3 พ.ค. เวลา 02:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

‘Apple’ ตัดขาดจีนยาก! ย้ายได้แค่ ‘การประกอบ’ ตัวหัวใจผลิต ย้ายไม่ทันยุคทรัมป์

เมื่อ “จีน” ขึ้นมาท้าทาย “สหรัฐ” ในเกือบทุกด้าน ไม่ใช่เฉพาะการค้า แต่ยังรวมถึงการเงิน การทหาร อวกาศ ไปจนถึงเทคโนโลยี ในความคิดของทีมทรัมป์ หากปล่อยให้กระแสทุนและบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐหลั่งไหลไปที่จีนต่อ ก็จะทำให้ “มังกร” ตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ
1
เพื่อสกัดการลงทุนและจ้างงานในจีน การก่อสงครามการค้า จึงเป็นเหมือนแรงบีบเหล่าบริษัทอเมริกัน โดยเฉพาะ “Apple” ที่เป็นดั่ง “ไอคอนแห่งอเมริกา” ให้รีบย้ายฐานออกจากจีนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หนึ่งในตัวเต็งอันดับต้นๆที่สหรัฐต้องการให้ “แทนที่” จีน คือ “อินเดีย” เหตุผลเพราะอินเดียยังไม่ใหญ่เหมือนจีนที่จะมาท้าทายสหรัฐ มีขนาดตลาดใหญ่ที่อุดมด้วยประชากรมากที่สุดในโลก อีกทั้งราวครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งหมด มีอายุต่ำกว่า 25 ปี อันจะเป็นแรงงานสำคัญ
เท่านั้นยังไม่พอ อินเดียยังมีผู้ที่จบด้านภาควิชา STEM (วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) ที่สำคัญต่อธุรกิจเทคโนโลยีสูงเป็น “อันดับ 2” รองจากจีน ตามข้อมูลจากสถาบันสถิติ Statista
อย่างไรก็ตาม iPhone ที่ผลิตในอินเดียคิดเป็นเพียง 20% ของการผลิตทั่วโลกเท่านั้น การที่สหรัฐต้องการให้ Apple “ตัดขาดจากจีน” ที่เป็นฐานให้ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ และย้ายไปอินเดียทั้งหมดนั้น จะทำได้จริงแค่ไหนในยุคทรัมป์ 4 ปี และต้องแลกกับสิ่งใดบ้าง
📌 ย้ายส่วนสำคัญจากจีน ใช้เวลา 5-10 ปี
จากคำประกาศล่าสุดของ Apple ส่วนงานที่จะย้ายไปอินเดีย คือ “งานประกอบ” (Assembly) จากชิ้นส่วนที่ผลิตไว้แล้ว เพื่อให้สามารถระบุเป็น Made in India ได้ จะได้โดนภาษีน้อยลง โดยมีแผนจะผลิต iPhone จากเดิม 40 ล้านเครื่อง ให้เป็น 70-80 ล้านเครื่องในอินเดียให้ได้ภายในสิ้นปี 2026 ในการป้อนตลาดอเมริกาที่ต้องการ iPhone ราว 60 ล้านเครื่องต่อปี
ความพยายามผลิตครั้งใหญ่ของ Apple ในอินเดียนี้ จะมีพันธมิตรเข้าร่วมด้วย อันได้แก่บริษัท Tata Electronics, Foxconn และ Pegatron
“ขณะนี้ Tata กำลังเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิต” นาฟเคนดาร์ สิงห์ รองประธานฝ่าย IDC India ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกด้านอุตสาหกรรมไอทีกล่าว “ปัจจุบัน Tata เป็นกำลังหลักในการผลิต iPhone ในอินเดีย โดยดำเนินโรงงานประกอบในรัฐทมิฬนาฑู ทางตอนใต้ของประเทศ นอกจากนี้ บริษัทยังเข้าซื้อกิจการโรงงานผลิต iPhone ของ Wistron ในรัฐกรณาฏกะเมื่อปี 2023 และในเดือนมกราคม 2025 ก็ได้ปิดดีล ‘ถือหุ้น 60%’ ซึ่งเป็นสัดส่วนใหญ่ในบริษัท Pegatron Technology India ผู้ผลิตอิเล็กทรอนิกส์สัญชาติไต้หวันในอินเดีย”
เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึง “การรวมศูนย์ผลิต iPhone ในอินเดีย” ให้อยู่ภายใต้การดูแลของบริษัทอินเดียอย่าง “Tata Electronics”
อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ที่อินเดียจะสามารถผลิตส่วน “ตัวหัวใจสำคัญ” อย่างชิปโทรศัพท์มือถือเองได้นั้น ยังอยู่ห่างไกลออกไป “อาจต้องใช้เวลาอีก 5 ถึง 10 ปี” สิงห์กล่าวถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในอินเดีย “ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ แต่เป็นเรื่องของอนาคตระดับกลางถึงระยะยาว ตอนนี้พวกเขาเริ่มต้นแล้ว แต่ก็ยังต้องใช้เวลาอีกพอสมควร ดังนั้น ชิ้นส่วนที่มีมูลค่าสูงส่วนใหญ่ ก็ยังคงต้องมาจากจีนอยู่ดี”
1
ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมหลายแห่งระบุว่า แผงวงจรหลักสำหรับ MacBook, Mac Mini และ iMac บางรุ่นยังคงต้องส่งกลับไปยังนครเฉิงตู เซินเจิ้น และเซี่ยงไฮ้ เพื่อประกอบขั้นสุดท้าย เนื่องจากขณะนี้ยังไม่สามารถย้ายการผลิตชิ้นส่วนอื่น ๆ ออกจากจีนได้ ซึ่งรวมถึงตัวเครื่องโลหะ ชิ้นส่วนกลไก และขั้วต่อต่าง ๆ
1
ผู้บริหารจากซัพพลายเออร์ชิ้นส่วน MacBook กล่าวว่า ตัวเคสโลหะของ MacBook ใช้วิธีขึ้นรูปเป็นชิ้นเดียวและมีสกรูไม่กี่ชิ้น ทำให้ซับซ้อนและประกอบยากกว่าโน้ตบุ๊กทั่วไปมาก กระบวนการนี้ต้องใช้เครื่องจักรเฉพาะทางและช่างฝีมือจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันมีเพียง “จีน” เท่านั้นที่มีทรัพยากรเพียงพอ
'จีน' ยังคงเป็นฐานผลิตให้อิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่ (เครดิต: Counterpoint Research/ Nikkei Asia)
📌 ต้นทุน iPhone ในอินเดีย แพงกว่าจีน 5–8%
ในการย้ายฐานผลิตจะสร้างต้นทุนเพิ่มเติมให้กับ Apple โดยตามรายงานของสำนักข่าว Reuters ซึ่งอ้างแหล่งข่าวที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อระบุว่า การผลิต iPhone ในอินเดียนั้น มีต้นทุนสูงกว่าการผลิตในจีนราว 5–8%
“ในแง่ของการผลิต iPhone ส่วนหลัก ๆ การย้ายกระบวนการผลิตส่วนสำคัญจากจีนไปยังอินเดียนั้นจะต้องใช้เวลาหลายปี” แดน ไอฟส์ นักวิเคราะห์จาก Wedbush Securities กล่าว โดยหมายถึงชิ้นส่วนของโทรศัพท์ที่ยังคงผลิตในจีน ก่อนจะถูกส่งไปอินเดียเพื่อประกอบเป็นสินค้าเสร็จสมบูรณ์
ไอฟส์ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า แผนของ Apple ที่จะย้ายกระบวนการประกอบ iPhone สำหรับตลาดสหรัฐไปยังอินเดียทั้งหมด ซึ่งจะต้องวางโครงสร้างพื้นฐานใหม่ อาจทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 30,000–40,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1-1.3 ล้านล้านบาท
📌 ยังผลิตไม่ได้คุณภาพเท่าจีน
การผลิต iPhone ภายใต้การนำของ Tata Electronics ไม่ได้เป็นไปอย่างราบรื่นทั้งหมด ในปี 2023 โรงงานของ Tata ที่เมืองอุตสาหกรรม Hosur ในอินเดีย ซึ่งผลิตตัวเคส iPhone มีรายงานว่า อัตราการผลิตที่ผ่านมาตรฐาน มีอยู่เพียง 50% เท่านั้น กล่าวคือ “ครึ่งหนึ่งของชิ้นส่วน” ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพอันเข้มงวดของ Apple ซึ่งถือว่าเป็น “อัตราที่ต่ำมาก”
1
แม้การขยายการผลิตครั้งนี้จะเป็นความพยายามของ Apple ในการลดพึ่งพาจีนลงบางส่วน แต่ตัวกระบวนการขยายเองกลับต้องพึ่งพาแรงงานจีนอย่างมาก “คุณยังจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญจากจีน” สิงห์กล่าว “วิศวกรและบุคลากรจากจีน จำเป็นต้องเข้ามาเพื่อจัดตั้งสายการผลิตใหม่ในอินเดีย”
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้อาจกลายเป็นอุปสรรคสำหรับ Apple หากรัฐบาลจีนไม่พอใจต่อการเร่งย้ายฐานการผลิตไปยังอินเดีย “ผมคิดว่า แรงกดดันทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างอินเดียกับจีน เป็นปัจจัยจำกัดเพียงอย่างเดียว” สิงห์กล่าว
นอกจากนี้ ทิม คุก ซีอีโอของ Apple ยังเคยให้เหตุผลที่ทำไม Apple ถึง Made in China ว่า “ในสหรัฐ คุณอาจจัดประชุมเหล่าวิศวกรเครื่องมือ แล้วไม่แน่ใจว่าจะมีคนพอเติมห้องได้ แต่ในจีน คุณสามารถเติมคนได้หลายสนามฟุตบอลเลยทีเดียว” คุกกล่าว โดยคุกย้ำว่า เหตุผลที่บริษัท Apple พึ่งพาประเทศอย่างจีน ไม่ใช่เพราะแรงงานราคาถูก แต่เพราะคุณภาพของพนักงานที่มีทักษะและผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี
📌 จีนขวางถ่ายโอนฐานสู่อินเดีย
หากจีนอำนวยความสะดวกให้ Apple ย้ายฐานผลิตมายังอินเดียได้ง่ายขึ้น นี่จะส่งผลลบต่อการจ้างงานในจีน และขัดต่ออุดมการณ์ชาติได้ ด้วยเหตุนี้ อินเดียอาจจำเป็นต้องพึ่งพาความสามารถของตนเอง ควบคู่ไปกับความร่วมมือจากสหรัฐ ในการวางรากฐานการผลิตใหม่ทั้งหมด
The Information สื่อด้านเทคโนโลยี ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโกรายงานว่า “ในหลายกรณี เจ้าหน้าที่จีนได้ชะลอหรือสกัดกั้นการจัดส่งอุปกรณ์ผลิต iPhone ไปยังอินเดีย โดยไม่มีคำอธิบายใด ๆ” พร้อมระบุเพิ่มเติมว่า ระยะเวลาในการอนุมัติการส่งออกอุปกรณ์ผลิต iPhone จากจีนไปอินเดีย ได้เพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 2 สัปดาห์ เป็นนานถึง 4 เดือน!
ในกรณีหนึ่ง มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่จีนปฏิเสธไม่ให้ซัพพลายเออร์อุปกรณ์ของ Apple รายหนึ่งในจีน ส่งออกเครื่องจักรที่จำเป็นสำหรับการผลิตทดลอง iPhone 17 ไปยังอินเดีย ในที่สุดซัพพลายเออร์รายดังกล่าวจึงจัดตั้งบริษัทบังหน้าในแถบอาเซียน เพื่อพยายามหลีกเลี่ยงข้อจำกัดเหล่านี้
จะเห็นได้ว่า ความพยายามตัดขาดจากจีน มาพร้อมความท้าทายสูงหลายประการ แม้อาจยังไม่สำเร็จภายในยุคทรัมป์ แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย นี่จึงถือเป็น “นาฬิกาปลุก” ให้มังกรเร่งเตรียมพร้อมและหาแนวร่วมตลาดใหม่รองรับ ขณะที่สหรัฐกำลังเร่งลดการพึ่งพาจีนอย่างรวดเร็ว
โฆษณา