30 เม.ย. เวลา 16:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

นายกฯแจงรัฐพร้อมเร่งเครื่องศก. - ลงทุน หลังมูดี้ส์ลด Outlook ไทย

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “ภารกิจพลิกฟื้นเศรษฐกิจ : Mission Thailand” ตอนหนึ่งถึงกรณีบริษัท มูดี้ส์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลด Outlook ของไทย จาก Stable เป็น Negative ว่า
เรื่องนี้ไม่ใช่การให้คะแนนหรือให้เรตติ้ง แต่เป็นมุมมองของมูดี้ส์ว่า การเติบโตหรือศักยภาพการพัฒนาเศรษฐกิจลดน้อยลงอยู่ใน Negative ไม่ได้แปลว่า ไทยขาดความเชื่อมั่น แต่ปัจจัยที่ทางมูดี์ส์วัดคือการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และหลาย ๆ ประเทศ ก็ถูกปรับลด Outlook เป็น Negative เช่นกัน โดยกระทรวงการคลัง ก็ได้เฝ้าดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
"มูดี้ส์ ได้มองเศรษฐกิจไทยอ่อนแอหรือไม่ ศักยภาพเติบโตมีมากน้อยแค่ไหน เมื่อมีกำแพงภาษีสหรัฐฯ ส่งผลให้นโยบายของเราปั่นป่วนมากน้อยแค่ไหน รวมถึงความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นเป็นอุปสรรคทำให้การทำนโยบายหรือขับเคลื่อนเศรษฐกิจยากขึ้นหรือไม่" นายกฯ ระบุ
อย่างไรก็ตาม นายกฯ ยอมรับว่า สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำอย่างแรกคือ ต้องไม่ทำให้เขากังวล เตรียมการทางเศรษฐกิจให้ผ่านมรสุมไปให้ได้​ เพื่อ​ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นในเรื่องกำแพงภาษี ขณะเดียวกันต้องมองอนาคต​ มุ่งการหาเงินเข้าประเทศ​ที่เกิดขึ้นจริง​ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมในอนาคตที่เราลงทุนไปแล้วหรือรับคนลงทุนเข้ามาแล้วทั้ง ดาต้าเซ็นเตอร์ หรือ เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเงินลงทุนเหล่านี้ที่เข้ามาเป็นสิ่งสำคัญว่าจะทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนและเติบโต
ดังนั้นจึงต้องทำให้มั่นใจว่าการที่ GDP เติบโตขึ้น 3-4% อย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่ว่าปีนี้หายไป​ ปีหน้าขึ้นมา ต้องดูที่ความเติบโตอย่างต่อเนื่อง​ ต้องทำให้เต็มที่และสิ่งที่ต้องทำต่อ​ คือการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการลงทุนต่าง ๆ เมื่อสนับสนุนการลงทุนใหม่ ๆ บริษัทต่างชาติก็ต้องมาจดทะเบียนการลงทุน จะเกิดการลงทุนที่เข้ามา และเกิดการชักชวนให้นักลงทุนรายอื่น ๆ เข้ามาเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลพยายามทำอย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงปีที่ผ่านมา
ส่วนภาครัฐก็ต้องเร่งเรื่องของการลงทุน ซึ่งถือว่า เร่งการลงทุนตลอดปี​ 2567​ มากที่สุด ในรอบ 10 ปี โดยที่ 72% เป็นการลงทุนจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งก็ทำอย่างเต็มที่และได้ผลทุกกระทรวงที่ได้รับงบมาเกิดการจ้างงานเกิดขึ้นซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลเริ่มทำเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้สิ่งที่ประเทศไทยต้องทำเพิ่มเติมและสนับสนุนต่อ คือ การวิจัย และ การศึกษาให้มากยิ่งขึ้นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ให้ดียิ่งขึ้นทั้งในเรื่องการประมงภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรทุกอย่างต้องลงทุนเรื่องการวิจัยให้มากยิ่งขึ้น ข้อสุดท้ายที่ต้องทำคือการพัฒนาศักยภาพของคนซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ
สำหรับประเทศไทยทุกคนอาจจะทราบว่าในปี 2567 ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเติบโตช้า GDP ทั้งปีอยู่ที่ 2.5% แต่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายตัวเลขขยับขึ้นเป็น 3.2% แสดงให้เห็นว่าการเร่งเครื่องทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเกิดผลต่อไป แม้ว่าจะมีอุปสรรคผ่านเข้ามาทั้งแผ่นดินไหว และกำแพงภาษี
แต่รัฐบาลก็พยายามหาทางออกและพูดคุยกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาชน เพื่อหาคำตอบที่เป็นประโยชน์ เพราะเชื่อเสมอว่า ภาครัฐหลายส่วนหลายมุม เราไม่รู้วิธีทำแต่เราสามารถเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนได้ เพื่อที่จะได้ทำงานร่วมกันกับภาครัฐ
ตัวอย่างเช่น เรื่องกำแพงภาษี เอกชนที่ลงทุนในสหรัฐมีอะไรบ้าง แล้วรัฐสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง เราคงจะต้องสนับสนุนในเรื่องเหล่านี้ต่อไป เพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้มีนโยบายโดยตรงเพื่อที่จะช่วยให้นักลงทุนคนไทยไปลงทุนต่างประเทศ จึงอยากมุ่งเน้นเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น เพื่อให้เอกชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น
โฆษณา