Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
เมื่อวาน เวลา 06:01 • ความคิดเห็น
ทำไมเศรษฐกิจไทยดู ‘บ้อท่า’ ในสายตาโลก
[เรื่อง: ดร.บัณฑิต นิจถาวร | เศรษฐศาสตร์บัณฑิต]
สัปดาห์ที่แล้วแอ็กชันจากหลายสำนักโหมกระหน่ำเศรษฐกิจไทยแบบไม่เกรงใจ
1. ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้และปีหน้าถูกปรับลงต่ำกว่า 2% ถ้วนหน้าโดยไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก กระทรวงคลัง แบงก์ชาติ สถาบันวิจัยในประเทศ บางแห่งให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำสุดในภูมิภาค
2. บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ Moody's ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทยจากมีเสถียรภาพเป็นลบ เป็นประเทศเดียวที่ถูกปรับแนวโน้มแม้อันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้รัฐบาลไทยจะไม่เปลี่ยน
3. คณะกรรมการ กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกเป็นครั้งที่สองใน 6 สัปดาห์ รับสภาพความอ่อนแอของเศรษฐกิจ คำถามคือ ทำไมเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจของไทยดู “บ้อท่า” ในสายตาโลก นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าของรัฐบาลสหรัฐกับทุกประเทศได้เปลี่ยนระเบียบการค้าโลกอย่างไม่เคยมีมาก่อน ไปสู่ระเบียบการค้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นอย่างไรและไม่รู้ว่าหลัง 90 วันไปแล้ว อัตราภาษีนำเข้าและเงื่อนไขที่แต่ละประเทศต้องเจอในการส่งสินค้าไปขายสหรัฐจะเป็นอย่างไร เป็นความไม่แน่นอนและความมืดมนที่ไม่มีใครตอบได้และส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก
เดือนที่แล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปีนี้ลงเหลือ 2.8% และ 3% ปีหน้า โดยอ้างเหตุดังกล่าว คือการขึ้นภาษีและความไม่แน่นอนด้านนโยบายที่มีมาก พร้อมปรับลดประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ของทุกประเทศลงทั่วหน้า
สำหรับไทย ไอเอ็มเอฟปรับลดประมาณการเศรษฐกิจเหลือ 1.8% ปีนี้และ 1.6% ปีหน้า เป็นการปรับลดที่มากเทียบกับตัวเลขเดือนมกราคม ทำให้ไทยอาจขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน และจะขยายตัวลดลงอีกสองปี ธนาคารโลกก็เช่นกัน ลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือขยายตัว 1.6% ต่ำสุดในอาเซียนไม่รวมสิงคโปร์ บรูไนและเมียนมา เป็นผลจากการขึ้นภาษีที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกใหญ่สุดของไทย เศรษฐกิจโลกที่ชะลอ และปัญหาที่เศรษฐกิจไทยมี เช่น หนี้ครัวเรือน การลงทุนภาคเอกชนที่อ่อนแอ
สำหรับหน่วยงานรัฐ เช่น แบงก์ชาติ กระทรวงการคลัง รวมถึงสถาบันวิจัยเอกชนก็เช่นกัน ปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ต่ำกว่า 2% แบบไม่เกรงใจ ต่ำสุด 1.3% เป็นความเห็นสอดคล้องของทุกฝ่ายว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะแย่ แต่ที่ซีเรียสสุด คือ บริษัท Moody's ที่ปรับแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือในการชำระหนี้ของไทยจากมีเสถียรภาพเป็นลบ
Moody's เป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับยักษ์ใหญ่ของโลก ที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศและบริษัทที่กู้ยืมเงินโดยการออกตราสารหนี้หรือพันธบัตรว่ามีความสามารถที่จะชำระคืนเงินที่กู้ไปทั้ง เงินต้นและดอกเบี้ย ดีมากน้อยขนาดไหนในเวลาที่กำหนด อันดับความน่าเชื่อถือตราสารหนี้รัฐบาลไทยปัจจุบันอยู่ที่ Baa1 ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ที่เปลี่ยนและเป็นข่าวคือแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือที่เปลี่ยนจากมีเสถียรภาพเป็นลบ
หมายถึงมีความเป็นไปได้สูงขึ้นที่อันดับความน่าเชื่อถือจะถูกปรับลงในระยะข้างหน้า คือ จากปัจจุบันถึงระยะกลาง แต่ไม่ได้หมายความว่าอันดับความน่าเชื่อถือจะถูกปรับลงแน่นอน การปรับลดจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีความเป็นไปได้สูงขึ้นอย่างชัดเจนว่าความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้แย่ลงกว่าเดิมหรือจะมีปัญหาในการชำระหนี้ และถ้าอันดับความเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลถูกปรับลง คือถูก downgrade ก็จะลามไปถึงการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้เอกชนของไทยตามไปด้วย
กรณีของไทย Moody's ห่วงว่าความสามารถในการชำระหนี้ของรัฐบาลไทยในอนาคต จะถูกกระทบจากความอ่อนแอของเศรษฐกิจ ที่จะยิ่งอ่อนแอมากขึ้นจากผลกระทบของการขึ้นภาษีของรัฐบาลสหรัฐ การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก และความไม่แน่นอนในข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐหลัง 90 วัน ที่จะกระทบทั้งเศรษฐกิจและฐานะการคลังของประเทศ ซึ่งฐานะการคลังของไทยได้อ่อนแอลงมากหลังวิกฤติโควิด ทั้งหมดนำมาสู่การเปลี่ยนแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือการชำระหนี้ของรัฐบาลไทย
ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ความอ่อนแอของเศรษฐกิจเป็นประเด็นที่นำมาสู่การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายติดต่อกันเป็นครั้งที่สอง เพราะ กนง.มองว่าความไม่แน่นอนในสถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะลากยาวและจะกระทบเศรษฐกิจไทยมากขึ้นๆ
ล่าสุดตัวเลขเศรษฐกิจเดือนมีนาคมก็แสดงความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยทุกด้าน คือ การใช้จ่ายในประเทศ การส่งออก การผลิต การท่องเที่ยว สินเชื่อ ยกเว้นการใช้จ่ายภาครัฐ และวิเคราะห์ว่าเศรษฐกิจไทยระยะต่อไปจะยิ่งชะลอมากขึ้น จนอัตราเงินเฟ้อลดลงต่ำกว่าเป้า เป็นข้อมูลที่นำมาสู่การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.75% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในภูมิภาคเช่นกัน
ความอ่อนแอของเศรษฐกิจไทยและความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยจากที่เคยรุ่งเรืองเมื่อ 20 ปีก่อนเป็นที่ทราบกันดีในตลาดการเงิน นักลงทุน และผู้ทำนโยบายทั้งในภูมิภาคและสากล มองว่าประเทศไทยป่วยและไทยเป็นตัวอย่างของสิ่งที่ต้องไม่ทำถ้าจะให้ประเทศเติบโต คราวนี้ก็เช่นกัน มุมมองลบต่อเศรษฐกิจไทยก็มาจากความรู้สึกนี้ เพราะมองว่าทุกอย่างในประเทศเราจะไม่ดีขึ้น
เหตุผลที่ประเทศไทยและเศรษฐกิจดู “บ้อท่า” ในสายตานักลงทุนคือ
1.ประเทศไทยมีปัญหาการเมืองที่ยืดเยื้อและมีโครงสร้างเศรษฐกิจที่ล้าสมัยที่รัฐบาลทุกชุดทราบดี พูดถึง แต่ไม่มีใครแก้ไข ไม่ปฏิรูป ทำให้ประเทศไม่มีการลงทุน ไม่มีนวัตกรรม แข่งขันไม่ได้ เศรษฐกิจจึงขยายตัวต่ำ การทุจริตคอร์รัปชันรุนแรง และมีความเหลื่อมล้ำสูง ในสายตานักลงทุนเมื่อความสนใจของภาครัฐ คือนักการเมืองและระบบราชการที่จะแก้ปัญหาไม่มี ปัญหาจึงครองประเทศ (Entrenched) และมีแต่จะแย่ลง
1
2.จากที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำเป็นเวลานาน ประเทศไทยจึงขาดความเข้มแข็งและความสามารถที่จะปรับตัวเมื่อมีช็อกจากภายนอกเข้ามากระทบ เช่น กรณีโควิด ต้องพึ่งรัฐบาลอย่างเดียว ทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า และสร้างภาระต่อฐานะการคลังของประเทศมาก และคราวนี้ก็เช่นกัน
3.สัญญาณนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาล คอนเฟิร์มชัดเจนว่าการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ตรงจุด คือการปฏิรูปเศรษฐกิจเพื่อสร้างความสามารถที่สูงขึ้นให้กับเศรษฐกิจในการหารายได้และปรับตัว จะไม่เกิดขึ้นในช่วงสองปีข้างหน้า ตรงข้ามสิ่งที่รัฐบาลให้ข่าวตลอดคือการกู้เงินเพื่อแจกเงินและทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจตามที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งไม่ตรงกับการแก้ปัญหา นี่คือเหตุผลทำไมนักลงทุนมองข้ามประเทศไทย และทำไม Moody's ห่วงฐานะการคลังประเทศไทย
ถ้านโยบายสาธารณะคือการแก้ปัญหา ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมประเทศเราดูบ้อท่ามากๆ เพราะคำว่า “บ้อท่า” หมายถึง ไม่ได้เรื่อง ไร้ความสามารถ หรือ Incompetent ในภาษาอังกฤษ
4 บันทึก
16
4
8
4
16
4
8
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย