5 พ.ค. เวลา 06:22 • ความคิดเห็น

เอ็นเตอร์เทนเม้นท์คอมเพล็กซ์ : บทเรียนจากเมียนม่า

ฟังดูย้อนแย้งนะครับ เพราะปัจจุบันเมียนม่าดูแย่กว่าเราเยอะจากรัฐประหารและสงคราม แล้วจะมีบทเรียนอะไรจากเขาได้ แต่ ณ ตอนนั้น ช่วงปี 2013 ผมทำงานอยู่ที่ย่างกุ้งและในตอนนั้นมีบางอย่างที่น่าเรียนอยู่กันไม่น้อย
1
เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ที่มีกาสิโนตอนนี้ดูจะไม่มีใครสนับสนุนเท่าไหร่นัก มีกลุ่มหนึ่งคือไม่ชอบกาสิโนแน่ๆ และอีกกลุ่มหนึ่งคิดว่าเป็นไอเดียที่ดีถ้าทำได้ “ โปร่งใส” แต่ด้วยความไม่มี “trust” ต่อรัฐจากหลายเหตุการณ์บ้านเมืองที่ผ่านมา คนที่เห็นด้วยก็ไม่สนับสนุนเพราะคิดว่าผลประโยชน์ก็จะไปตกอยู่กับคนไม่กี่กลุ่มเหมือนเดิมอีก ประเทศก็จะไม่ได้อะไรในที่สุดต่อให้เป็นโครงการที่ดีก็ตาม
ผมเองก็อยู่ในแกนนี้ คิดว่าเป็นโครงการที่ดีถ้าจัดการได้ดีและประเทศต้องมี man made destination ใหม่ๆเพิ่มไม่เช่นนั้นการท่องเที่ยวไทยก็จะค่อยๆเสื่อมถอย แต่ก็ได้ยินแต่ข่าวลือว่ากลุ่มนี้จอง กลุ่มนั้นล็อคไปแล้วตามสไตล์ไทยๆก็ไม่ได้จะอยากสนับสนุนใดๆ…
เมียนม่าเมื่อปี 2013 ก็เช่นกัน ผมบังเอิญไปมีโอกาสเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้พอดีเลยนึกขึ้นได้ จึงอยากจะเทียบเคียงให้ฟัง
เมื่อปี 2013 ในตอนนั้นเมียนม่ากำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารสู่พลเรือน ถ้าจำไม่ผิดเป็นช่วงเต็งเส่ง พม่าก่อนปี 2013 นั้น ระบบโทรคมนาคมในประเทศแย่มากๆ โทรศัพท์มือถือมีไม่ถึงล้านเบอร์ มี operator สองรายคือ MPT กับ Yantanaporn เป็นของรัฐทั้งคู่ (แนว ทศท กสท) สัญญานออกนอกเมืองไปก็แทบจะไม่มี
ในสมัยนั้นซิมการ์ดราคาห้าหกหมื่นบาท penetration rate ไม่ถึง 2% คือคนร้อยคนมีมือถือไม่ถึงสองคน รัฐบาลทหารในตอนนั้นต้องการประมูลคลื่นความถี่ให้เอกชนมาดำเนินการและมีจุดประสงค์ที่จะเปิดประเทศมากขึ้น ต้องการการลงทุนมากขึ้น ก็เลยตั้ง คณะกรรมการประเมินและคัดเลือกผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Telecommunications Operator Tender Evaluation and Selection Committee)
1
ซึ่งมี นายเซ็ต อ่อง (Set Aung) รองรัฐมนตรีกระทรวงวางแผนและพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติในขณะนั้น เป็นประธานคณะกรรมการ โดยมีโจทย์ชัดเจนว่าต้องการให้การใช้มือถือกระจายสู่ประชาชนให้ทั่วถึง ต้องการให้ราคาลงมาให้มากที่สุด มีสัญญานครอบคลุมที่สุด และที่สำคัญ ไม่ได้ต้องการเงินประมูลมากสุดแต่ต้องการคนทำ “ เป็น” มาดำเนินกิจการ
ในช่วง RFP (request for proposals) นี่แหละที่ผมจับพลัดจับผลูได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแบบงงๆ ..
ในตอนนั้นผมเพิ่งออกจากงานที่แกรมมี่ แล้วทางเทเลนอร์โดยคุณซิกเว่ เบรกเก้เจ้านายเก่า โทรชวนให้ผมมารับงานเป็นหนึ่งในทีมทำเอกสารประมูลมือถือที่เมียนม่า ผมด้วยความที่ตกงานอยู่ก็เลยรับปากแบบง่ายๆ ในใจก็คิดว่าเทเลนอร์ไม่น่าจะเข้ารอบแรกด้วยซ้ำ เมียนม่าน่าจะล็อคสเปคแล้ว พรรคพวกใครก็พรรคพวกมัน ไทยพัฒนากว่ายังทำกันเป็นปกติ นอร์เวนี่ทำอะไรแนวใต้โต๊ะไม่ได้เลย ถ้าไปยุ่งเกี่ยวมีโดนไล่ออกกันหมด จะไปชนะได้ยังไง
พอมาเจอทีมงานเทเลนอร์ถึงรู้ว่าเทเลนอร์และมีอีกถึง 90 บริษัทจากทั่วโลกเข้าร่วมยื่น proposal เพราะเชื่อในกระบวนการ bidding เหตุที่บริษัทมาตรฐานเชื่อนั้น ไม่ได้เชื่อเมียนม่า แต่เชื่อบริษัทที่ปรึกษาที่คณะกรรมการมอบหมายให้มาออกแบบและดูแลการประมูลให้โปร่งใส บริษัทนั้นเป็นบริษัทเยอรมันชื่อ Roland Burger ว่ากันง่ายๆคือเอามาตรฐานและความน่าเชื่อถือของเยอรมันมาการันตีนั่นเอง
Roland Burger ในตอนนั้นทำหน้าที่ตั้งแต่ต้นจนจบโดยไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง หน้าที่ของ Rolandนั้นทำตั้งแต่ ออกแบบกระบวนการประมูล (Design the Tender Process) วางโครงสร้างแบบ “beauty contest”กำหนดขั้นตอน ตั้งแต่ EOI-Pre-qualify-RFP-Scoring-Award กำหนดเกณฑ์การคัดเลือก แยกน้ำหนักคะแนนเป็น ด้านเทคนิคสองในสาม การเงินหนึ่งในสาม กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้สมัคร (เช่น ฐานลูกค้า, รายได้ขั้นต่ำ)
Roland Burger ยังช่วยร่างเอกสาร RFP (Request for Proposal) ทำให้บริษัทต่างชาติสามารถเตรียมข้อเสนอได้ตามมาตรฐานสากล สนับสนุนคณะกรรมการเมียนมา เป็นที่ปรึกษาทางเทคนิคในกระบวนการให้คะแนน ช่วยรักษาความเป็นกลางในการตัดสิน และเสริมความโปร่งใส ช่วยให้กระบวนการได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก ทุกขั้นตอนคือมีให้อ่านให้ตรวจสอบให้ถามได้หมด
หน้าที่ที่สำคัญที่สุดคือสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนว่าไม่มีการลำเอียง เป็นหน้าที่หลักของ Roland Burger ในตอนนั้นที่มาช่วยทั้งเป็นตราประทับ ออกแบบให้ เป็นไม้กันหมา สำหรับคณะกรรมการที่ไม่มีประสบการณ์และไม่มีความน่าเชื่อถือมาก่อน รัฐบาลเมียนมาก็ปล่อยให้โปร่งใสเต็มที่ เพราะมียุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่านั้น
2
ในตอนนั้นบริษัทจะมาเดี่ยวก็ได้ รวมกันเป็นกลุ่มก็ได้ แต่บริษัทหลักต้องถือเกินครึ่งและต้องมีลูกค้าในมือสี่ล้านราย มีรายได้หลายร้อยล้านเหรียญ เพื่อการันตีว่า “ทำเป็น” ด้วยความน่าเชื่อถือของที่ปรึกษา กระบวนการที่ชัดเจน โปร่งใส กติกาที่เข้าใจง่าย proposal ที่มี format มาตรฐานสากล ประกอบกับเมียนม่าก็เป็นพื้นที่ท้ายๆในโลกที่คนยังใช้มือถือน้อย ทำให้มีบริษัททั่วโลก 90 บริษัทมาประมูล การแข่งขันที่เป็นธรรมก็ทำให้ยิ่งได้ตัวเลือกมากขึ้นกว่าเดิมมาก
1
ผมในตอนนั้นถูกเทเลนอร์ให้เป็น head ของ market team เพราะว่า proposal ที่ต้องส่งจะต้องส่งทั้ง technical spec ว่าถ้าได้ใบอนุญาติซึ่งมีอายุ 15 ปี (ต่อได้ 10 ปี) แล้วก็ต้องส่งแผนการตลาดด้วยว่าจะขายซิมราคาไม่เกินเท่าไหร่ จะขยายเครือข่ายไปไหนบ้าง มีการจัดจำหน่ายอย่างไร ปีไหนทำอะไร ทีมผมมี 4 คนมาจากทั่วโลก นอร์เวสอง ไทยหนึ่ง อินเดียหนึ่ง ผมก็ก้มหน้าก้มตาทำแผนหนาหลายร้อยหน้า ซักพักประกาศรอบ 12 บริษัทสุดท้าย เทเลนอร์ก็ยังเข้ารอบอยู่แบบงงๆ
ในตอนนั้นผมไปอยู่เมียนม่า 6 เดือนเพื่อทำเรื่องนี้ ก็ได้เห็นสภาพตลาดที่ล้าหลัง ซิมราคาแพง ได้ไปคุยกับคนท้องถิ่นที่จินตนาการไม่ออกว่าซิมจะราคาถูกได้ยังไง ถามว่าทำไมแค่ 6 เดือน ก็เพราะการประมูลที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ต่อให้เสนอมา 90 บริษัท ถ้าไม่ต้องล็อบบี้กันก็ใช้เวลาไม่นาน วันประกาศผลปรากฏว่า เทเลนอร์ กับOOradoo จากกาตาร์ได้ใบอนุญาตไปใช้เวลาประมูลแค่ 6 เดือน ประมูลเสร็จก็ไม่มีใครประท้วงอะไรเพราะกระบวนการโปร่งใสมากๆ
1
เคสการประมูลมือถือที่โน่นถูกจับตามองจากทั่วโลกเรื่องคอร์รับชั่น ปรากฏว่า พอประมูลเสร็จอย่างรวดเร็ว โปร่งใส ถึงกับ World Bank และ ITU ออกมาชมกระบวนการว่าตรงไปตรงมา ไม่เลือกปฏิบัติและเป็นมาตรฐานสากล ซึ่งทำให้รัฐบาลในตอนนั้นได้รับเครดิตไปอย่างมากเพราะเจตนารมณ์รัฐบาลตอนนั้นกำลังจะเปิดประเทศและต้องการโชว์ให้สากลรู้ว่า ประเทศสามารถเปิดเสรีและบริหารจัดการด้วยกติกาสากลได้ เป็นยุทธศาสตร์ที่ใหญ่กว่าแค่ประมูลมือถือด้วยซ้ำ
หลังจากนั้น ตลาดมือถือของเมียนม่าก็ทะยานไปถึงเกิน 50 ล้านเลขหมาย ราคาซิมเหลือยี่สิบกว่าบาท การแข่งขันที่ีมีประสิทธิภาพและมีคน “ทำเป็น” ก็ทำให้ตลาดโตอย่างรวดเร็ว ธุรกิจใกล้เคียงก็พลอยเติบโตไปด้วย ร้านขายมือถือขายซิมผุดเป็นดอกเห็ด บริการเสริม mobile banking และ applicaton ต่างๆก็มาพร้อมกับ penetration เศรษฐกิจก็เข้าสู่ยุครุ่งเรือง การลงทุนสะพัด คนไทยจำนวนมากในช่วงนั้นก็ไปลงทุนกันอย่างคึกคัก …. จนมาสะดุดอีกทีกับรัฐประหารในรอบนี้
ผมเองในตอนนั้นประมูลจบ ฉลองกันจบ ซิกเว่ก็ชวนไปทำงานที่เมียนม่า ผมก็ปฏิเสธไปเพราะทั้งครอบครัวและติดความสะดวกสบายของเมืองไทย ก็ได้แต่ตามดูอยู่ห่างๆ พอเห็นช่วงนี้มีทั้งเรื่องเอนเตอร์เทนเม้นท์ คอมเพล็กซ์ ผสมกับเรื่องสังคมที่กำลังสิ้นหวังและเป็นเดือดเป็นแค้นกับการฉ้อฉล คอร์รับชั่นทุกหัวระแหง ไม่ไว้ใจภาครัฐใดๆ
บางที ถ้าเราจะเริ่มสร้างความเชื่อมั่นกันใหม่ แก้ปัญหาคอร์รับชั่นและความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างรัฐกับประชาชน การเรียนรู้จากการประมูลที่โน่นในช่วงปี 2013 ที่ใช้โครงการขนาดใหญ่ที่มีประโยชน์ต่อส่วนรวมมาเป็นโชว์เคสในเรื่องความโปร่งใสและความสามารถในการบริหารจัดการด้วยกติกาสากล อาจจะเป็นการนับหนึ่งที่ win win ที่รัฐบาลอยากได้ทั้งการสนับสนุนการลงทุนขนาดใหญ่และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลก็ได้นะครับ
1
เลยลองเขียนเป็นไอเดีย เพราะดันจับพลัดจับผลูไปอยู่ตรงนั้นในช่วงเวลานั้นพอดีและเห็นประเทศที่ได้ทั้งเงิน กล่องและความน่าเชื่อถือในตอนนั้น… กระบวนการแบบนี้ไม่ต้องจำกัดเฉพาะเรื่องคอมเพล็กซ์ก็ยิ่งดี โครงการขนาดใหญ่ที่ต้องใช้ทรัพยากรรัฐและต้องใช้คน “ทำเป็น” ก็สามารถเอามาจุดพลุความเชื่อมั่นและแก้เรื่องความโปร่งใสที่เป็นเรื่องที่ท้อกันทั้งประเทศก้ได้เชนกัน
โฆษณา