11 พ.ค. เวลา 10:00 • ไลฟ์สไตล์

หมดไฟไม่รู้ตัว? สัญญาณเงียบที่คนเสียสละ-ทุ่มเททำงานมักมองข้าม

วัยทำงานทุกอาชีพเสี่ยงเผชิญภาวะหมดไฟกันได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้แต่ "แพทย์ด้านจิตเวช" ที่เมื่อถึงจุดหนึ่งของการทำงานก็ไปต่อไม่ไหวเช่นกัน และต้องการการช่วยเหลือจากนักจิตบำบัด
หนึ่งในเคสที่น่าสนใจและได้ออกมาเปิดเผยถึงประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ก็คือ "ดร.จูดิธ โจเซฟ" (Judith Joseph) แพทย์และนักวิจัยด้านจิตเวชเด็ก วัยรุ่น และผู้ใหญ่ เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตและการบาดเจ็บทางจิตใจ โดยเธอเล่าผ่าน CNBC Make it ว่า
เธอไม่เคยคิดเลยว่าชีวิตนี้จะต้องไปบำบัดสุขภาพจิต แต่สุดท้ายก็ใช้เวลากว่าสามปีในการพบนักจิตบำบัดที่คิดค่าบริการถึงครั้งละ 450 ดอลลาร์ และสิ่งที่น่าประหลาดใจก็คือ เธอเพิ่งจะเริ่มเปิดใจรับความช่วยเหลือจากจิตแพทย์จริงๆ ในช่วงไม่กี่เดือนสุดท้ายก่อนจบคอร์สการบำบัด
“ตอนแรกฉันก็ยังสงสัยอยู่ในใจว่า นี่มันเสียเวลาเปล่ารึเปล่า? แต่กลายเป็นว่าฉันคิดผิดไปถนัด เพราะสิ่งที่นักบำบัดมองเห็น ในขณะที่ฉันไม่รู้ตัวเลย ก็คือ ฉันเผชิญกับภาวะหมดไฟ ไปแล้วเต็มๆ และกำลังใช้ชีวิตอยู่กับตารางงานที่โหดร้ายเกินมนุษย์โดยไม่รู้ตัว” เธอเริ่มเล่าจุดเริ่มต้นของการหมดไฟในการทำงาน
เรียนหนัก-ทำงานหนัก เพราะรู้สึกว่าต้องทำ แม้จะทำร้ายตัวเองทางอ้อม?
เธอเล่าย้อนกลับไปว่า ในช่วงที่กำลังเรียนหลักสูตรแพทย์ในปีสุดท้ายเธอใช้เวลาหนึ่งเดือนในการรับบทบาทเป็นผู้นำคลินิกรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินในแอฟริกาใต้ แล้วจากนั้นเธอก็ตัดสินใจเรียนต่อด้านจิตเวชศาสตร์ พอจบปีแรก ก็เร่งทำวิจัยต่อเกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้เธอต้องเดินทางไปศึกษามุมมองด้านสุขภาพจิตในวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลกรวมแล้วกว่า 30 ประเทศ
1
“การทำงานหนักแบบนั้นกลายเป็นเรื่องปกติ จนฉันไม่ทันได้สังเกตเลยว่าสุขภาพตัวเองกำลังพังลงเรื่อยๆ และกำลังทำตัวเองให้ทุกข์ จนในที่สุดก็ตัดสินใจเข้ารับการบำบัดจิตใจ” เธอ บอก
หลังจากที่ โจเซฟ เข้ากระบวนการรักษาและพูดคุยกับนักจิตบำบัดราว 5 ครั้ง นักบำบัดก็บอกเธอว่า การทำงานของเธอมันเหมือนการทำร้ายตัวเองซ้ำๆ จนเหมือนกับ ‘มาโซคิสม์’ (masochism) ในรูปแบบหนึ่ง เธอควรรู้เท่าทันและจะต้องจัดการกับมันให้ได้
“คำพูดนั้นเปลี่ยนชีวิตฉันไปเลย ไม่ใช่แค่ในฐานะคนไข้ แต่รวมถึงมุมมองที่ฉันใช้ในการดูแลคนไข้ของตัวเองในฐานะแพทย์ด้วย” เธอเล่า
อย่างไรก็ตาม คนส่วนใหญ่มักรู้สึกไม่สบายใจกับคำว่า “มาโซคิสม์” เพราะมักนึกไปถึงภาพแบบเซ็กส์ซาดิสม์ แต่จริงๆ แล้ว ในคู่มือวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสหรัฐฯ เมื่อปี 1980 เคยระบุไว้ว่า มาโซคิสม์คือรูปแบบหนึ่งของบุคลิกภาพที่มักทำร้ายตัวเองอยู่ซ้ำๆ ทั้งในความคิดและการกระทำ
แต่พอถึงปี 1994 ก็มีการถอดคำนั้นออกจากคู่มือวินิจฉัยทางการแพทย์ เพราะเกรงว่าจะเป็นการโทษเหยื่อว่าทำตัวเองให้ลำบาก หรือยอมถูกกระทำเอง แต่สำหรับเธอเอง เธอย้ำว่า “ฉันไม่ได้ใช้คำนี้เพื่อโทษใคร แต่ใช้เพื่อชี้ให้เห็นพฤติกรรมที่บั่นทอนตัวเองซ้ำๆ เพื่อให้เราหลุดพ้นจากมันได้ต่างหาก”
Dr.Judith Joseph
📌 เช็กลิสต์ 2 รูปแบบการทำร้ายตัวเอง ผ่านการเสียสละที่มากเกินไป
ในฐานะแพทย์ที่เคยผ่านการบำบัดอาการหมดไฟ โจเซฟ มีคำแนะนำว่า หากวัยทำงานอยากมีความสุขหรือควบคุมชีวิตได้มากขึ้น ก็ต้องรู้ก่อนว่ารูปแบบของมาโซคิสม์ในชีวิตประจำวันหน้าตาเป็นยังไง เธอยกตัวอย่างมาให้ดูดังนี้
1. ความสัมพันธ์ที่คุณเสียสละอยู่ฝ่ายเดียว
ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับเพื่อน คนรัก หรือที่ทำงาน บางคนจะเสียสละให้คนอื่นตลอดเวลาเพราะอยากให้ทุกอย่างราบรื่น แต่ผลที่ตามมาก็คือ...จะมีแต่คนที่ “รับ” โดยไม่คิดจะ “ให้”
ลองนึกภาพคู่รักอยู่ด้วยกัน แล้วมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ยอมทำงานบ้านทุกอย่างเองคนเดียว หรือแทบจะเลี้ยงลูกจะฝ่ายเดียว ในความสัมพันธ์นี้คือรูปแบบหนึ่งของการบั่นทอนตัวเองแบบไม่รู้ตัว
2. การทำงานหนักแบบ “ทุ่มไม่ลืมหูลืมตา”
มีวัยทำงานจำนวนไม่น้อยที่ยอมทำงานหนักเกินเหตุ เพราะหวังว่าจะได้การยอมรับ หรือหวังว่าจะสามารถคว้าความสำเร็จที่ฝันไว้
ไม่ว่าจะเป็นทนายที่รับว่าความให้คนยากไร้โดยแทบไม่ได้เงิน นักข่าวที่เสี่ยงชีวิตไปทำข่าวในเขตสงคราม หรือเจ้าหน้าที่ทหารในองค์กร NGO หรือแม้แต่น้องใหม่ในบริษัทการเงินที่ต้องทำงานสัปดาห์ละ 80 ชั่วโมงและไม่มีเวลาใช้ชีวิตส่วนตัวเลย ฯลฯ ทั้งหมดนี้อาจกำลังตกอยู่ในวังวนเดียวกัน
📌 วัยทำงานจะหลุดจากวังวน 'เสียสละจนทำร้ายตนเอง' ได้ยังไง?
ข่าวดีคือ การทุ่มเทให้งานแบบไม่ลืมหูลืมตา มันไม่ใช่โชคชะตาฟ้ากำหนดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่คนเราสามารถมี “ทางเลือก” ให้ตัวเองได้ และเราสามารถเลือกใหม่ได้เสมอถ้ามองเห็นพฤติกรรมที่ฉุดรั้งตัวเองอยู่ โดยโจเซฟแนะนำว่าให้ลองปฏิบัติตามนี้
1. ฟังร่างกายตัวเอง
บางครั้งคุณอาจสังเกตว่าใจเต้นเร็วผิดปกติ เพราะดื่มกาแฟทั้งวันเพื่อให้ทำงานทุกอย่างเสร็จให้ทันกำหนด ..นี่คือสัญญาณว่า ร่างกายคุณเริ่มไม่ไหวแล้ว
โจเซฟยกตัวอย่างอาการที่ร่างกายของเธอเริ่มแสดงถึงความเหนื่อยล้าถึงขีดสุดให้ฟังว่า "ฉันมักบอกเพื่อนๆ ว่า ถ้าเล็บฉันเริ่มลอกเมื่อไร นั่นแปลว่าฉันกำลังหมดไฟ ต้องหยุดพักและดูแลตัวเองด่วน"
2. ฟังคนรอบข้าง
บางทีการที่เราทุ่มเทให้งานมากจนเกินไป ก็อาจกำลังผลักภาระให้คนใกล้ชิดต้องเสียสละตามไปด้วยโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้น ลองฟังคำแนะนำจากทีมงาน เพื่อน หรือคนในครอบครัว เช่น ลูกๆ คู่รัก พ่อแม่ ฯลฯ หากมีใครสักคนเริ่มบอกว่าโปรเจกต์นี้ดูรีบเกินไป หรือฉันเอาแต่นั่งจ้องอีเมลจนไม่มีเวลาให้พวกเขา คุณก็ไม่ควรจะละเลยคำพูดเหล่านั้นเด็ดขาด
3. ฟังใจตัวเอง
ก่อนจะตอบตกลงหรือปฏิเสธงานที่ถูกยื่นมาให้ ลองหยุดคิดนิดนึงว่า “เราอยากทำจริงๆ ไหม?” เพราะบางครั้งเสียงเล็กๆ ในใจก็รู้ดีว่าเราหมดแรงเกินกว่าจะลุยงานต่อไปทั้งสุดสัปดาห์ หรือบางครั้งเราก็ไม่อยากซักผ้าให้แฟนในวันนี้
สิ่งที่คุณพยายามทำสุดชีวิตเพื่อให้คนอื่นพอใจ อาจไม่มีใครสังเกตเห็นเลยก็ได้ และท้ายที่สุด มันก็ไม่ได้ทำให้คุณ “มีค่า” มากขึ้นแต่อย่างใด เพราะคุณมีคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว แม้ไม่ต้องทำอะไรให้ใครเห็นเลยด้วยซ้ำ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนคงเริ่มกลับไปทบทวนวิธีทำงานของตนเองใหม่เพื่อไม่ให้หมดไฟ ซึ่งมันไม่ใช่แค่การจัดตารางงานให้ลงตัว แต่มากว่านั้น คือ การกล้ายอมรับความจริงว่า.. เราไม่จำเป็นต้อง “แลกทุกอย่าง” เพื่อ “ความสำเร็จ” คนจำนวนไม่น้อยเผลอหลงรักการทุ่มทำงานอย่างเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
ทั้งที่ในความเป็นจริง การเสียสละไม่ควรเป็นเงื่อนไขของการได้รับการยอมรับ สิ่งที่สำคัญที่สุด อยู่ที่ว่าเรากล้าตอบตัวเองอย่างซื่อสัตย์ว่าตอนนี้เราเหนื่อยแล้วนะ และขอพอก่อน เพราะบางครั้ง การมีขอบเขตการทำงานเป็นสิ่งที่ช่วยเราไว้ไม่ให้พังไปก่อนถึงเส้นชัย
โฆษณา