2 พ.ค. เวลา 07:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

เศรษฐกิจสหรัฐฯ ไตรมาสแรกหดตัว 0.3% ครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2022

เศรษฐกิจสหรัฐฯ หดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2022 หลังการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างมีนัยสำคัญของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์
เมื่อวันที่ 30 เม.ย. กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ซึ่งวัดมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ หดตัวลง 0.3% ในไตรมาสแรก
ตัวเลขดังกล่าวถือว่าชะลอลงอย่างมากจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว ที่ขยายตัว 2.4% และแย่กว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะขยายตัว 0.8%
รัฐบาลทรัมป์ได้ดำเนินมาตรการขึ้นภาษีซึ่งสร้างความปั่นป่วนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ทำให้ความตึงเครียดทางการค้ากับจีนทวีความรุนแรงขึ้น และสร้างความไม่สบายใจให้กับชาวอเมริกัน
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่กล่าวว่า ความพยายามของทรัมป์ที่จะปรับเปลี่ยนระบบการค้าโลกมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น และอาจจุดชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ปฏิเสธว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอไม่ได้มีต้นเหตุจากเขา โดยทรัมป์ได้โพสต์บน Truth Social ว่า “ประเทศของเราจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง แต่เราต้องกำจัด ‘ภาระที่ตกค้างจากไบเดน’ ออกไปเสียก่อน สิ่งนี้จะใช้เวลาสักพัก และไม่มีอะไรเกี่ยวกับภาษีเลย เป็นเพียงตัวเลขแย่ๆ ที่ไบเดนทิ้งไว้ให้ แต่เมื่อช่วงที่รุ่งเรื่องเริ่มขึ้น มันจะไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ อดทนไว้”
หลังจากนั้น ทรัมป์ก็ย้ำระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรีอีกว่า จีดีพีไตรมาสที่หดตัวเป็นผลงานของไบเดนไม่ใช่เขา “จีดีพี คุณคงได้เห็นตัวเลขแล้ววันนี้ และผมต้องเริ่มต้นโดยบอกว่านั่นคือไบเดน ไม่ใช่ทรัมป์ เพราะเรากลับมาในเดือนมกราคม นี่คือตัวเลขรายไตรมาส และเราก็เข้ามา ซึ่งผมคัดค้านทุกอย่างที่ไบเดนทำเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างมาก เพราะมันกำลังทำลายประเทศของเรา ... เรารับไม้ต่อวันที่ 20 มกราคม ตอนนั้นภาษียังไม่มีผลเลย”
รายงานของกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่หดตัวในช่วงต้นปีมีสาเหตุหลักจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเกิดจากการที่ชาวอเมริกันเร่งซื้อสินค้าก่อนที่ภาษีของทรัมป์จะมีผล และการลดการใช้จ่ายภาครัฐ
การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก -1.9% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว เป็น 41.3% ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ ขณะที่การส่งออกขยายตัว 1.8%
การนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก จะส่งผลลบต่อ GDP ซึ่งในไตรมาสแรก สิ่งนี้กลายเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตมากที่สุด โดยส่วนต่างระหว่างการนำเข้าและส่งออกที่หักออกจาก GDP นั้นถือเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1947
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา