2 พ.ค. เวลา 17:59 • การศึกษา

สรุป ตอนที่ 1 องค์ประกอบภายนอก การกระทำ

*ความรับผิดทางอาญาเริ่มต้นที่การกระทำ หากไม่มีการกระทำก็ไม่มีความผิด*
บทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59
1.การกระทำโดยเคลื่อนไหวร่างกาย
= การเคลื่อนไหวร่างกายภายใต้จิตใจบังคับ คือ รู้สำนึก และ บังคับการเคลื่อนไหวได้
- กรณีไม่เป็นการกระทำ เช่น การละเมอ การถูกสะกดจิตหรือจิตบกพร่องถึงขนาดที่ไม่รู้ถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย
- การเคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่นอกการบังคับของจิตใจ มิเป็นการกระทำ เว้นแต่ รู้ตัวอยู่ก่อนแล้วแต่ไม่ระมัดระวังหลีกเลี่ยงข้อบกพร่องนั้นของตน
2.การกระทำโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
2.1 งดเว้น
- ป.อ. มาตรา 59 วรรคห้า บอกว่า การงดเว้น ถือเป็นการกระทำ ถ้าบุคคลที่มีหน้าที่ป้องกันไม่ให้ผลเกิด ไม่กระทำการป้องกันผลตามหน้าที่
- หน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องป้องกันผล เกิดได้จาก 1.)หน้าที่ตามกฎหมาย เช่น ป.พ.พ. มาตรา 1564 2.)หน้าที่ตามสัญญา เช่น Life guard ที่มีสัญญาช่วยคนจมน้ำ 3.)หน้าที่ที่เกิดจากการกระทำก่อนๆของตน เช่น เมื่ออาสาพาคนตาบอดข้ามถนน ก็ต้องพาเขาข้ามไปอีกฝั่งอย่างปลอดภัย 4.)หน้าที่เกิดจากความสัมพันธ์พิเศษ เช่น บิดาที่มิชอบด้วยกฎหมายอุปการะเลี้ยงดูบุตรอายุน้อย เมื่อบุตรเจ็บป่วยก็ต้องพาบุตรไปรักษา หากงดเว้นมิพาไปรักษา ทั้งๆที่ตนสามารถทำได้ จนบุตรถึงแก่ความตาย กรณีนี้เป็นการกระทำโดยงดเว้น
2.2 ละเว้น
- เป็นกรณีที่บุคคลมีหน้าที่โดยทั่วไปที่จะต้องปฏิบัติ แต่บุคคลนั้นไม่เคลื่อนไหว
- ต่างจากกรณีของงดเว้น ตรงที่ งดเว้นคือบุคคลที่มีหน้าที่โดยเฉพาะที่จะต้องป้องกันผล แต่ไม่กระทำการป้องกันผลตามหน้าที่
- หน้าที่โดยทั่วไป เกิดจากกฎหมาย เช่น ป.อ. มาตรา 374 คนอื่นตกอยู่ในอันตรายถึงชีวิต หากเราช่วยได้โดยมิต้องกลัวอันตราย แต่เราไม่ช่วยตามจำเป็น ดังนั้น เราผิดฐานละเว้น
อ้างอิง
หนังสือ กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป พิมพ์ครั้งที่ 13 แก้ไขเพิ่มเติม ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
ประมวลกฎหมายอาญา ฉบับอ้างอิง พิมพ์ครั้งที่ 50 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2568 ศาสตราจารย์ ดร.ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ
สไลด์สื่อการสอน กฎหมายอาญา ภาคทั่วไป ศาสตราจารย์ ณรงค์ ใจหาญ
โฆษณา