4 พ.ค. เวลา 12:14 • ประวัติศาสตร์

การจลาจลที่ Haymarket กับระเบิดที่เปลี่ยน 4 พค. ไปอย่างถาวร

สมมตินะครับ ถ้าผมถามว่า “คุณคิดว่าคนเราควรทำงานวันละกี่ชั่วโมง ถึงจะเรียกว่าพอดี?”
คำตอบของคุณคืออะไรครับ ? เมื่อประมาณร้อยกว่าปีก่อน คำถามนี้เองเคยเป็นข้อขัดแย้งที่ทำให้เกิดการเดินขบวนของคนงานหลายหมื่นคนในเมืองชิคาโก โดยทั้งหมด เริ่มต้นจากความหวังเล็กๆ ของคนธรรมดาที่อยากได้เวลาส่วนตัวกลับคืนมาแต่มันกลับจบลงด้วยเสียงปืน และเสียงระเบิด
แล้วระเบิดในวันที่ 4 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 ก็กลายเป็นเหตุการณ์ที่เปลี่ยนชีวิตของคนใช้แรงงานในหลายประเทศทั่วโลก
ทุกวันนี้เรารู้จักกับเหตุการณ์ในวันนั้นที่ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อว่า Haymarket Riot
ก่อนที่จะไปดูเหตุการณ์ที่เฮมาเก็ต ผมอยากจะชวนไปดูสังคมอเมริกันช่วงนั้นกันก่อน เพื่อจะได้เข้าใจหน้าตาของยุคสมัยนั้นมากขึ้น
ลองจินตนาการว่าเราอยู่ในอเมริกาช่วงปลายของศตวรรษที่ 19 ประมาณปี ค.ศ. 1870 อเมริกาในเวลานั้นเพิ่งสิ้นสุดสงครามกลางเมืองหรือ civil war ได้ไม่นานเมื่อบาดแผลจากความขัดแย้งทางการเมืองเริ่มสมาน อเมริกาก็เข้าสู่ยุคสมัยของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว มีการพัฒนาแบบไม่หยุดยั้ง
ผู้คนในสังคมตื่นเต้นกับรถไฟเส้นทางใหม่ ตื่นเต้นกับเสาไฟฟ้าที่ตั้งขึ้นมากมาย ตื่นเต้นกับการสร้างเส้นทางรถไฟที่เชื่อมทวีปตะวันออกและตะวันตกเข้าด้วยกัน (Trans-Continental railroad) ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเชื่อมเป็นหนึ่งเดียวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
การเติบโตนี้ทำให้อเมริกามีความต้องการแรงงานอย่างมหาศาลแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน ในช่วงปี ค.ศ. 1880 ถึง 1920 มีคนนับล้านจากยุโรปเดินทางเข้าไปในอเมริกาเพื่อหวังจะมีชีวิตที่ดีกว่า แต่ก็ต้องผิดหวังเพราะแม้ว่าจะมีงานมากมาย แต่ก็เป็นงานที่ลำบาก รายได้ที่ได้ก็น้อยกว่าที่คิดไว้ เงินที่ได้จากงานบางครั้งเพียงครบ 3 มื้อ ความหวังที่จะส่งเงินกลับบ้านก็ไม่สามารถเป็นจริงได้
โรงงานก็มีสภาพแวดล้อมที่เลวร้ายมาก หน้าร้อนก็จะร้อนจัด ต้องหายใจเอาฝุ่นควันและกลิ่นน้ำมันเครื่องเข้าไป หน้าหนาวก็หนาวจัดจนมือปวด นิ้วปวด ถ้าเกิดพลาดแล้วโดนเครื่องจักรเฉือนนิ้วขาด ก็ไม่มีคำใครรู้จักคำว่า เงินชดเชย ไม่มีวันลาป่วย ลาคลอก ไม่มีคำว่าประกันสังคม ไม่มีคำว่าประกันอะไรสิ้น เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานยังไม่มี กฎหมายแรงงานขั้นต่ำก็ไม่มี
เด็กๆ ก็ต้องทำงาน ช่วยหาเลี้ยงครอบครัว และเพราะมีงานหลายอย่างที่ผู้ว่าจ้างยินดีจ่ายเพื่อจ้างเด็ก เพราะงานบางอย่างเหมาะสำหรับมือเล็กๆ หรือคนตัวเล็ก เช่น เด็กอายุ 10 ขวบก็ต้องทำงานในโรงงาน หรือ ทำงานในเหมืองเพราะสามารถมุดเข้าไปในช่องเล็กๆ ได้
ถ้าเราเบือนหน้าหนีจากภาพของคนหรือชนชั้นแรงงานที่มีชีวิตอย่างยากลำบากแล้วไปดูทางฝั่งของเจ้าของธุรกิจ เราก็จะได้เห็นคนที่มีชื่อเสียงสำคัญหลายคนที่ทุกวันนี้เรายังคุ้นเคยชื่อ พวกเขาเป็นกลุ่มนายทุนที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างประเทศอเมริกาให้กลายมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่มีความยิ่งใหญ่และมีอิทธิพลกับโลกทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนอย่าง John D. Rockefeller, Andrew Carnegie, Cornelius Vanderbilt และ J.P. Morgan
ในขณะที่ชนชั้นแรงงานต้องใส่เสื้อผ้าเก่าๆ ขาดๆ มีรองเท้าคู่เดียวที่ใส่มาทำงานทุกวัน กลุ่มชนชั้นกลาง เจ้าของโรงงาน มีเสื้อผ้าราคาแพงที่สั่งซื้อมาจากยุโรป ขณะที่ชนชั้นแรงงานได้ค่าแรงเพียงพอที่จะมีซื้ออาหารประทังชีวิตไปวันๆ เศรษฐีเหล่านี้สามารถจัดปาร์ตี้เชิญแขกมาเป็นร้อยหรือเป็นพันคน และมีอาหารหรูหรากินเหลือทิ้งไม่ต่างไปจากกษัตริย์หรือราชวงศ์ของยุโรป
ขณะที่คนรวยอาศัยอยู่ในคฤหาสน์ที่มีห้องเป็นร้อยห้อง มีไฟและน้ำประปาใช้ ชนชั้นแรงงานต้องอาศัยรวมกันหลายครอบครัวในห้องเช่าที่แออัดไม่มีห้องน้ำ ไม่มีไฟ เต็มไปด้วยหนูและโรคระบาด
ดังนั้นยุคนั้นแม้ว่าจะมีความเจริญก้าวหน้าเกิดขึ้นมากมายแต่ก็ไม่ใช่ยุคทอง แต่จะถูกเรียกว่า Gilded Age ที่แปลว่ายุคเคลือบทอง (ผมเคยเล่าเรื่องราวยุคนี้ไปแล้วใน Youtube และ Spotify) เพราะมันดูดีสวยงามแค่ภายนอก แต่ทองที่เคลือบไว้ปิดบังรอยร้าวหรือความเน่าเสียที่ซ่อนอยู่ภายใน
คราวนี้เราเดินทางมาที่เมืองชิคาโกกันบ้าง ช่วงเวลานั้นเป็นเมืองที่โตเร็วมากที่สุดเมืองหนึ่งของอเมริกา จากเดิมที่เป็นหมู่บ้านเล็กๆ มีประชากรหลักพัน อยู่ลึกเข้าไปตอนกลางของประเทศอเมริกาที่ไม่มีคนเดินทางไปมากนัก แต่เมื่อมีทางรถไฟวิ่งผ่าน ชิคาโก้ก็กลายเป็นศูนย์กลางการค้า กลายเป็นมหานครอุตสาหกรรมที่มีประชากรเกือบถึงล้านคนในปี 1880 และเป็นหนึ่งในเมืองที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุดในอเมริกา
2
ความขัดแย้งที่เราคุยถึงวันนี้เริ่มต้นขึ้นมาจากคำถามง่ายๆ ว่า "เราจะขอทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมงได้ไหม" เมื่อคนงานเริ่มรู้สึกว่าชีวิตมาถึงจุดที่ทนต่อไม่ไหวและไม่มีใครช่วยพวกเขาได้ ชนชั้นแรงงานจึงเริ่มรวมตัวกัน และค่อยๆ เกิดแนวคิดสหภาพแรงงานขึ้น (Labor Union)
นอกเหนือจากนั้นก็จะมีกลุ่มที่เรียกว่าอัศวินแรงงาน หรือว่า Knights of Labor ที่ตั้งขึ้นเพื่อจะต่อสู้เรียกร้องให้กับชนชั้นตัวเอง สิ่งที่พวกเขาต้องการฟังดูค่อนข้างธรรมดามากสำหรับยุคเรา ไม่ว่าจะเป็น ขอทำงานแค่วันละ 8 ชั่วโมง ขอให้สภาพแวดล้อมในที่ทำงานปลอดภัยมากกว่านี้ ขอค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ต่ำจนเหมือนมองมนุษย์เป็นแค่ต้นทุน
แต่ขณะเดียวกัน ก็มีกลุ่มที่มีแนวคิดรุนแรงไปกว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดสังคมนิยม หรือ Socialism และอนาธิปไตยที่เติบโตขึ้นมาพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะจากยุโรป ยุคนั้นมีหนังสือพิมพ์ภาษาเยอรมันในอเมริกาชื่อว่า Arbeiter-Zeitung ที่ออกัสต์ สปีส์ (August Spies) เป็นบรรณาธิการทำหน้าที่เหมือนเป็นตัวแทนและช่องทางปลุกเร้าของเหล่าชนชั้นแรงงาน
และแน่นอนว่า ไม่ใช่ทุกคนที่พอใจกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นนี้
ทางฝั่งของกลุ่มนายจ้างและรัฐบาลรวมถึงชนชั้นกลาง มองว่าการรวมตัวของชนชั้นแรงงานเหล่านี้เป็นภัยต่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ทำให้หลายรัฐมีการออกกฎหมายของรัฐที่จะต่อต้านสหภาพแรงงาน ทางตำรวจและทหารก็มองว่าคนกลุ่มนี้ทำลายระเบียบของสังคมและปราบปรามการประท้วงหรือการรวมกลุ่มอยู่เรื่อยๆ
หนึ่งในการต่อต้านหรือการปราบการชุมนุมที่รุนแรงที่สุดคือการปราบปรามการหยุดงานของคนงานรถไฟในเมือง Pennsylvania หรือในชื่อว่า Pennsylvania Railroad Strike ในปี ค.ศ. 1877 เหตุการณ์ในครั้งนั้นลุกลามจนทำให้เกิดการประท้วงใน 14 รัฐของอเมริกา และเมื่อสถานการณ์ควบคุมไม่อยู่ ประธานาธิบดีขณะนั้นคือ Rutherford B. Hayes ก็ส่งทหารเข้าไปปราบปราม ผลคือมีผู้เสียชีวิตจากการประท้วงมากกว่า 100 คน โรงงานและสถานีรถไฟถูกเผาประมาณ 40 แห่ง
1
แล้วการประท้วงก็เกิดขึ้นอีกครั้งในวันที่ 1 พฤษภาคม ค.ศ. 1886 ที่เมืองชิคาโก้ เมื่อคนงานจำนวนหลายหมื่นคนหยุดงานเพราะหมดความอดทนกับการโดนกดขี่ สิ่งที่พวกเขาเรียกร้องคือ คือ ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง มีเวลาเพื่อทำอย่างอื่นที่อยากทำ 8 ชั่วโมง
หลายโรงงานตอบโต้ด้วยการจ้างคนงานชั่วคราวมาทำงานแทนพนักงานประจำที่ประท้วง เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นว่ามีคนพร้อมที่จะทำงานอีกมากมาย
การชุมนุมดำเนินไปถึงวันที่ 3 พฤษภาคม ก็มีเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นที่หน้าโรงงานของบริษัท McCormick Harvester Works เหตุการณ์เริ่มต้นเมื่อกลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 6,000 คนเดินขบวนไปที่โรงงาน McCormick เพื่อแสดงพลังและต่อต้านการจ้างคนงานทดแทน แล้วคนงานทดแทนกำลังเลิกงานพอดี กลุ่มผู้ประท้วงจึงตะโกนด่าทอและขว้างก้อนหินใส่พวกเขา
ตำรวจซึ่งถูกส่งมาคุ้มครองโรงงานจึงตัดสินใจยิงปืนใส่ฝูงชน ส่งผลให้มีคนงานเสียชีวิต 2 คนและบาดเจ็บอีกหลายคน ในวันนั้น อ๊อกัสต์ สปีส์ (August Spies) นักหนังสือพิมพ์จาก Arbeiter-Zeitung อยู่ในเหตุการณ์ เขารีบวิ่งกลับไปที่ออฟฟิศ เปิดเครื่องพิมพ์ดีแล้วก็เขียนใบปลิว ในข้อความที่เขียนไม่ใช่การเรียกร้องแต่เป็นการปลุกระดม เขาเขียนว่า "พวกเราที่รักสันติถูกยิงโดยไม่มีคำเตือน เลือดของพวกเราจะต้องไม่หลั่งไหลออกมาอย่างสูญเปล่า"
แล้วคืนนั้นใบปลิวก็กระจายไปทั่วเมืองพร้อมกับคำเชิญชวนให้มารวมตัวกันอีกครั้งในวันที่ 4 พฤษภาคมที่ลาน Haymarket (เฮมาร์เก็ต) ซึ่งจะกลายเป็นเหตุการณ์ใหญ่ที่ปัจจุบันเรียกว่า "เหตุการณ์ Haymarket" (Haymarket Affair)
ในวันที่ 4 พฤษภาคม ผู้คนเดินทางมารวมตัวกันจำนวนมากที่จัตุรัสเฮมาร์เก็ตสแควร์ แล้วก็มีการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่หน้าโรงงานแมคคอร์มิค พวกเขาอยากรู้ว่าพวกเขาควรจะต้องทำอย่างไรกันต่อ
เย็นวันนั้นนายกเทศมนตรีของเมืองชิคาโก ชื่อว่า Carter Harrison Sr. ก็เดินทางมาสังเกตการณ์การชุมนุมด้วยตัวเอง พอเห็นว่าเป็นการชุมนุมแบบที่สงบ ก็เลยบอกตำรวจว่าไม่ต้องส่งกำลังมาเพิ่ม และขอให้ตำรวจแยกย้ายกันกลับไป แต่ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่เชื่อฟังคำสั่งของนายกเทศมนตรี
อย่างที่คุยไปก่อนหน้าก็คือว่าในยุคนั้น ทัศนคติหรือมุมมองของตำรวจและทหาร มองว่าชนชั้นแรงงานที่พยายามเรียกร้อง เป็นกลุ่มคนที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความไม่สงบ และตำรวจจำนวนมากมีความสัมพันธ์อันดีกับนายทุนหรือเจ้าของโรงงาน เขามองว่าเป็นฝั่งเดียวกัน ทำให้ตำรวจบางส่วนยังคงประจำอยู่ในที่ชุมนุม ขณะที่มีแกนนำขึ้นไปปราศรัยทีละคน
จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 22:30 น. ฝูงชนก็เริ่มเบาบางลง ผู้ปราศรัยคนสุดท้ายคือ ซามูเอล ฟิลเดน (Samuel Fielden) กำลังจะพูดจบ เจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 180 นายก็เดินแถวเข้ามา แล้วนายตำรวจตำแหน่ง Inspector John Bonfield ก็ตะโกนออกคำสั่งให้แยกย้ายในทันที
ขณะที่ซามูเอล ฟิลเดนก็บอกว่าเขาใกล้จะจบแล้ว ตำรวจก็ไม่ยอมและสั่งให้แยกย้ายในทันที หลังจากนั้นก็ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้น แต่มีข้อเท็จจริงหนึ่งที่ทุกคนจำได้ก็คือว่ามีคนขว้างระเบิดไปยังกลุ่มของตำรวจ แล้วเสียงระเบิดก็สั่นสะเทือนไปทั่วจัตุรัส หลังจากนั้นทุกอย่างก็วุ่นวายไปหมด เสียงปืนก็ดังตามมามากมาย ตำรวจจำนวนมากยิงสวนออกไป แต่ด้วยความมืดมิดและความหวาดกลัว กระสุนจำนวนไม่น้อยจึงยิงไปในทิศทางที่เพื่อนตำรวจด้วยกันเองยืนอยู่
ในช่วงโกลาหลไม่กี่นาทีนั้น มีตำรวจเสียชีวิตประมาณ 7 นาย และมีตำรวจบาดเจ็บอีกประมาณ 60 นาย คาดว่าเกือบทั้งหมดเป็นจากการยิงกันเอง จำนวนผู้ชุมนุมที่เสียชีวิตที่แน่นอนไม่มีใครรู้ เพราะไม่มีใครได้นับอย่างจริงจังและไม่มีบันทึกที่ดีระดับที่เรียกว่าเชื่อถือได้ เพราะคนมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ร้าย เป็นผู้ก่อให้เกิดความไม่สงบ
คำถามคือว่าแล้วใครเป็นคนขว้างระเบิด จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจน บางคนก็บอกว่าเป็นฝีมือของกลุ่มคนหัวรุนแรงอนาธิปไตย บางคนบอกว่าเป็นฝีมือของตำรวจเองเพื่อที่จะสร้างสถานการณ์ บางคนบอกว่าเป็นคนกลุ่มอื่นหรือถ้าเป็นแบบไทยเราก็คงจะเรียกว่าเป็นคนชุดดำ ที่แฝงตัวเข้ามาโดยไม่รู้วัตถุประสงค์ว่าเขาต้องการอะไร
หลังการระเบิดในคืนนั้น สังคมในเมืองชิคาโกก็โกลาหลกับการชี้นิ้วหาคนผิด หนังสือพิมพ์หลายสำนักพาดหัวข่าวว่าโทษกลุ่มอนาธิปไตยและสังคมนิยมหัวรุนแรง บางฉบับเหมารวมนักเคลื่อนไหวเพื่อชนชั้นแรงงานว่าเป็นกลุ่มเดียวกันกับพวกหัวรุนแรง แล้วก็มีสื่อมวลชนที่เขียนว่าถึงเวลาแล้วที่ควรจะกวาดล้างพวก สังคมนิยม อนาธิปไตย และคนที่เรียกร้องเพื่อชนชั้นแรงงานให้หมดไปจากชิคาโก
ตำรวจชิคาโกก็รับลูกและให้มีการจับนักเคลื่อนไหวเพื่อชนชั้นแรงงานแบบกวาดเรียบโดยไม่ต้องมีหลักฐานชัดเจน แค่มีชื่ออยู่ในวงการว่าเป็นนักเคลื่อนไหวก็มากเพียงพอที่จะโดนจับ
หนังสือพิมพ์อย่าง Arbeiter-Zeitung ถูกบุกค้น ใบปลิวถูกยึด และบรรณาธิการและผู้เขียนถูกจับมาสอบปากคำโดยที่ไม่มีทนาย บางคนถูกคุมขัง บางคนถูกซ้อม จำเลยสำคัญที่สุดมีอยู่ 8 คนด้วยกัน ได้แก่ ออกัสต์ สปีส์ (August Spies) บรรณาธิการ Arbeiter-Zeitung, อัลเบิร์ต พาร์สันส์ (Albert Parsons) , อดอล์ฟ ฟิชเชอร์ (Adolph Fischer), จอร์จ เองเจล (George Engel), หลุยส์ ลิงก์ (Louis Lingg), ไมเคิล ชวาบ (Michael Schwab), ซามูเอล ฟิลเดน (Samuel Fielden) และออสการ์ นีบ (Oscar Neebe)
ที่น่าสนใจก็คือ 8 คนที่ถูกจับนี้ มีเพียง 2 คนเท่านั้นที่อยู่ในจัตุรัสตอนที่เกิดเหตุการณ์ระเบิด แต่คนทั้ง 8 ถูกตั้งข้อหาสมรู้ร่วมคิดในการฆาตกรรม แล้วการพิจารณาคดีก็เป็นเหมือนจัดฉากไว้ล่วงหน้า ทุกคนในสังคมมองออกว่าเป็นคดีที่ลำเอียงอย่างชัดเจน ตั้งแต่การคัดเลือกคณะลูกขุนก็ไม่เป็นธรรม ศาลก็ดูจะปักใจไว้แล้วว่าจะตัดสินยังไง สุดท้ายในวันที่ 19 สิงหาคม ค.ศ. 1886 คณะลูกขุนก็ตัดสินว่าจำเลยทั้ง 8 มีความผิด 7 คนถูกตัดสินประหารชีวิต 1 คนถูกตัดสินจำคุก 15 ปี
หลังคำตัดสิน ทนายยื่นอุทธรณ์ต่อศาลสูงสุดของรัฐอิลลินอยส์ ทำให้คำตัดสินเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย โดยมี 2 คน (ไมเคิล ชวาบและซามูเอล ฟิลเดน) ได้รับการลดโทษจากประหารชีวิตเป็นจำคุกตลอดชีวิต
หลุยส์ ลิงก์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ในคุกก่อนถึงวันประหาร ส่วนอีก 4 คน (สปีส์, พาร์สันส์, ฟิชเชอร์ และเองเจล) ถูกแขวนคอในวันที่ 11 พฤศจิกายน 1887 ก่อนถูกประหาร สปีส์ได้กล่าวคำพูดอันโด่งดัง: "The time will come when our silence will be more powerful than the voices you strangle today" (วันหนึ่งเสียงที่เงียบของเราจะกลายเป็นเสียงที่ทรงพลังยิ่งกว่าเสียงที่ถูกรัดคอให้เงียบในวันนี้)
1
เรื่องราวเหมือนกับจะจบลงตรงนี้ที่เป็นชัยชนะของทางฝ่ายต่อต้านชนชั้นแรงงาน แต่ 6 ปีหลังการประหารชีวิต คือในปี ค.ศ. 1893 ผู้ว่าการรัฐอิลลินอยส์คนใหม่ชื่อว่า John Peter Altgeld ก็ให้มีการตรวจสอบคดีอย่างละเอียด และออกคำสั่งอภัยโทษให้กับนีบ, ฟิลเดน และชวาบ ซึ่งในเวลานั้นยังมีชีวิตอยู่ในคุก เขาให้เหตุผลว่าีหลักฐานไม่มากพอจะบอกว่าพวกเขาเกี่ยวข้องกับการขว้างระเบิดใส่ตำรวจ เขายังวิจารณ์การกระทำของตำรวจในเหตุการณ์ว่าทำเกินกว่าเหตุ
แต่ในการเลือกเป็นศัตรูกับสื่อ ตำรวจและกลุ่มธุรกิจก็มีผลทำให้อาชีพทางการเมืองของเขาสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้เรารู้ดีว่าชัยชนะที่แท้จริงเป็นของฝ่ายที่พ่ายแพ้ในวันนั้น เพราะเหตุการณ์ในวันที่ 4 พค. ปีนั้น เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของประวัติศาสตร์ นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิแรงงานในหลายต่างๆ เริ่มเรียกร้องให้มีวัน "วันแรงงานสากล" เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ในช่วงเวลานั้น จนในปี 1889 สมาพันธ์สังคมนิยมนานาชาติที่ปารีสประกาศให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็น "วันแรงงานสากล" (International Workers' Day หรือ May Day) เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์เฮมาร์เก็ตและการต่อสู้เพื่อชม.ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง
คำพูดสุดท้ายของออกัสต์ สปีส์ก่อนถูกประหารที่ว่า วันหนึ่งความเงียบของพวกเขาจะทรงพลังมากกว่าเสียงของคนที่รัดคอพวกเขา ได้กลายเป็นความจริง เพราะผลของการเรียกร้องสิทธิของชนชั้นแรงงานในวันนั้น
สุดท้ายผมอยากให้เห็นว่า หลายสิ่งที่ดูเป็นเรื่องปกติของเราในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น การได้เลิกงานตอน 5 โมงเย็น การได้หยุดวันเสาร์ อาทิตย์ การได้รับสวัสดิการต่างๆ หรือกฎหมายแรงงานต่างๆ ล้วนแล้วแต่เป็นมีเรื่องราวที่คนในยุคก่อนต้องต่อสู้ ต้องเสียชีวิต เพื่อที่จะให้ได้มันมา
2
ส่วนท้ายนี้ขอโฆษณาหนังสือหน่อยนะครับ ถ้าใครชอบเรื่องราวแนวความรู้แบบ นี้ อยากแนะนำให้อ่าน หนังสือที่ผมเขียนด้วย ปัจจุบันเขียนมาแล้ว 9 เล่ม สั่งซื้อหนังสือแบบร้านค้า official พิมพ์ค้นหา "Chatchapolbook" หรือกดที่ลิงก์ด้านล่างนี้ได้เลยครับ
💚 Line My Shop : https://bit.ly/3FvsFav
นอกจากนี้ผมยังมีรายการเล่าวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์อีกรายการใน Youtube ชื่อ Humanศาสตร์ ใน The Standard podcast
โฆษณา