เมื่อวาน เวลา 11:00 • สุขภาพ

เลือดกรุ๊ปไหน รับ-ให้เลือด ใครได้บ้าง?

กรุงเทพธุรกิจ ชวนทำความเข้าใจเรื่อง “หมู่เลือด” หรือที่เรียกกันคุ้นหูว่า “กรุ๊ปเลือด” โดยที่จริงแล้ว หมู่เลือดนั้นมีอยู่ด้วยกันกว่า 40 ระบบ แต่ที่มีความสำคัญจริงๆ มีอยู่สองระบบด้วยกัน คือ
#ระบบเอบีโอ (ABO) แบ่งหมู่เลือด 4 หมู่ คือ เอ (A), บี (B), โอ (O) และเอบี(AB)
#ระบบอาร์เอช (Rh) แบ่งหมู่เลือดเป็น อาร์เอชบวก (Rh positive) และ อาร์เอชลบ (Rh negative) ซึ่งคนที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบนั้นพบได้น้อยในคนไทย (ในคนไทย 1000 คนพบคนที่มีหมู่เลือดอาร์เอชลบเพียง 3 คน) จัดเป็นหมู่เลือดหายาก
ทั้งนี้ ถ้าพูดถึงการ ”ให้เลือด“ นั้น มีระบบหมู่เลือดที่เกี่ยวข้องหลายระบบด้วยกัน แต่ระบบ ABO มีความสำคัญมากที่สุด
🔴 ระบบ ABO คือ อะไร?
ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงหมู่เลือดระบบ ABO ว่า ถูกกำหนดโดย “สารแอนติเจน” ที่อยู่บนผิวเม็ดเลือดแดง ซึ่งมีสองชนิดคือ สารแอนติเจน ‘เอ’ ( A antigen) และแอนติเจน ‘บี’ ( B antigen) โดยคนที่ไม่มีสารแอนติเจนชนิดใด ก็จะสร้างสารต้าน (antibody) ต่อสารแอนติเจนชนิดนั้น ซึ่งถ้า #ได้เลือดผิดหมู่ ก็จะเกิดปฏิกริยารุนแรงจากสารต้าน จนเกิด #อันตรายถึงแก่ชีวิตได้
หมู่เลือด A คือ คนที่มีสารแอนติเจน A บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน B จึงสร้างสารต้านต่อแอนติเจน B (anti B)
หมู่เลือด B คือคนที่มีสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่มีสารแอนติเจน A จึงสร้างสารต้านต่อแอนติเจน A (anti A)
หมู่เลือด AB คือคนที่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดงและไม่สร้างสารต้านทั้งสองชนิด
หมู่เลือด O คือคนที่ไม่มีทั้งสารแอนติเจน A และสารแอนติเจน B บนผิวเม็ดเลือดแดง จึงสร้างสารต้านต่อทั้งแอนติเจน A และแอนติเจน B
🔴 ระบบเลือด ABO และ การรับ-ให้ เลือด ระหว่างกัน
ระบบ ABO มีแอนติเจนและแอนติบอดีดังกล่าว ซึ่งแอนติบอดีหมายถึงภูมิต้านทานต่อแอนติเจนที่ตนเองไม่มี เกิดขึ้นตามธรรมชาติโดยถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อม เช่นอาหาร
เมื่อจำเป็นต้องมีการให้เลือดแก่ผู้ป่วย จึงต้องให้เลือดชนิดเดียวกับกรุ๊ปเลือดของผู้ป่วยเสมอ เช่น ให้เลือดกรุ๊ป A แก่ผู้ป่วยที่มีเลือดกรุ๊ป A เป็นต้น
แต่กรณีที่ไม่มีเลือดกรุ๊ปเดียวกับผู้ป่วย และเป็นกรณีเร่งด่วนซึ่งผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายถ้าไม่ได้รับโลหิตทันท่วงที แพทย์จะให้เลือดกรุ๊ปอื่นทดแทนได้โดยไม่เป็นอันตราย ได้ดังนี้
🔴 เลือดกรุ๊ป O
- ให้เลือดแก่ผู้ป่วยทุกกรุ๊ปเลือดได้ ทั้งกรุ๊ป O, A , B และ AB
- รับเลือดได้จากกรุ๊ป O อย่างเดียวเท่านั้น
🔴 เลือดกรุ๊ป A
- ให้เลือดแก่ผู้ป่วยกรุ๊ปเลือด A และ AB ได้
- รับเลือดได้จากกรุ๊ป A และ O
🔴 เลือดกรุ๊ป B
- ให้เลือดแก่ผู้ป่วยกรุ๊ปเลือด B และ AB ได้
- รับเลือดได้จาก B และ O
🔴 เลือดกรุ๊ป AB
- ให้เลือดแก่ผู้ป่วยกรุ๊ปเลือด AB ได้
- รับเลือดได้จากทุกกรุ๊ปเลือด
จะเห็นว่า เลือดกรุ๊ป O ถือเป็น Universal Donor คือ สามารถให้เลือดได้ทุกกรุ๊ป (A , B, AB และ O) แต่สามารถรับเลือดกรุ๊ป O ได้อย่างเดียว
ขณะที่ เลือดกรุ๊ป AB จะถือเป็น Universal Recipient คือ สามารถรับเลือดได้จากทุกกรุ๊ปเลือด (A , B, AB และ O) แต่ให้เลือดได้เฉพาะกรุ๊ปเดียวกับตัวเอง คือ AB เท่านั้น
ทั้งนี้ ข้อสำคัญที่ต้องทราบ คือ การให้เลือดต่างหมู่ที่เข้ากันไม่ได้จะทำให้มีการแตกทำลายของเม็ดเลือดแดงที่ให้ เกิดอันตรายร้ายแรงแก่ผู้ป่วยได้
ข้อมูลเพิ่มเติมจาก สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย ระบุถึง “ความชุก” ของกรุ๊ปเลือดในคนไทยพบมาก-น้อยต่างกันอย่างไร ดังนี้
กรุ๊ป O พบมากที่สุด ที่ 38 %
กรุ๊ป B ตามมาเป็นอันดับสอง ที่ 34 %
กรุ๊ป A เป็นอันดับสาม ที่ 21 %
กรุ๊ป AB พบน้อยที่สุด ที่ 7 %
หมายเหตุ : คนเลือดกรุ๊ป AB แม้จะสามารถรับเลือดกรุ๊ป O ได้ แต่แพทย์จะพิจารณาให้เลือดจากกรุ๊ป A หรือ B ก่อน โดยดูที่ปริมาณเลือดในคลังว่า กรุ๊ปไหนมีมากกว่ากัน
โฆษณา