Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Journaling Our Journey
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 02:36 • สุขภาพ
หากเราย้อนเวลากลับไปสัก 30-40 ปีก่อน
หากเราย้อนเวลากลับไปสัก 30-40 ปีก่อน เรื่องเซ็กส์ถือเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกหยิบมาพูดถึงน้อยมาก
ยิ่งถ้าพูดถึงการมีเซ็กส์กับคนที่เราไม่ได้คบเป็นแฟนด้วยล่ะก็ ยิ่งเป็นสิ่งที่หายากเข้าไปใหญ่
อย่างไรก็ตาม โลกยุคปัจจุบันไม่เหมือนกับโลกในอดีต
ทุกวันนี้ เรามีสิ่งที่เรียกว่า Hookup Culture (หรือวัฒนธรรมของการมีเซ็กส์กับคนที่เราไม่ได้คบจริงๆจังๆด้วย…อย่างเช่น การมีเพศสัมพันธ์แบบ one-night stand) ที่แพร่หลายมากขึ้นในโลกตะวันตก (รวมถึงในประเทศไทยเรา)
…สังเกตเห็นได้จากช่องทางการติดต่อเพื่อ Hookup (เช่น dating app, openchat) ที่แพร่หลายมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีการสำรวจในต่างประเทศที่พบว่า มากกว่า 70% ของนักศึกษามหาวิทยาลัยเคยมีประสบการณ์ Hookup มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้งอีกด้วย (ส่วนการสำรวจในประเทศไทยนั้น ผมยังไม่มีข้อมูลเหมือนกันครับ แต่ผมเดาว่าตัวเลขก็คงไม่ได้น้อยไปกว่านี้สักเท่าไหร่นัก)
แน่นอนครับ ถ้ามองในแง่หนึ่ง ตราบใดที่การมีเพศสัมพันธ์เกิดขึ้นภายใต้การยินยอมของทุกฝ่าย (ที่บรรลุนิติภาวะ) ต่อให้ผลสำรวจในข้างต้นจะมีตัวเลขกี่ % มันก็ไม่เป็นปัญหาทั้งสิ้น
แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง Hookup Culture ก็สามารถสร้างปัญหาได้เช่นกัน เพราะผลการศึกษาในอดีตพบว่า การมีเซ็กส์กับคนที่เราไม่ได้คบจริงๆจังๆด้วย มักจะทำให้เรารู้สึกแย่ในภายหลังอย่างชัดเจน (เช่น “ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ ฉันจะไม่เลือกที่จะมีเซ็กส์กับคนๆนี้” “ฉันรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นแค่เซ็กส์ทอยของคู่นอนฉันเท่านั้น”)
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังพบว่า การเข้ามามีส่วนร่วมใน Hookup Culture เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการตกอยู่ในสถานการณ์ที่ถูกบีบบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจอีกด้วย
หลายคนที่อ่านมาจนถึงตอนนี้ (โดยเฉพาะคนที่มีลูกสาวและ/หรือหลานสาว) อาจจะรู้สึกกังวลใจและอยากจะปกป้องสมาชิกในครอบครัวจากผลกระทบทางลบของ Hookup Culture นี้
และหนึ่งในหนทางที่ผู้ใหญ่หลายคนใช้ในการปกป้องสมาชิกครอบครัวคือการ “คุมเข้ม” ความสัมพันธ์เชิงชู้สาวของลูกหลาน (เช่น ห้ามลูกหรือหลานมีแฟนโดยเด็ดขาด) ตั้งแต่ก่อนที่ลูกหลานจะเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย
แต่ข่าวร้ายก็คือ การแก้ปัญหาด้วยการ “คุมเข้ม” นั้น นอกจากมันจะ “ไม่ได้ผล” แล้ว มันยังมีแนวโน้มที่จะให้ “ผลร้าย” อีกด้วย!
เพราะผลการศึกษาพบว่า นักศึกษามหาวิทยาลัยที่ถูกทางบ้านเลี้ยงดูสไตล์ “คุมเข้ม” มีแนวโน้มที่จะพาตัวเองเข้ามา Hookup มากกว่า เมื่อเทียบกับนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้ถูกทางบ้านเลี้ยงดูแบบ “คุมเข้ม”
ทำไมผลการศึกษาถึงออกมาเช่นนี้? เพราะนักศึกษาที่ถูก “คุมเข้ม” มาโดยตลอด มักจะมีประสบการณ์ในเรื่องความรักความสัมพันธ์น้อย (หรือไม่มีเลย) ส่งผลให้พวกเขาไม่ค่อยได้มีโอกาส “ฝึกฝน” หรือ “เรียนรู้” ที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองในเรื่องความรักความสัมพันธ์มากนัก
ด้วยเหตุนี้ พอนักศึกษากลุ่มนี้ต้องเผชิญกับสถานการณ์ความรักความสัมพันธ์ในรั้วมหาวิทยาลัย (ซึ่งสายตาของผู้ใหญ่ในครอบครัวไม่สามารถสอดส่องมาดูได้แบบทุกซอกทุกมุม) การตัดสินใจในเรื่องความรักความสัมพันธ์ของพวกเขาจึง “ด้อยประสิทธิภาพ” กว่า (เมื่อเทียบกับนักศึกษาที่ไม่ได้ถูก “คุมเข้ม” มาโดยตลอด) นั่นเองครับ
สิ่งที่ผมพิมพ์มานี้ ผมไม่ได้มีเจตนาที่จะนำเสนอว่า ผู้ใหญ่ควรจะ “ปล่อยฟรี” ลูกหลานในเรื่องความรักความสัมพันธ์นะครับ (แม้ว่าผมจะนำเสนอว่า การ “คุมเข้ม” จะไม่ใช่ทางออกที่ดีก็ตาม)
เพราะผมเชื่อว่ามันมีทางออกที่อยู่ “ตรงกลาง” ระหว่างการ “ปล่อยฟรี” ลูกหลานในเรื่องความรักความสัมพันธ์กับการ “คุมเข้ม” ลูกหลานในเรื่องความรักความสัมพันธ์
มันไม่ใช่การห้ามไม่ให้ลูกหลานมีแฟนหรือคนคุยหรือความสัมพันธ์เชิงชู้สาวเลยแม้แต่นิดเดียว แต่มันคือการเปิดโอกาสให้ลูกหลานได้ลองสัมผัสกับประสบการณ์ความสัมพันธ์ โดยที่ผู้ใหญ่คอยจับตามองดู (รวมถึงคอยไกด์) เยอะหน่อยในช่วงแรกๆ และหากลูกหลานดูจะรับมือกับเรื่องนี้ได้ดีขึ้น ผู้ใหญ่ก็จะค่อยๆ “ปล่อยบังเหียน” ให้ลูกหลานเดินหน้าต่อด้วยตัวเองทีละนิดๆๆ
ผมมองว่าทางออกในลักษณะนี้จะส่งผลดีกับตัวลูกหลานในรั้วมหาวิทยาลัยได้มากกว่า เมื่อเทียบกรณีที่ผู้ใหญ่พยายาม “คุมเข้ม” ลูกหลานในทุกๆฝีก้าวอย่างชัดเจนมากๆเลยครับ
อ้างอิง
https://doi.org/10.1007/s12119-020-09786-6
https://www.apa.org/monitor/2013/02/ce-corner
https://doi.org/10.1080/00224499.2014.910745
https://doi.org/10.1080/00224499.2019.1667946
https://doi.org/10.1080/00224499.2013.848255
https://doi.org/10.1080/00224499.2016.1255874
https://doi.org/10.1177/21676968251322205
psychology
จิตวิทยา
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย