2 พ.ค. เวลา 03:58 • ความคิดเห็น

โจทย์คุ้นๆ

เคยได้รับโจทย์แบบนี้กันบ้างรึเปล่า… ไปหาทางเพิ่มยอดขาย ยอดใช้งานให้ขึ้นให้ได้ภายในสองสามเดือนนี้ อ่อ..แล้วงบประมาณก็ไม่ค่อยมีนะ เอาโดนๆ ปังๆ ไปลองหาทางดูละกัน
โจทย์คุ้นๆมั้ยครับ พอได้โจทย์นี้ทีไรผมจะนึกถึงเรื่องนี้ทุกที…
ในหนังสือ switch ของ พี่น้องตระกูล heath เล่าถึงคุณเจอรี่ เสตอร์นิน ในช่วงปี 1990 ที่ได้รับโจทย์แนวนี้เหมือนกัน
เจอรี่ได้รับงานจากองค์กรการกุศลชื่อ Save the Children ให้ไปทำงานที่เวียดนามและไปหาทางแก้ปัญหาโรคขาดสารอาหารทีทำให้เด็กเวียดนามเติบโตช้าและมีปัญหาด้านสุขภาพ
ตอนที่เจอรี่มาถึงก็ถูกเจ้ากระทรวงบอกว่าเขามีเวลาหกเดือนที่จะต้อง make a difference เจอรี่พูดภาษาก็ไม่ได้ งบประมาณก็แทบไม่มี แถมมีทีมงานเล็กๆแค่ไม่กี่คน แต่ต้องมาแก้ปัญหาระดับประเทศในเวลาอันจำกัดนี้ให้ได้
ปัญหาโรคขาดสารอาหารนั้นส่วนใหญ่ทุกคนก็รู้ดีว่าเกิดจากระบบสาธารณสุขที่แย่ ปัญหาความยากจน ปัญหาน้ำสะอาดและปัญหาที่คนชนบทไม่ใส่ใจเรื่องสารอาหาร ซึ่งปัญหาโลกแตกแบบนี้เจอรี่เรียกว่า TBU คือ True but useless คือรู้ไปก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะงบก็ไม่มี เวลาก็จำกัด
1
เจอรี่เลยใช้วิธีอีกแบบ ก็คือลองส่งคนไปรวมกลุ่มแม่ๆตามชนบท แล้วส่งแม่ๆ ทั้งหลายลองไปตามพื้นที่ยากจนมากๆแล้วไป “หา” เด็กที่ดูสมบูรณ์ ตัวใหญ่กว่าเด็กที่ขาดสารอาหารทั่วไป ซึ่งในหลายที่ที่แม่ๆ ไปดูนั้นก็พบว่ามีเด็กที่สุขภาพดีอยู่บ้าง
1
กลยุทธ์ของเจอรี่คือการหา “bright spot” ว่าถ้าค้นพบเด็กสมบูรณ์ในหมู่เด็กขาดสารอาหารแล้ว ก็อาจจะหาเคล็ดลับง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ในงบและเวลาที่จำกัดและอาจจะแก้ปัญหาได้โดยใช้เป็นตัวอย่างกับเด็กกลุ่มอื่นได้
ขั้นตอนแรกหลังจากที่เจอรี่หาเด็กสมบูรณ์เจอ เจอรี่ก็จะคัดเอากรณีพิเศษที่คนอื่นทำตามไม่ได้ออกไปก่อน เช่นบางบ้านอาจจะมีลุงที่ทำงานในเมืองแล้วส่งอาหารดีๆ มาให้ แล้วโฟกัสที่เด็กสมบูรณ์ที่เหลือจนค้นพบลักษณะบางอย่างที่คล้ายๆ กัน เช่น กลุ่มเด็กสมบูรณ์กินอาหารสี่มื้อในขณะที่เด็กขาดสารอาหารกินแค่สองมื้อในปริมาณรวมเท่ากัน ที่กินสี่มื้อช่วยให้เด็กแข็งแรงกว่าก็เพราะเด็กที่กินเยอะแล้วกระเพาะยังไม่ดีนักก็จะย่อยไม่ทัน การแบ่งมื้อมากขึ้นทำให้ย่อยได้ง่ายกว่า
2
เด็กที่ถูกป้อนจากมือก็ดูจะสมบูรณ์กว่าเด็กที่ให้กินจากชามข้าวเอง เพราะช่วงป่วยก็จะยังได้รับอาหารที่พอเพียง แต่การค้นพบที่สำคัญที่สุดก็คือพ่อแม่ของเด็กสมบูรณ์นั้นผสมอาหารเด็กด้วยกุ้งฝอย ปูนาที่หาได้จากท้องนา รวมถึงใบอ่อนของ sweet potato ที่โดยปกติตามธรรมเนียมแล้วถือว่าเป็นอาหารผู้ใหญ่ ชาวบ้านจะไม่ให้เด็กกิน
พอรู้เหตุที่ทำให้เด็กแข็งแรงต่างจากเด็กทั่วไปแล้ว เจอรี่ก็มีอาวุธในมือขึ้นมา
แต่ที่สำคัญกว่านั้น การที่จะทำให้แม่ๆ ทุกบ้านใช้เคล็ดลับนี้กระจายต่อๆกันนั้นการแค่ประกาศออกไป เรียกแม่ๆมาแล้วบอกถึงการค้นพบแบบนี้ก็ไม่น่าจะช่วยมากถ้าแม่ๆ ยังทำไม่เป็น เจอรี่ก็เลยจัด workshop ทีละสิบบ้านให้แม่ๆ เอา กุ้งฝอย ปูนา ใบอ่อนของ sweet potato มาแล้วลองหัดสร้างเมนูใหม่ๆ ทำให้แม่ๆได้เรียนรู้ ได้เห็นผลจากลูกที่แข็งแรงขึ้นและบอกต่อกันไปเรื่อยๆ
1
ความสำเร็จก็ค่อยๆ ขยายเป็นวงกว้าง ภายใน 6 เดือน 65% ของเด็กในพื้นที่ที่เจอรี่ดูแลมีสุขภาพดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และหลังจากนั้นก็มีการขยายโปรแกรมนี้อย่างต่อเนื่องจนครอบคลุมเด็ก 2.2 ล้านคนใน 265 หมู่บ้าน เป็นการ make a difference ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงมากต่อเวียดนาม
2
เวลาได้โจทย์คุ้นๆ ให้เพิ่มยอดขาย ยอดการใช้งาน ฯลฯ ที่มีเวลาจำกัดและไม่ค่อยมีงบประมาณ ผมมักจะชวนทีมให้ทำวิธีของเจอรี่ทุกครั้ง ก็คือไปลองหายอดปิรามิด
2
ไม่ว่ารวมๆ ยอดขายจะไม่ดี หรือมีปัญหาอยู่ แต่มักจะมีน้องๆ นักขายบางคน สาขาบางสาขา หรือ ร้านบางร้านที่ขายดีกว่าคนอื่นเสมอ แล้วก็ส่งทีมไปคลุกคลี ไปหาเทคนิคหรือเคล็ดลับของยอดปิรามิดนั้น เลือกเคล็ดลับที่มาสอนมาบอกต่อแล้วที่เหลือทำได้ แล้วก็ทดลองกับกลุ่มอื่นๆทีละนิด พอได้ผลเหมือนกันก็เล่นใหญ่ scale ทั่วทุกภาคส่วน พยายามให้ที่เหลือเรียนรู้และทำตามให้ได้ ทุกครั้งก็ได้ผลดี มากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ดีกว่าเดิมแน่ๆ
4
ถ้าช่วงนี้ใครได้โจทย์คุ้นๆแบบนี้ จะลองเอาวิธีเจอรี่ไปใช้ดูอาจจะเจอทางออกอะไรบางอย่างก็ได้นะครับ…
โฆษณา