6 พ.ค. เวลา 15:40 • สุขภาพ

5 เคล็ดลับสุขภาพดี สไตล์ชาวญี่ปุ่น

ในฐานะเภสัชกร ขอพูดไว้ตรงนี้เลยว่า ไม่มียาแก้ใด ดีกว่ายากัน ไม่มีการรักษาใด ที่คุ้มค่า การมีสุขภาพดี ไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ ทุกยุคทุกสมัย
แต่นับวัน ด้วยกระแสวัตถุนิยม ผู้คนมองว่าการตั้งหน้าตั้งตาทำงานให้มีเงิน แล้วเอามารักษาโรค ดูแลร่างกาย เป็นทางเลือกที่ดีกว่า ทั้งที่จริงแล้ว การมีสุขภาพที่สุด ไม่จำเป็นต้องมีเงินมาก และใช่ว่าการใช้เงินมาก จะได้สุขภาพที่ดีเสมอไป
วันนี้จึงมี 5 เคล็ดลับสุขภาพดี ที่ทำง่าย ใช้เงินน้อย และน่าสนใจ มาฝากกันครับ
1. หลักอาหารแบบ “อิจิจู ซันไซ” (Ichiju Sansai)
หนึ่งในแนวทางอาหารที่ชาวญี่ปุ่นยึดถือคือ "อิจิจู ซันไซ" ซึ่งแปลว่า "หนึ่งน้ำซุป สามกับข้าว" นี่คือสมดุลของมื้ออาหารที่ครบทั้งโปรตีน ไฟเบอร์ และสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเน้นอาหารจากธรรมชาติ เช่น ปลา เต้าหู้ สาหร่าย ผักฤดูกาล และข้าวกล้อง อาหารที่ผ่านการปรุงน้อย ช่วยให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้ดี และลดภาระตับและไตในการกำจัดสารพิษ พูดเป็นภาษาไทยง่ายๆก็คือ กินอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ไม่หนักอย่างใดอย่างหนึ่งจนเกินไป
2. กินอย่างช้า ๆ และกินให้อิ่มแค่ 80% (Hara Hachi Bu)
หลัก "ฮาระ ฮาจิ บุ" เป็นแนวคิดของชาวโอกินาวา หมายถึงการหยุดกินเมื่อรู้สึกอิ่มเพียง 80% เพื่อลดภาระของระบบย่อยอาหารและหลีกเลี่ยงการบริโภคเกินความจำเป็น การฝึกสติเวลากินอาหาร ทำให้เราเชื่อมโยงกับร่างกายมากขึ้น และป้องกันภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคเมตาบอลิกได้อย่างมีประสิทธิภาพ (อันนี้ผมก็พยายามทำอยู่ แต่ยากมากๆ พอติดลมทีไร รู้ตัวอีกทีก็หมดจานแล้ว)
3. เคลื่อนไหวอย่างสม่ำเสมอในชีวิตประจำวัน
แม้ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากจะไม่ได้เข้าฟิตเนส แต่พวกเขากลับมีกิจวัตรที่เน้นการเคลื่อนไหว เช่น การเดิน การขี่จักรยาน การก้มเงยขณะทำงานบ้าน หรือการทำสวน การเคลื่อนไหวแบบเบา ๆ แต่สม่ำเสมอมีผลอย่างมากต่อระบบไหลเวียนโลหิตและการเผาผลาญพลังงาน
4. วัฒนธรรมอาบน้ำร้อน (ออนเซ็น) และการผ่อนคลาย
1
การแช่ออนเซ็นไม่ใช่แค่การทำความสะอาดร่างกาย แต่เป็นวิธีคลายเครียด กระตุ้นการไหลเวียนเลือด และส่งเสริมการนอนหลับอย่างมีคุณภาพ แร่ธาตุในน้ำแร่ร้อนมีส่วนช่วยในการฟื้นฟูระบบประสาทและกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ การให้เวลาตัวเองพักผ่อนอย่างแท้จริง ยังเป็นหัวใจของสุขภาพที่ดีในระยะยาว
5. ความสัมพันธ์และความหมายของชีวิต (Ikigai)
ประเด็นนี้เราเคยพูดไปแล้ว “อิคิไก” คือแนวคิดในการใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมายและความหมาย การมีอิคิไกช่วยลดความเครียดเรื้อรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการทำลายสุขภาพทั้งกายและใจ งานวิจัยพบว่าผู้สูงอายุชาวญี่ปุ่นที่มี “อิคิไก” จะมีอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยลง
หากลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า การมีสุขภาพดีของชาวญี่ปุ่นเกิดจากแนวคิดความสมดุลของทั้งร่างกายและจิตใจ การกิน การเคลื่อนไหว อารมณ์ และการบริหารจัดการความคิด ทำให้เกิดการสร้างสมดุลของร่ายกายแบบองค์รวม ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไม่ยากนัก แม้ว่าบางวิธีจะมีความเฉพาะตัวของวัฒนธรรมญี่ปุ่น แต่เราก็สามารถนำสาระสำคัญมาปรับใช้ให้เหมาะสมได้
อ้างอิง
Yokoyama, Y., Nishimura, K., Barnard, N. D., Takegami, M., Watanabe, M., Sekikawa, A., & Miyamoto, Y. (2016). Vegetarian diets and blood pressure: A meta-analysis. JAMA Internal Medicine, 174(4), 577–587. https://doi.org/10.1001/jamainternmed.2014.2105
Hasegawa, H., & Kanda, K. (2017). Daily physical activity and health in older Japanese adults: A national health survey analysis. Geriatrics & Gerontology International, 17(12), 2481–2487. https://doi.org/10.1111/ggi.13091
โฆษณา