4 พ.ค. เวลา 09:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ส่องตัวเลขเศรษฐกิจ หน่วยงานสำคัญพาเหรดหั่นคาดการณ์ปีนี้

ส่องตัวเลขเศรษฐกิจ หน่วยงานสำคัญพาเหรดหั่นคาดการณ์ปีนี้ท่ามกลางความท้าทายสงครามการค้า ลามมากระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังได้แถลง ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.1 จากเดิมร้อยละ 3 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 1.6 ถึง 2.6) สาเหตุหลักมาจากแรงกดดันด้านการค้าโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) และการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า
ประมาณการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2568
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.3 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.8 ถึง 2.8) ซึ่งได้รับผลกระทบทางตรงจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม การประกาศเลื่อนการบังคับใช้นโยบาย Reciprocal Tariff ออกไป 90 วัน นับจากวันที่ 9 เมษายน 2568 และกรณียกเว้นสินค้าบางประเภท เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และ เครื่องคอมพิวเตอร์ของสหรัฐฯ ได้บรรเทาผลกระทบของการส่งออกของไทยลงบางส่วน ด้านมูลค่าการนำเข้าสินค้าคาดว่าจะทรงตัวที่ร้อยละ 1.0 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 0.5 ถึง 1.5) สอดคล้องกับความต้องการวัตถุดิบเพื่อการผลิตเพื่อส่งออก และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป ยังคงมีความไม่แน่นอนและมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางของเศรษฐกิจไทยและประเทศคู่ค้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยจำเป็นต้องมีการติดตามการเปลี่ยนแปลงของนโยบายการค้าของสหรัฐฯ และประเทศคู่ค้า ของไทยอย่างใกล้ชิดต่อไป
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยในปี 2568 ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังขยายตัวดี โดยคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.7 ถึง 3.7) ตามกำลังซื้อในประเทศและรายได้ภาคท่องเที่ยว ที่ฟื้นตัว โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 36.5 ล้านคน ขยายตัว ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ -0.1 ถึง 0.9)
สำหรับการบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.2 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.7 ถึง 1.7) และการลงทุนภาครัฐขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.3 ถึง 3.3) จากการเบิกจ่ายงบประมาณอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานที่จะมีการเร่งรัดเบิกจ่ายในช่วงไตรมาสที่ 3 – 4 ของปีงบประมาณ 2568 ต่อเนื่องไปยังไตรมาสที่ 1 ของปีงบประมาณ 2569
ด้านเสถียรภาพภายในประเทศอยู่ในระดับมั่นคง โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะลดลงอยู่ที่ร้อยละ 0.8 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.3 ถึง 1.3) ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ลดลง ขณะที่เสถียรภาพภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2568 มีแนวโน้มเกินดุล 12.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP จากดุลการค้าที่เกินดุลอย่างต่อเนื่อง
ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยครั้งนี้อิงตามกรณีฐาน (Base Case) เป็นสำคัญ โดยมีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ มีการผ่อนปรนด้านนโยบายภาษีกับประเทศไทยและประเทศคู่ค้า ทั้งนี้ ในกรณีสูง (High Case) มีสมมติฐานว่ารัฐบาลสหรัฐฯ จะมีการปรับลดภาษีนำเข้าของไทยและประเทศอื่นๆ ซึ่งลดลงอยู่ที่อัตราร้อยละ 10 จะส่งผลบวกให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีฐานเป็นร้อยละ 2.5 (อยู่ในช่วงประมาณร้อยละ 2.0 ถึง 3.0)
โดยแรงส่งหลักมาจากการส่งออกที่ขยายตัวมากขึ้น และการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวตามการลงทุนภาคเอกชน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการคลังจะมีการประเมินอีกครั้ง เมื่อสถานการณ์มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น
นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ธปท. ประเมิน เศรษฐกิจไทย ปี 68 มีแนวโน้มขยายตัวลดลง คาด โตเพียง 1.3-2%
ด้าน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าวว่า ผลการประชุม กนง. คณะกรรมการฯ มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% จาก 2.00% เป็น 1.75% ต่อปี โดยให้มีผลทันที โดยมี 2 เสียง เห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมิน เศรษฐกิจไทย ปี 68 ขยายตัว ได้เพียง 1.3-2 % ลดลงจากการประชุมครั้งก่อนที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.5% ขณะที่ ในปี 69 คาดว่า เศรษฐกิจไทย จะโตได้ที่ 1-1.8% โดยมองผลกระทบของสงครามการค้าจะรุนแรงมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 68
ปัจจัยหลักมาจากผลกระทบของสงครามการค้า โดยในกรณีฐานที่ไทยโดยภาษี 10% เช่นเดียวกับปัจจุบัน เศรษฐกิจจะโตได้ 2% แต่ถ้าในกรณีสงครามการค้ามีผลกระทบรุนแรง ไทยอาจจะต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นอีก 18% จากการที่สหรัฐคิดภาษีตอบโต้ไทย 36% ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ อาจจะโตเพียง 1.8%
ทั้งนี้ ธปท. พร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสมกับสภาพของเศรษฐกิจ และผลกระทบจากสงครามการค้าที่เพิ่มขึ้น โดยนโยบายการเงินขณะนี้มีทิศทางที่ผ่อนคลายมากขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้ถึงขั้นการเป็นวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง
ส่วนหลังจากนี้จะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลดลงอีกหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับภาษีที่ไทยจะถูกสหรัฐเรียกเก็บว่าอยู่ที่เท่าไหร่ แต่ทั้งนี้ จากอดีตที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยเคยลงไปต่ำสุดที่ 0.5% ในช่วงวิกฤต COVID-19 แต่ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่เลวร้ายเท่ากับ ช่วงดังกล่าว
นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทจัดอันดับเครดิต มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) ได้ปรับลดแนวโน้มอันดับเครดิตของประเทศไทยลงสู่มุมมอง "เชิงลบ" (Negative) จากเดิมที่มีเสถียรภาพ (Stable) นั้น มาจากมุมมองของเศรษฐกิจไทยที่อาจจะฟื้นตัวช้าในระยะข้างหน้าและภาระหนี้ของภาครัฐที่จะเพิ่มขึ้น จากการเข้าไปดูแลเศรษฐกิจ และเตือนว่าการใช้พื้นที่ทางการคลัง ควรระมัดระวังมากขึ้น เพราะการขาดดุลการคลังของไทย ยังขาดดุลเพิ่มขึ้นได้อีกไม่มากนัก
ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะเป็นมาตรการที่เจาะจงและเน้นในเรื่องการลงทุนของภาครัฐมากกว่าการกระตุ้นการบริโภค เพราะภาคการบริโภคในปัจจุบันยังคงเติบโต
ส่วนนโยบายการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ขึ้นอยู่กับการทบทวนนโยบายของกระทรวงการคลัง
อย่างไรก็ตาม จากตัวเลข GDP กรณีที่ผลกระทบสงครามการค้ารุนแรง อาจจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทางเทคนิค (technical recession) ที่ GDP รายไตรมาสหดตัวติดต่อกันสองไตรมาส แต่ไม่ได้เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะสามารถอธิบายสาเหตุของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ว่ามาจากสงครามการค้า ไม่ได้เกิดจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย
ธปท. ยังประเมินส่งออกไทยในปีนี้ว่า มีโอกาสขยายตัว 0.8 % จนถึงหดตัว -1.3% จากเดิมที่ประเมินไว้ว่าจะขยายตัวได้ที่ 2.7% ก่อนที่จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า โดยคาดว่า ผลกระทบการส่งออกจะเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 68 เพราะในช่วงไตรมาสที่ 2 ยังมีสัญญาณการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ ในช่วงที่สหรัฐยังมีการชะลอบังคับใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ กนง. ยังให้ความสำคัญกับภาวะการเงินที่อาจจะตึงตัวมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง 68 แม้ว่าสภาพคล่องในระบบการเงินจะยังมีอยู่ แต่การเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายเล็กและ SMe จะขึ้นอยู่กับเครดิตของผู้กู้มากกว่า
และอีกประเด็นสำคัญ คือ ต้องจับตากรณีที่นักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนลดลง ทำให้ ธปท. คาดการณ์ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 68 นี้ จะอยู่ที่ 37 - 37.5 ล้านคน จากคาดการณ์เดิมที่ 39.5 ล้านคน โดยเป็นผลจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนเป็นหลักและทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 อาจจะชะลอตัวมากกว่าที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้
ธปท. ยังประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 68 และปี 69 จะอยู่ต่ำกว่ากรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1-3% โดยคาดว่า เงินเฟ้อในปีนี้จะอยู่ระหว่าง 0.2 - 0.5 % ส่วนปี 69 จะอยู่ระหว่าง 0.4 - 0.8% แต่มองว่า อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ จะช่วยในเรื่องค่าครองชีพของประชาชน และช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคธุรกิจได้
อ่านเนื้อหาต้นฉบับได้ที่ :
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://www.pptvhd36.com
และช่องทาง Social Media
โฆษณา