Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
18 พ.ค. เวลา 04:01 • ไลฟ์สไตล์
ชายหญิงต้องเท่าเทียม! ญี่ปุ่นแก้ความเหลื่อมล้ำที่ทำงานจริงจัง
แม้เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะติดอันดับใหญ่ที่สุดในโลก แต่กลับล้าหลังในด้านความเท่าเทียมทางเพศ โดยเฉพาะเรื่องเงินเดือนก็พบว่าชายหญิงเหลื่อมล้ำกันมาก ยิ่งในแวดวงการเงิน พนักงานหญิงก็ยิ่งถูกจำกัดบทบาทไว้เพียงงานธุรการ และได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าผู้ชายมานานหลายทศวรรษ แต่สถานการณ์เริ่มเปลี่ยน เมื่อบริษัทการเงินยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นประกาศ “ล้มระบบเก่า” เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำนี้
Nippon Life Insurance บริษัทประกันที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และ MUFG Bank ธนาคารในเครือกลุ่มการเงินอันดับหนึ่งของประเทศ ได้ตัดสินใจยกเลิกตำแหน่งงานธุรการที่เคยเป็นพื้นที่เฉพาะของผู้หญิง และมักได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่า “สายงานบริหาร” ที่เปิดทางสู่ตำแหน่งระดับสูง
การรวมตำแหน่งงานทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน อาจเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงมีโอกาสเติบโตในสายอาชีพมากขึ้น
'ความเหลื่อมล้ำทางเพศ' ปัญหาฝังรากลึกในวัฒนธรรมองค์กรญี่ปุ่น
ระบบแบ่งแยกบทบาทพนักงานชาย-หญิง ฝังแน่นในหลากหลายอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ส่งผลให้ญี่ปุ่นมีช่องว่างเงินเดือนระหว่างผู้หญิงกับผู้ชายมากที่สุดในโลก โดยเฉพาะในภาคการเงินที่มักจัดโครงสร้างงานไว้ให้ผู้หญิง “รอเวลาแต่งงาน” มากกว่าการเติบโตในหน้าที่การงาน แม้การจ้างงานแบบนั้นจะลดลงในยุคปัจจุบัน แต่ระบบที่รองรับแนวคิดเก่ายังคงอยู่
ข้อมูลจากคณะกรรมการภาครัฐที่ศึกษาบทบาทผู้หญิงในที่ทำงาน ระบุว่าในปี 2023 ผู้หญิงในญี่ปุ่นได้รับค่าจ้างเฉลี่ย 75% ของผู้ชายในทุกอุตสาหกรรม แต่ในแวดวงการเงินและประกันภัย ตัวเลขลดลงเหลือเพียง 62% และในบางบริษัท ตัวเลขนี้ตกลงถึง 50% หรือแม้กระทั่ง 39% อย่างใน Nippon Life Insurance
แต่ก่อนหน้านี้ในปี 2022 รัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายบังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลช่องว่างรายได้ระหว่างเพศ ทำให้ประเด็นนี้ถูกจับตามองจากทั้งผู้สมัครงานและนักลงทุน
“ฝ่ายบุคคลรู้แล้วว่าพวกเขาต้องเปลี่ยน เพราะถูกจับจ้องจากทุกฝ่าย” มิโอะโกะ โบ (Mioko Bo) นักวิจัยจากสถาบัน NLI (วิจัยเชิงกลยุทธ์ด้านเศรษฐศาสตร์ การเงิน ความมั่นคงทางสังคม) กล่าว
📌 ระบบเดิมที่เอื้อผู้ชาย ทำร้ายทั้งเศรษฐกิจและโอกาสผู้หญิง
ในยุคเศรษฐกิจโตเร็วหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้ชายญี่ปุ่นถูกคาดหวังให้ทำงานหนัก ขณะที่ผู้หญิงญี่ปุ่นทำงานเพียงไม่กี่ปีก่อนลาออกจากงานเพื่อไปดูแลบ้าน และในภาคการเงิน ผู้หญิงจำนวนมากถูกจ้างเข้ามาทำงานเอกสารที่ซ้ำซาก ก่อนที่ระบบอัตโนมัติจะเข้ามาแทนที่ แม้ว่ากฎหมายแรงงานเคยถูกปรับปรุงในปี 1997 เพื่อห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศ แต่ความเหลื่อมล้ำในรูปแบบเดิมยังดำรงอยู่
ในขณะเดียวกัน บริษัทการเงินอื่นๆ ในญี่ปุ่นอย่าง Dai-ichi Life Holdings, Sumitomo Mitsui Financial Group และ Mizuho Financial Group ก็ได้รวมตำแหน่งงานบางตำแหน่งในองค์กรแล้วเช่นกัน การที่บริษัทใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นลงมือจริงจังในครั้งนี้ จึงถือเป็นสัญญาณที่สำคัญ
“เมื่อญี่ปุ่นต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน การส่งเสริมความหลากหลายจะยังดำเนินต่อไป” นักกลยุทธ์จาก JPMorgan Chase ระบุ พร้อมชี้ว่าบริษัทที่มีสัดส่วนผู้บริหารหญิงมาก มักมีผลตอบแทนจากทุนที่ดีกว่า
📌 ดูเป็นทิศทางที่ดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่ดีใจกับการเปลี่ยนแปลงนี้
แม้วิธีดังกล่าวจะดูเหมือนเป็นความก้าวหน้าในการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่ใช่พนักงานทุกคนจะรู้สึกแบบนั้น โดยเฉพาะผู้หญิงที่เคยอยู่ในสายงานธุรการ บางคนกังวลว่าจะต้องทำงานหนักขึ้น มีภาระเพิ่ม หรืออาจต้องย้ายที่ทำงาน
นอกจากนี้ ยังมีช่องว่างทาง "ทักษะงาน" ระหว่างพนักงานธุรการที่ทำงานมานาน กับสายบริหารที่เติบโตตามระบบใหม่ นักวิจัยชี้ว่า แทนที่จะปล่อยให้พนักงานหญิงกลุ่มนี้หลุดระบบไป ควรให้การสนับสนุนเพื่อพัฒนาทักษะของพวกเธอ
ยกตัวอย่างเคสของพนักงานหญิงคนหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ "เคียวมิ นะกะคุระ" (Kyomi Nakakura) แห่ง Nippon Life ผู้หญิงที่เริ่มต้นจากสายธุรการ (ซึ่งบางครั้งก็เน้นเสิร์ฟชาให้พนักงานคนอื่นเป็นหลัก) และสามารถไต่เต้าสู่ตำแหน่ง "ผู้บริหารระดับสูง" ของบริษัทได้สำเร็จ
เมื่อเธอเริ่มทำงานหลังจบมัธยมปลายในปี 1984 หน้าที่ประจำวันของเธอคือเสิร์ฟชาและล้างถ้วยให้เพื่อนร่วมงาน ก่อนที่เจ้านายจะสนับสนุนให้เธอสมัครเข้าตำแหน่งสายบริหาร แม้ตอนแรกจะลังเล แต่เธอก็เลือกสู้ และไต่เต้าผ่านหลากหลายตำแหน่ง จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนอื่นๆ
“ยังมีผู้หญิงอีกมากที่ลังเลจะรับบทบาทใหม่ๆ เพราะไม่มั่นใจในตัวเอง สิ่งที่พวกเธอต้องการคือ ‘ใครสักคนที่เชื่อในตัวเธอ’ และฉันอยากเป็นคนนั้น” นะกะคุระกล่าว
อ้างอิง:
-
https://tinyurl.com/5bz3ektb
บันทึก
6
1
6
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย