7 พ.ค. เวลา 06:43 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ไม่ใช่แค่เรื่องของ “คนรวย” ทำไม เศรษฐกิจช่วงนี้ ทำให้ "แผนการเงิน" ถึงสำคัญยิ่งกว่าเดิม

ในช่วงเวลาที่โลกทั้งใบกำลังเผชิญกับวิกฤติหนี้ท่วม นักเศรษฐศาสตร์และสถาบันการเงินระหว่างประเทศต่างส่งสัญญาณเตือนถึงความเปราะบางทางการคลังของหลายประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศไทยที่เศรษฐกิจภายในถูกตั้งคำถามเรื่องศักยภาพในการฟื้นตัวอย่างแท้จริง ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ผ่านมาอยู่ในระดับ "ต่ำกว่าคาด" ขณะที่ต้นทุนการใช้ชีวิตกลับพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง
แต่ในขณะที่สถาบันใหญ่เตือนเรื่องนโยบายการคลัง และรัฐพยายามกระตุ้นการใช้จ่าย ปัจเจกชนกลับถูกสื่อสารด้วยคำเตือนตรงกันข้ามให้ “รัดเข็มขัด” ลดรายจ่าย หลีกเลี่ยงการก่อหนี้ และเร่งสะสมเงินสำรองฉุกเฉินให้ได้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน
⦿ เพราะความเปราะบางกำลังใกล้ตัวกว่าที่คิด
การที่ร้านอาหารประเภทปิ้งย่าง-ชาบูจำนวนไม่น้อยทยอยประกาศปิดกิจการถาวร หรือข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่ากว่า 20% ของธุรกิจ SME ไทยต้องปิดตัวลงภายใน 5 ปีแรก ไม่ใช่แค่ข่าวเศร้า แต่คือภาพสะท้อนของระบบการเงินส่วนบุคคลที่ยังอ่อนแอ และการขาด “แผนรับมือ” ทางการเงินอย่างเป็นระบบ ในระดับครัวเรือน สัญญาณนี้ยิ่งชัดเจน
★ เกือบ 30% ของแรงงานไทยไม่มีเงินออมเพื่อวัยเกษียณเลย
★ ค่าเล่าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในไทยมีอัตราการปรับขึ้น “สูงกว่าค่าครองชีพ”
★ ค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษากำลังกลายเป็นภาระใหญ่ของพ่อแม่ในยุคที่รายได้แทบไม่ขยับ
หลายครอบครัวต้องเลือกระหว่าง “อนาคตลูก” กับ “เงินสำรองฉุกเฉินของบ้าน” ทั้งที่ในโลกแห่งความเสี่ยงที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งจำเป็นไม่ใช่แค่การจ่ายไหวในวันนี้ แต่คือการ “อยู่รอด” ได้ในทุกวันของอนาคตด้วย
⦿ เงินไม่พออาจไม่ใช่แค่เพราะรายได้น้อย แต่เพราะไม่มีแผน
ข้อมูลจาก บลจ.เกียรตินาคินภัทร ระบุว่า การเงินไม่ใช่แค่เรื่องของ "คนรวย" ที่ต้องลงทุนหรือบริหารพอร์ตหลักล้าน แต่คือทักษะพื้นฐานในการ “เอาตัวรอด” ทางเศรษฐกิจของคนธรรมดา โดยเฉพาะในสภาวะที่ไม่แน่นอนเช่นนี้
เราจึงต้องเปลี่ยนมุมมองว่า "แผนการเงิน" ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรือของคนมีเงินเหลือ แต่เป็นสิ่งที่ ทุกคนต้องมี ไม่ว่าจะหาเช้ากินค่ำ เป็นฟรีแลนซ์ พ่อค้าแม่ค้า หรือมนุษย์เงินเดือนก็ตาม
เพราะต่อให้มีรายได้มาก หากไม่มีเป้าหมาย ไม่มีการจัดสรร ไม่มีวินัยในการออม และไม่มีเบาะรองรับฉุกเฉิน ก็อาจร่วงหล่นลงมาจากความมั่นคงได้เพียงพริบตา
การวางแผนการเงิน (Financial Planning) คือ กระบวนการในการจัดทำแผนบริหารจัดการเรื่องการเงินส่วนบุคคลอย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายชีวิตตามที่ต้องการได้ โดยแผนการเงินประกอบด้วย
- แผนการใช้จ่าย (Spending Plan)
- แผนการซื้อสินทรัพย์ (Asset Acquisition Plan)
- แผนประกันภัย (Insurance Plan)
- แผนการออมและลงทุน (Saving and Investment Plan)
- แผนภาษี (Tax Plan)
- แผนเกษียณ (Retirement Plan)
- แผนมรดก (Estate Plan)
จะเห็นได้ว่าแผนการเงินประกอบด้วยการวางแผนย่อยในหลายๆ ด้าน การวางแผนการเงินจึงไม่ใช่เรื่องสำหรับคนรวยหรือผู้สูงอายุเท่านั้น เพราะไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ รายได้เท่าไหร่ หรืออยู่ในช่วงชีวิตแบบไหน ทุกคนสามารถได้รับประโยชน์จากการมีแผนการเงินที่เหมาะสมกับตัวเองและสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ชีวิต
⦿ ถึงเวลาปรับวิธีคิด: เก็บก่อนใช้ วางแผนก่อนฝัน
นักวางแผนการเงินหลายคนแนะนำว่า ทุกคนควรมี “เงินสำรองฉุกเฉิน” อย่างน้อย 3–6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ไว้ในบัญชีที่เข้าถึงได้ง่าย
การออมเพื่อเกษียณก็ไม่ควรถูกมองว่า "ค่อยทำตอนมีเงินเยอะ" แต่ควรเป็นเป้าหมายที่เริ่มได้ตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าจะเป็นเดือนละ 500 บาท หรือ 5,000 บาท เพราะ "เวลา" คือเครื่องมือสำคัญของการออม
ขณะประโยชน์ของการวางแผนทางการเงิน ยังมีอีกมาก เช่น
-แผนการเงินช่วยให้เรากำหนดเป้าหมายทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างชัดเจน เช่น การเรียนต่อ การซื้อบ้าน หรือการเก็บเงินเพื่อเกษียณ ซึ่งจะช่วยลดความสับสนและความไม่แน่นอนทางการเงินของเรา
-แผนการเงินช่วยให้เราจัดระเบียบการเงินได้ดีขึ้น โดยติดตามรายรับ รายจ่าย การออม และการลงทุน ช่วยให้เราวางงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ รู้จักควบคุมการใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการลงทุนเพื่อสร้างความมั่งคั่ง
-แผนการเงินช่วยระบุความเสี่ยงทางการเงินที่อาจเกิดขึ้น และแนะนำวิธีป้องกัน เช่น การมีประกันภัยที่เหมาะสม หรือการมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อให้เรามีความมั่นใจและปลอดภัยทางการเงินในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน
-การมีแผนการเงินเป็นลายลักษณ์อักษรช่วยให้เรามีแรงจูงใจและความรับผิดชอบต่อเป้าหมายทางการเงินของตัวเองมากขึ้น
สุดท้าย แม้โลกภายนอกจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ถ้าเรามีแผนการเงินที่ชัดเจน อย่างน้อยเราก็จะไม่ล่องลอยไปพร้อมกับเศรษฐกิจที่ผันผวนอย่างไม่มีทิศทาง
ท่ีมา : KKP advice center
โฆษณา