7 ชั่วโมงที่แล้ว • ความคิดเห็น

เสียงที่ (ผู้นำ) ไม่ได้ยิน เมื่อสิ่งที่คาด กลายเป็นจริง “วิกฤติท่องเที่ยว และทุนเทา-ดำ”

มันน่าอึดอัดใจจริง ๆ ครับ ที่ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง ผู้ทำงานด้านการศึกษา วิจัย และติดตามความเคลื่อนไหวของจีนมาอย่างต่อเนื่อง ผมได้รับข้อมูลจากทั้งฝั่งไทยและจีน และพยายามใช้โอกาสนั้นส่งเสียงออกมาอย่างสร้างสรรค์ ด้วยความหวังว่าจะได้เห็นประเทศไทยก้าวหน้า มีระบบระเบียบ มีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้อย่างยั่งยืน
แต่เสียงเหล่านั้น กลับดูเหมือนจะถูกกลบหายไปในความวุ่นวายของสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายสิ่งที่เคยเตือนไว้กลับเกิดขึ้นจริงแบบ “เละ” เกินคาด โดยเฉพาะในวิกฤติการท่องเที่ยวไทยที่เกี่ยวพันกับเรื่องความปลอดภัย นักท่องเที่ยวจีน และ “ทุนสีเทา” ที่เข้ามาทำธุรกิจผิดกฎหมายในไทยโดยไร้การจัดการอย่างจริงจัง
ย้อนกลับไปในปี 2023 ผมเคยให้สัมภาษณ์กับ 联合早报 สื่อภาษาจีนในสิงคโปร์ ถึงความเสี่ยงของการฟื้นฟูการท่องเที่ยวไทยหลังยุคโควิด โดยเฉพาะรูปแบบ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” หรือ Zero-dollar Tour ที่อาจกลับมาหลอกหลอนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง หากเราไม่จัดการกับปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่หย่อนยาน ความปลอดภัย และการควบคุมทุนจีนสีเทา
ในบทสัมภาษณ์นั้น ผมได้เตือนว่า ตอนนั้นคือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่รัฐบาลควรเร่งจัดการกับปัญหาเหล่านี้ เพราะในเวลานั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ เที่ยวบินจีน-ไทยยังไม่กลับมามาก รายจ่ายของนักท่องเที่ยวยังไม่สูง และระบบยังไม่กลับไปสู่โหมดแข่งขันสูงสุด นั่นคือโอกาสทองของรัฐไทยในการวางมาตรการควบคุม ปรับโครงสร้าง และออกกฎหมายรองรับ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป
แต่เรากลับปล่อยให้ช่วงเวลานั้นผ่านไป และเมื่อเข้าสู่ปี 2024 กระแส “ฟรีวีซ่าถาวร” ไทย-จีน ก็กลับกลายเป็นการเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบไม่มีกลไกรองรับที่แข็งแรงพอ
ผมเองก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ The Standard เพื่อสะท้อนมุมมองถึงประโยชน์และความท้าทายของฟรีวีซ่าถาวร ว่าในขณะที่ทางการไทยเน้นเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ในมิติของการรักษาผลประโยชน์ของประเทศยังมีคำถามว่า เรามีกลไกที่เพียงพอแล้วหรือยัง ทั้งในเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย การจัดการทุนสีเทา การตรวจสอบทัวร์แบบปิดที่รายได้ไม่ได้หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไทยจริง
ผมยังได้ตั้งคำถามว่า ในขณะที่จีนมีการปรับปรุงกฎหมายการลงทุนจากต่างประเทศให้ชัดเจนและเอื้อต่อผลประโยชน์ของชาติตนเอง แต่ไทยเรา มีกรอบที่ชัดเจนในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติหรือไม่ โดยเฉพาะเมื่อเราต้อนรับชาวต่างชาติที่เพิ่มมากขึ้นผ่านฟรีวีซ่า และยังมีปัญหาเรื่องการทำอาชีพด้วยวีซ่าผิดประเภทอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญคือ เราไม่ควรมองว่าคนไทยจำนวนหนึ่งที่มีมุมมองลบต่อนักท่องเที่ยวจีนเป็นเรื่องที่ต้องห้ามหรือเพิกเฉย แต่ควรใช้โอกาสนี้ในการ “สื่อสาร” มากกว่าจะพยายามบังคับให้เข้าใจ และสร้างกฎระเบียบที่ชัดเจนว่าผู้มาเยือนสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจทั้งสองฝ่ายอย่างแท้จริง
ผมขอย้ำว่า ไม่เคยบอกว่าฟรีวีซ่าเป็นเรื่องไม่ดี ตรงกันข้าม ถ้ามีระบบรองรับดีพอ มันคือโอกาสสำคัญที่ช่วยส่งเสริมทั้งการท่องเที่ยว การลงทุน และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
และที่สำคัญคือ คนจีนจำนวนไม่น้อยที่เข้ามาอาศัยหรือทำธุรกิจในไทยอย่างมีคุณภาพก็มีอยู่มาก มีทั้งนักเรียน นักลงทุน ครอบครัวที่ใช้ชีวิตอย่างสงบ (ที่หลายคนมองว่า ไทยเราน่าอยู่ อยากย้ายจากจีนมาไทยระยะยาว) หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะเฉพาะทาง สิ่งเหล่านี้คือโอกาสที่ไทยควรส่งเสริม
แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องยอมรับว่า กลุ่มที่ไม่ดี กำลังปะทุ ทั้งทุนสีเทา ทัวร์ปิดเครือข่าย การเปิดธุรกิจแฝง การจ้างงานผิดประเภท หรือการทำผิดกฎหมายในลักษณะที่ไม่เกรงกลัวกฎหมายไทย สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เพิ่งเกิดจากกระแสสื่อ แต่มีมานานแล้ว เพียงแต่เพิ่งถูกพูดถึงมากขึ้น
เมื่อพูดถึงปัญหา ต้องมีข้อเสนอ และนี่คือสิ่งที่ภาครัฐ และทุกภาคส่วนควรเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง
1. เอาจริงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย
ไม่ใช่แค่สร้างภาพลักษณ์ว่ามั่นใจ แต่ต้องลงมือทำจริง ตรวจสอบจริง และไม่มีละเว้น ไม่ว่าจะถือสัญชาติใด
2. กวาดล้างนอมินี และทุนแฝง
ทั้งทุนจีนสีเทา และไทยเทา ไทยดำ ที่เปิดช่องให้ต่างชาติเข้ามาทำผิดกฎหมาย ต้องถูกจัดการอย่างเป็นระบบ
3. ปูพรมกวาดบ้านอย่างเงียบแต่ลึก
ไม่ต้องเอิกเกริก ไม่ต้องให้สื่อไปร่วมขบวน แต่ต้องลงพื้นที่แบบสุ่มตรวจ แฝงตัว สืบสวน เชิงรุก อย่างที่จีนเองยังทำอยู่ เช่น สุ่มโทร สุ่มตรวจเอกสาร เคาะประตูบ้านชาวต่างชาติ ตรวจสอบว่าถูกกฎหมายหรือไม่
4. ปรับยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวจาก “จำนวน” เป็น “คุณภาพ”
ไม่ต้องแข่งกันที่ตัวเลขหลายสิบล้านคนอีกต่อไป แต่ต้องเน้นคุณภาพ นักท่องเที่ยวที่จ่ายจริง เคารพกฎหมาย และสร้างรายได้ให้ระบบเศรษฐกิจไทยจริง
5. สื่อสารให้ชัดทั้งกับคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ไม่ใช่แค่ประชาสัมพันธ์ แต่ต้องให้ข้อมูลชัดว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ให้เข้าใจกันตรง ๆ ทั้งสองฝั่ง
6. คนไทยต้องมีที่ยืนในระบบ ไม่ใช่แค่ยืนดู
ไม่ใช่พึ่งแต่ฝ่ายจีนหรือรอคนกลาง ควรอบรมพัฒนาความรู้ด้านภาษาจีน กฎหมายจีน พฤติกรรมผู้บริโภค และโอกาสทางเศรษฐกิจให้ลึกซึ้ง
ต้องเน้นว่า คนไทยที่มีความรู้เรื่องจีนก็มีอยู่มาก ทั้งในแวดวงภาษา การศึกษา ธุรกิจ เราควรส่งเสริมคนกลุ่มนี้ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ ไม่ปล่อยให้เกิดระบบปิดที่เอาแต่คนจีนมาสวมบทบาทแทนคนไทย เช่น การสวมบัตรไกด์ คุมเส้นทางท่องเที่ยว แล้วคนไทยได้ประโยชน์เพียงเล็กน้อย
ไม่ได้หมายความว่าไม่ควรจ้างคนจีนเลย หากเขาเข้าทาทำงานถูกต้องตามกฎหมาย มีคุณสมบัติจริง และไม่เบียดเบียนโอกาสคนไทยก็จ้างได้ แต่ในเวลาเดียวกัน เราก็ต้องปกป้องสิทธิและโอกาสของคนไทยอย่างชัดเจน
ผมยังคงเชื่อว่า การพูดความจริงและตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ คือหน้าที่ของพลเมืองในสังคมประชาธิปไตย
แม้เสียงของผมอาจไม่ดังนัก แต่เมื่อเสียงเหล่านี้รวมเข้ากับเสียงของอีกหลายคน หลายสื่อ หลายภาคส่วนที่กำลังร่วมกันสะท้อนปัญหาในช่วงเวลานี้ ผมเชื่อว่าเสียงของเราจะเริ่มดังขึ้น และส่งแรงกระเพื่อมที่มีพลังจริง
ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ยืนหยัดด้วยความหวังดี ไม่ว่าจะอยู่ในภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน หรือสื่อมวลชน ที่ลุกขึ้นมาส่งเสียงเพื่อให้ประเทศไทยของเรากลับมาเข้มแข็งและก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในระยะยาว
เราไม่ต้องการประเทศที่แค่ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ต้องการประเทศไทยที่เป็นเจ้าบ้านอย่างสง่างาม เจ้าบ้านที่ตั้งกติกาเป็นธรรม รู้เท่าทัน และรักษาผลประโยชน์ของคนในบ้านได้อย่างสมศักดิ์ศรี
ด้วยความเคารพและรักประเทศไทย
ขอบคุณครับ
#อ้ายจง #เล่าเรื่องเมืองจีน #ชีวิตในจีน #ชีวิตในไทย #รักประเทศไทย
โฆษณา