3 พ.ค. เวลา 16:20 • ข่าวรอบโลก

“ข้อตกลงแร่หายาก” เพียงเพื่อสร้าง “ความหวัง” ให้แก่ยูเครน

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2025 สหรัฐและยูเครนได้ลงนามในข้อตกลงด้านทรัพยากรใต้ดินในยูเครน ซึ่งมีส่วนสำคัญคือ “แร่หายาก” โดยภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว จะมีการจัดตั้งกองทุนการลงทุนพิเศษขึ้นเพื่อนำรายได้จากการพัฒนาแหล่งทรัพยากรไปใช้ในการฟื้นฟูยูเครน เนื้อหาของข้อตกลงฉบับใหม่นี้ถือว่าเอื้อประโยชน์ต่อยูเครนมากกว่าร่างก่อนหน้าเดิมอยู่เล็กน้อย แต่พวกเขายูเครนยังคงมีความเสี่ยงอยู่ ทางเพจสรุปเนื้อหาที่สำคัญในข้อตกลงดังกล่าวไว้ดังนี้
เครดิตภาพ: RIA Novosti/Ilya Naimushin
  • ตามข้อตกลง รายได้จากการพัฒนาแหล่งทรัพยากรหายากของยูเครน รวมถึงน้ำมันและก๊าซ จะถูกส่งไปยังกองทุนการลงทุนที่จัดตั้งขึ้นโดยยูเครนและสหรัฐอเมริกา ยูเครนจะต้องโอนรายได้จากค่าเช่าและค่าใบอนุญาตที่ได้รับทั้งหมดครึ่งหนึ่งไปยังกองทุนนี้ ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐฯ ในรูปแบบใดๆ ก็ถือเป็นส่วนหนึ่งในกองทุนนี้เช่นกัน
  • เนื่องจากกองทุนนี้มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูยูเครนขึ้นมาใหม่ เงื่อนไขประการหนึ่งในการบังคับใช้ข้อตกลงคือ “การยุติความขัดแย้ง” (หยุดยิง) เอกสารที่ทางฝ่ายยูเครนเผยแพร่ระบุว่าแต่ละฝ่ายต้องดำเนินการตาม “ขั้นตอนภายใน” ให้เสร็จสิ้นเพื่อให้ข้อตกลงมีผลใช้บังคับ
  • ข้อตกลงฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึง “โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ซาปอริซเซีย” (ZNPP) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของรัสเซีย ก่อนหน้ายูเครนยืนกรานว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้จะต้องโอนมาให้ยังยูเครน และสหรัฐฯ พิจารณาทางเลือกในการควบคุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นหนึ่งในทรัพยากรภายในกรอบข้อตกลง เห็นได้ชัดว่าข้อเรียกร้องของยูเครนถูกปฏิเสธเมื่อลงนามข้อตกลงจริง
1
เครดิตภาพ: RUSSIAN EMERGENCIES MINISTRY HANDOUT/EPA-EFE/Shutterstock
  • ฝ่ายยูเครนถือว่าการไม่มีพูดถึงข้อกำหนดในการจ่ายคืนหนี้ที่เป็นเงินช่วยเหลือที่เคียฟได้รับจากวอชิงตันแล้วออกจากข้อตกลงฉบับล่าสุดที่ลงนาม ถือเป็นชัยชนะสำคัญของตน ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีทรัมป์ยืนยันว่า เนื่องจากสหรัฐฯ ใช้เงินไปกว่า 3.5 แสนล้านดอลลาร์ในการสนับสนุนยูเครน รวมถึงการจัดหาอาวุธ ข้อตกลงนี้จึงควรต้องมีการชดเชยหรือได้คืนค่าใช้จ่ายเหล่านี้ด้วย
  • การเรียกร้องขอให้ยูเครนใช้หนี้ของสหรัฐฯ ได้รับการยืนยันจากเอกสารที่เคยลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ โจ ไบเดน ซึ่งขยายอำนาจของเขาเพื่อช่วยเหลือยูเครน โดยอ้างอิงจากข้อความในเอกสารทางกฎหมาย ความช่วยเหลือทั้งหมดที่ให้เคียฟนั้นมอบให้โดยรูปแบบของ “การกู้ยืม” (ต้องมีชำระคืน) โดยเซเลนสกีผู้นำของยูเครนเคยปฏิเสธว่าไม่ได้มีหนี้ก้อนนี้กับสหรัฐฯ
ที่มา: https://www.congress.gov/bill/117th-congress/senate-bill/3522/text
  • ในวันที่มีการลงนามข้อตกลง ทำเนียบขาวกล่าวว่าข้อตกลงดังกล่าวได้รับการออกแบบมาเพื่อปกป้องการลงทุนของสหรัฐฯ ที่สนับสนุนยูเครน สหรัฐหวังว่าผลของข้อตกลงนี้ ไม่เพียงแต่จะคืนเงินที่ลงทุนไปเท่านั้น แต่ยังต้องสร้างกำไรได้อีกด้วย
  • ยูเครนอ้างว่าข้อตกลงฉบับใหม่ไม่ได้ระบุ “สิทธิพิเศษ” ให้กับการลงทุนสำหรับบริษัทอเมริกัน ก่อนหน้านี้ยูเครนคัดค้านการใช้ถ้อยคำดังกล่าว เนื่องจากอาจทำให้ความสัมพันธ์กับพันธมิตรจากสหภาพยุโรปซับซ้อนขึ้น เอกสารฉบับใหม่บ่งชี้ว่าเพื่อให้เคียฟปฏิบัติตามพันธกรณีที่มีต่อสหภาพยุโรป เงื่อนไขของข้อตกลงอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้หลังจากปรึกษาหารือกับสหรัฐอเมริกาแล้ว
  • ข้อความที่ฝ่ายยูเครนเผยแพร่ระบุว่าประเทศคู่ค้าควรได้รับ “เงื่อนไขที่เท่าเทียม” กับนักลงทุนรายอื่นๆ สำหรับการลงทุนเพื่อพัฒนาในยูเครน ขณะเดียวกันสื่อของสหรัฐฯ กลับกล่าวว่าบริษัทของสหรัฐฯ จะได้รับ “สิทธิพิเศษในการเข้าถึงทรัพยากรของยูเครน”
เครดิตภาพ: CBC
  • เดิมทียูเครนหวังที่จะแลกเปลี่ยนทรัพยากรในประเทศเพื่อเป็นสมาชิกนาโตหรืออย่างน้อยได้รับ “หลักประกันความมั่นคงจากสหรัฐอเมริกา” ซึ่งคล้ายกับมาตรา 5 ของนาโต แม้ว่ายูเครนจะลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนด้านความมั่นคงกับอังกฤษไปในเดือนมกราคม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีประเทศในยุโรปใดที่พร้อมจะส่งทหารและอาวุธไปยังยูเครนเพื่อต่อต้านการโจมตีที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
  • ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยกล่าวว่า ความคิดที่จะให้ยูเครนเข้าร่วมนาโตเป็นสาเหตุของความขัดแย้งกับรัสเซีย และตัดความเป็นไปได้ที่จะให้ยูเครนเข้าร่วมนาโตออกไป รัฐบาลสหรัฐฯ ชุดใหม่ยืนกรานว่ายุโรปควรรับรองความปลอดภัยของยูเครนกันเอง ข้อตกลงฉบับล่าสุดระหว่างสหรัฐฯ และยูเครนยัง “ไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการรับประกันความมั่นคงแก่ยูเครนจากสหรัฐ” แต่อย่างใด วอชิงตันอ้างว่าการที่นักลงทุนอเมริกันอยู่ในยูเครนถือว่าเป็นการรับประกันความปลอดภัยให้ยูเครนไปในตัวอยู่แล้ว
  • สันนิษฐานว่ากลไกการดำเนินงานและการกระจายกองทุนจะระบุไว้ชัดเจนยิ่งขึ้นในเอกสารฉบับแยกต่างหากที่ต้องลงนามเพิ่มเติมอีก ตามรายงานของสื่ออเมริกันข้อตกลงดังกล่าวได้รับการลงนามโดยยูเครนพร้อมกันกับข้อตกลงกรอบการทำงาน โดยเคียฟระบุว่าการลงนามยังคงค้างอยู่ (ต้องมีลงนามเพิ่มอีก)
  • เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย เอกสารกรอบการทำงานจะต้องได้รับการรับรองโดยสมาชิกรัฐสภาของยูเครน โดยสมาชิกรัฐสภาจะไม่เห็นข้อตกลงที่มีรายละเอียดมากกว่านี้ เคียฟระบุว่าข้อตกลงดังกล่าวจะได้รับการลงนามหลังจากการให้สัตยาบันแล้ว สหรัฐฯ คาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ภายในหนึ่งเดือน ดังนั้นเคียฟจึงเร่งกระบวนการให้สัตยาบันโดยเลื่อนการประชุมสภาจากวันที่ 15 พฤษภาคมเป็นวันที่ 8 พฤษภาคมนี้
1
เครดิตภาพ: Yulia Svyrydenko via Facebook
  • ข้อตกลงดังกล่าวระบุว่าในช่วง 10 ปีแรก รายได้จากการลงทุนทั้งหมดที่กองทุนได้รับจะนำไปใช้ฟื้นฟูยูเครน หลังจากนั้น สหรัฐฯ ในฐานะผู้ก่อตั้งกองทุนจะสามารถรับรายได้ส่วนหนึ่งของกองทุนได้ ในขณะเดียวกันโอกาสในการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในยูเครนยังไม่ชัดเจน โดยสาเหตุหลักมาจากสงครามที่ยังคงดำเนินอยู่
  • กองทุนจะได้รับรายได้จากแหล่งเงินลงทุนฝากเข้ามาใหม่เท่านั้น ซึ่งจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะพัฒนาโครงการและได้รับรายได้ ตามข้อมูลของศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ ต้องใช้เวลาเฉลี่ย 18 ปีตั้งแต่การสำรวจแหล่งทรัพยากรจนถึงการขุด และไม่ใช่ทุกโครงการที่จะมีความคุ้มทุน
  • ข้อตกลงดังกล่าวไม่มีกำหนดระยะเวลาและจะมีลำดับความสำคัญเหนือกว่าขั้นตอนตามกฎหมายภายในประเทศของยูเครน ดังนั้นเพื่อนำไปปฏิบัติ ยูเครนจะต้องทำการเปลี่ยนแปลงการจัดทำงบประมาณของประเทศ
ศูนย์วิเคราะห์นโยบายยุโรป (CEPA) พบว่ายากที่จะหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใดๆ สำหรับยูเครนจาก “ข้อตกลงด้านทรัพยากรใต้ดิน” ระหว่างสหรัฐอเมริกาและยูเครน อย่างน้อยก็ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในกรอบเวลาที่คาดเดาได้
“ข้อตกลงนี้เป็นประโยชน์ต่อยูเครนเพียงเพราะ มันให้บางสิ่งบางอย่างแก่ยูเครนแต่แทบไม่ให้ผลตอบแทนใดๆ เลย แต่มันช่วยรักษาความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนที่เป็นอิสระและสหรัฐอเมริกาในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจอย่างเป็นทางการ” Alexander Kolyander เขียนในบทความวิเคราะห์ของ CEPA
  • แน่นอนว่าการเข้าถึงเงินทุนและเทคโนโลยีของอเมริกาจะทำให้ทรัพยากรของยูเครนมีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น แต่มีแนวโน้มสูงที่ทรัพยากรส่วนใหญ่ของยูเครนจะยังไม่ถูกแตะต้องเป็นเวลาหลายปี ในที่สุดข้อตกลงนี้อาจเป็นเรื่องการเมืองมากกว่าเชิงพาณิชย์
นักวิเคราะห์กล่าวเสริมว่า “ใช่ ข้อตกลงนี้ไม่ได้ให้การรับประกันความมั่นคงเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ยูเครน แต่ให้การสนับสนุนบางส่วนจากสหรัฐอเมริกา และหวังว่าฝ่ายบริหารจะสนับสนุนยูเครน” ความหวังอย่างที่เรารู้กันนั้นมีโอกาสมลายไปสูง แต่ถ้าหากสิ่งที่เรียกว่า “ผลประโยชน์ของชาติสำหรับยูเครน” มีอยู่จริงในทางปฏิบัติ ข้อตกลงนี้คงเรียกได้ว่าเป็นหายนะ
1
เรียบเรียงโดย Right Style
3rd May 2025
  • อ้างอิง:
<ภาพปก: รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ “สก็อตต์ เบสเซนต์” และรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจยูเครน “ยูเลีย สวีรีเดนโก” ลงนามข้อตกลงทรัพยากรแร่หายากในวอชิงตัน เมื่อ 30 เมษายน 2025 เครดิต: Department of the Treasury / EPA>
โฆษณา