดูหนัง
ประธาน กมธ.ป.ป.ช. ยัน ผู้ว่า สตง. มาด้วยความสบายใจ
ด้านนายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ดพรรคเพื่อไทยในฐานะประธานคณะกรรมการกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ พร้อมด้วยนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม.พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ และนายมณเฑียร เจริญผล ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมนานกว่า 4 ชั่วโมง กรณีตึกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.แห่งใหม่) ถล่มจากเหตุแผ่นดินไหว
1
โดยนายฉลาด กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ผู้แทนราษฎรได้เชิญ ผู้ว่า สตง. พร้อมคณะทั้งหมด 19 คน มาหมดทั้งคณะทำงานที่ตึกใหม่ยังอยู่ไม่ได้ยังอยู่ตึกเก่าอยู่
ซึ่งได้มีการสอบถามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ในข้อคลางแคลงใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศมีข้อมูลหลั่งไหลมาจากทุกทิศ เช่น ประเด็นที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับตัวบุคคลที่มีการเซ็นรับรองแบบ และคนที่เซ็นรับรองแต่ไม่ใช่ผู้ควบคุมงาน มีตัวละครซึ่งให้การไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในเอกสารที่มีอยู่ โดยเฉพาะผู้ควบคุมงาน อย่างนายสมเกียรติ ชูแสงสุข ประธานอนุกรรมการคลินิกช่าง ภายใต้สภาวิศวกร และวุฒิสมาชิก สาขาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ที่บอกว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการควบคุมงานในฐานะผู้รับจ้างจาก สตง.
“แต่ทาง สตง.มีข้อเท็จจริงว่า ท่านเป็นหนึ่งในจำนวนผู้ที่มารับจ้าง ในฐานะบริษัทร่วมค้า PKW ท่านต้องเป็นวิศวกรภาคี เป็นผู้อาวุโส ซึ่งข้อเท็จจริงเหล่านี้ ทางตำรวจได้สอบสวน และทางกรรมาธิการก็เกิดความสงสัย ท่านผู้ว่ามาวันนี้มาด้วยความสบายใจ” นายฉลาดกล่าว
“ธีรัจชัย” พุ่งเป้า ออกแบบ-จัดซื้อฯ-คุมงาน
ขณะที่นายธีรัจชัย พันธุมาศ สส. พรรคประชาชน กรุงเทพมหานคร ในฐานะกรรมาธิการ ระบุว่า วันนี้เป็นการเข้าชี้แจงของผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินครั้งแรก และได้รับคำตอบอย่างชัดเจน สำหรับการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่นี้ คณะกรรมาธิการได้มุ่งเป้าในการติดตามเพิ่มเติมในสามประเด็น คือ การออกแบบ การจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน สำหรับการออกแบบ คณะกรรมาธิการถามว่าทำไม สตง. ใช้การเลือกแบบเฉพาะ แทนที่จะประมูลแบบก่อสร้างตามมาตรา 83 ของ พ.ร.บ.ประกวดแบบจัดซื้อจัดจ้าง
ซึ่งผู้ว่าการฯ ระบุว่าเป็นตึกที่มีความซับซ้อน และมีประกาศของกฎกระทรวงรองรับไว้ สำหรับการจัดซื้อจัดจ้าง คณะกรรมการตั้งข้อสังเกตว่ามีการใช้ระยะเวลาที่สั้นเพียงแค่ 1 เดือน ในการเลือกแบบก่อสร้าง นอกจากนี้การจัดซื้อจัดจ้างยังใช้ระบบ E-bidding หรือการประมูลงานทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ลดราคาไป 300 ล้านบาทในปี 2563
แต่ในปี 2562 ธนาคารโลกได้สั่งแบรนด์บริษัทแม่ที่รับเหมาก่อสร้างตึกนี้ รวมถึงสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ อย่างเช่น สะพานในประเทศชิลี แล้วเกิดเหตุถล่ม ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่าน่าจะเป็นข่าวที่แพร่ออกไปทั่วโลก แต่ทำไมยังใช้บริษัทนี้รับเหมาก่อสร้าง อีกทั้งยังมีการจดทะเบียนในประเทศไทยเพียงแค่หนึ่งปีเท่านั้น
รวมไปถึงการซื้อซองประมูลโครงการก่อน แต่ภายหลังไม่ทราบว่าเป็นเหตุผลอะไร ตนไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องของผลงานหรือไม่ จนต้องไปใช้ชื่อบริษัทในประเทศไทยที่มีผลงาน มารับซองต่อ เพราะตอนนี้ยังตั้งคำถาม ถึงหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้างหลักว่าเป็นของไทยหรือจีน ซึ่งจากข่าวที่ปรากฏนั้น นายธีรัจชัย ก็เห็นว่าเป็นความรับผิดชอบของบริษัทจีนส่วนใหญ่ แม้ว่าไทยจะถือหุ้นในโครงการ 51% และจีน 49%
ถามกลับ ทำไมใช้ระบบเลือกแทนประมูล ใช้ชื่อ บ.คนไทย รับซองงานแทน
ขณะที่ส่วนของการควบคุมงานใช้ระบบในการคัดเลือก ไม่ใช่ E-bidding ซึ่งตนนำความคิดเห็นของนักวิชาการออกมาเสนอในที่ประชุมว่า หากมีการฮั้วของบริษัทออกแบบบริษัทควบคุมงานและบริษัทก่อสร้าง ก็อาจจะมีการแก้ไขแบบโดยนัดแนะกันก่อน จากการสอบถาม เปิดเผยว่ามีการแก้ไขแบบถึง 9 ครั้ง
ซึ่งตนตั้งข้อสังเกตว่า การแก้ไขแบบก่อสร้างดังกล่าว ถือเป็นการลดต้นทุนจริงหรือไม่ จะมีผลกระทบอะไรที่ตามมาบ้าง ผู้ที่แก้ไขมีการสอบถามคณะกรรมการควบคุมงานของ สตง. หรือไม่ รวมถึงการควบคุมงานของวิศวกร ที่มีข่าวออกมาว่าถูกปลอมลายเซ็นออกมานั้น ก็ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะต้องได้รับการตรวจสอบ
นายธีรัจชัย ยังตั้งข้อสังเกตถึงการตรวจสอบวัสดุในการก่อสร้างของคณะกรรมการควบคุมการก่อสร้างจาก สตง. ว่า ถ้ามีการฮั้วจริง สิ่งเหล่านี้อาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ แต่ถ้าไม่เกิดก็ไม่เป็นอะไร ซึ่งตนก็มองว่าถ้าเป็นลักษณะนี้ กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง การควบคุมงาน การออกแบบ อาจจะยังไม่ละเอียดพอ ซึ่งทั้งหมดที่ตนได้รับการชี้แจงครั้งนี้ อยากจะตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า เป็นการบกพร่องผิดพลาดโดยสุจริตหรือไม่ หรือถูกต้องโดยทุจริตหรือไม่
นายธีรัจชัย ยืนยันว่า การตรวจสอบจะโยงไปถึงเจ้าหน้าที่ของ สตง. และการก่อสร้างทุกขั้นตอน ซึ่งตนอยากจะขอให้สำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้เข้าไปตรวจสอบภายในเพิ่มเติม เพราะ สตง.ไม่ใช่หน่วยงานรัฐทั่วไป จะใช้ระเบียบทั่วไปไม่ได้
โฆษณา