2 พ.ค. เวลา 08:27 • ข่าว

กลุ่มผู้ใช้แรงงาน ร้องเข้าประกันสังคม พร้อมวอนหยุดเรียก “คนใช้” แต่ให้เรียก “ลูกจ้างทำงานบ้าน” แทน

เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่าน ซึ่งเป็นวันแรงงาน เหล่าลูกจ้างทำงานบ้าน ได้รวมตัวกันที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.) และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ร่วมเดินขบวนเรียกร้องเข้าระบบประกันสังคมม.33  พร้อมขอให้หยุดเรียกว่า “คนใช้” แต่ให้เรียก “ลูกจ้างทำงานบ้าน” แทน
โดยกิจกรรมการตั้งขบวนผู้ใช้แรงงานเริ่มตั้งแต่ช่วงเวลา 08.30 น. มีประชาชนผู้ใช้แรงงานจากหลากหลายกลุ่มอาชีพ หลากหลายเครือข่ายพันธมิตรต่างหลั่งไหลเข้ามาสมทบร่วมเดินขบวน
น.ส.กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย หนึ่งในตัวแทนที่มาร่วมเดินขบวนกิจกรรมดังกล่าว ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ตนพร้อมด้วยตัวแทนสมาชิกเครือข่ายอีก 20 คนในกรุงเทพฯ มาร่วมเดินขบวนเรียกร้องสิทธิประโยชน์ที่ควรจะได้รับ เช่น เรียกร้องการเข้าสู่ระบบผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ซึ่งตนกับสมาชิกมาเป็นประจำทุกปี
"ที่ผ่านมามีอุปสรรคหลายอย่าง เช่น การถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่มีลาหยุด หรือลาพักร้อน ทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าจนถึง 4 ทุ่ม ทุกวันนี้ก็ยังพบปัญหาเหล่านี้อยู่ ซึ่งลูกจ้างทำงานบ้านก็ได้เรียกร้องมาเป็นระยะเวลา 10 กว่าปีแล้ว"
ปัญหาส่วนใหญ่ที่กลุ่มลูกจ้างทำงานที่บ้านประสบอยู่ปัจจุบัน คือ พวกเราไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครอง เวลาเจ็บป่วยต้องซื้อยาทานเอง เมื่ออายุมากขึ้นหรือถูกเลิกจ้างเราไม่ได้รับเงินชดเชย ทำให้เกิดการว่างงาน ซึ่งเราเสียเปรียบในหลายๆด้าน บางคนไม่มีวันหยุด บางคนอายุมากขึ้น นายจ้างไม่จ้างต่อ ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ ต้องกู้หนี้ยืมสิน
"กลุ่มลูกจ้างแม่บ้านก็เป็นผู้ใช้แรงงาน มีนายจ้าง แต่ทำไมถึงไม่มีประกันสังคม หรือมีสิทธิการคุ้มครองอื่นๆ จึงต้องการผลักดันให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง"
น.ส. กัญญภา กล่าวว่า ดีใจที่ได้มีโอกาสมาแสดงตัวตนร่วมขบวนกับกลุ่มแรงงานในวันนี้ พวกเราคาดหวังว่า อย่างน้อยสังคมภายนอกจะต้องตื่นตัวและยอมรับว่าต้องมีการเปลี่ยนแปลง
อีกทั้งวันนี้พวกเรามารณรงค์เรื่องเลิกเรียกพวกเราว่า "คนใช้ คนรับใช้" ตามสื่อต่างๆ เพราะเป็นคำที่ใช้มาตั้งแต่นานมาแล้ว เราไม่ต้องการให้เรียกแบบนี้ ปัจจุบันก็ทันสมัยแล้ว แม้แต่การรับงานก็รับทางแพลตฟอร์ม ควรจะหยุดเรียกเราแบบนี้ ควรจะเรียกเรา "ลูกจ้างทำงานบ้าน" หรือ "แรงงาน/ผู้ช่วยในบ้าน" พวกเราจะภูมิใจมากกว่า
เครดิต: มติชน
โฆษณา