เมื่อวาน เวลา 08:40 • ธุรกิจ

เงินทุนและโอกาส หลั่งไหลเข้า “เอเชีย” เปิดเบื้องหลังทุนอาหรับบุกอาเซียน พรมแดนใหม่เศรษฐกิจดิจิทัล

ในขณะที่โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุค AI อย่างเต็มรูปแบบ ทุกสายตากำลังจับจ้องมาที่ "อาเซียน" ที่กำลังเดินหน้าเป็น “พรมแดนแห่งโอกาส” ที่ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยี สตาร์ทอัพ และนักลงทุนจากทั่วโลก พื้นที่ที่มีทั้งศักยภาพทางเทคโนโลยีและแรงขับเคลื่อนจากภาครัฐ คนรุ่นใหม่ และโครงสร้างพื้นฐานที่กำลังพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ผู้สื่อข่าว Thairath Money เดินทางร่วมงาน “GITEX ASIA x Ai Everything Singapore” ที่จัดขึ้นโดย Dubai World Trade Center (DWTC) และ KAOUN International ภายใต้ความร่วมมือกับ GITEX GLOBAL มหกรรมเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก บินตรงจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สู่สิงคโปร์และเปิดตัวอย่างเป็นทางการครั้งแรกในภูมิภาคเอเชีย ภายใต้ธีม ‘Advancing Bold Partnerships in Asia’ จุดประกายการเติบโตครั้งใหม่ให้กับเอเชียในฐานะพรมแดนใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัล
  • เงินทุนและโอกาส หลั่งไหลเข้า “เอเชีย” พรมแดนใหม่ของเศรษฐกิจดิจิทัล
เศรษฐกิจดิจิทัลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเติบโตอย่างรวดเร็ว ด้วยแรงขับเคลื่อนจากการใช้งานดิจิทัลอย่างแพร่หลายและการลงทุนของภาครัฐที่แข็งแกร่ง
โดยเฉพาะเทคโนโลยี AI ที่อาจสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกเกินกว่า 1.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2028 ตามการคาดการณ์ของ IDC ซึ่งสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกับการคาดการณ์ตัวเลขของ World Economic Forum ที่เผยว่า มูลค่ารวมของการซื้อขายผ่านระบบดิจิทัล (GMV) ในภูมิภาคเอเชียจะทะลุ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2030 หรือภายในห้าปีหลังจากนี้
ทำให้การจัดงาน GITEX Asia ครั้งแรกนี้เน้นย้ำบทบาทสำคัญของ AI ในฐานะกลไกขับเคลื่อนความก้าวหน้าข้ามอุตสาหกรรม โดยมีบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพกว่า 700 ราย พร้อมด้วยนักลงทุนกว่า 250 ราย ซึ่งบริหารสินทรัพย์รวมกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าร่วมงาน อาทิ Cisco Investments, SGInnovate, Lightrock และ Rallycap ซึ่งคาดว่าจะเสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านการลงทุนของงานนี้
Trixie LohMirmand รองประธานบริหารของ DWTC และซีอีโอของ KAOUN International ผู้จัดงาน GITEX Global กล่าวกับเราถึงศักยภาพของภูมิภาคเอเชียว่าทำไมนักลงทุนและบริษัทเทคโนโลยีระดับโลกถึงสนใจที่จะเข้ามาในภูมิภาคนี้ที่กำลังกลายเป็นศูนย์กลางนวัตกรรมที่สำคัญของโลก
“คุณจะเห็นว่ารัฐบาลในภูมิภาคนี้เปิดกว้างและเป็นมิตรกับธุรกิจมากขึ้น พยายามเคลื่อนที่เร็วขึ้นเพื่อให้ทันยุโรปและสหรัฐฯ สิ่งนี้จึงผลักดันให้เรามาที่สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประตูและศูนย์กลางของภูมิภาค และขณะเดียวกันที่เราเตรียมขยายงานไปสู่เวียดนามที่ได้แรงขับเคลื่อนมหาศาลจากรัฐบาลที่ต้องการเร่งพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของตัวเอง รวมถึงไทยที่ GITEX DIGI_Health 5.0 จะมีขึ้นในปีนี้”
ในฐานะผู้จัดงาน สิ่งสำคัญไม่ใช่แค่ขนาดของงาน แต่คือ ความมุ่งมั่นของเราในการเชื่อมโยงระบบนิเวศระดับโลก ประเทศ และเมืองต่างๆ เข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะมาจากตลาดที่แข็งแกร่งหรือเศรษฐกิจเกิดใหม่ เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศในภูมิภาคนี้ติดอันดับต้น ๆ ของโลกในแง่ของปริมาณการค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับ AI สะท้อนถึงความอยากรู้อยากเห็นและความสนใจที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมถึงแรงผลักดันจากภาครัฐที่เร่งปรับกฎหมายและข้อบังคับเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและสามารถแข่งขันกับโลกได้ทัน
ภาพรวมของภูมิภาคนี้มีการพัฒนาทักษะบุคลากรจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เพื่อ "การใช้งาน AI" แต่เพื่อ "การสร้าง AI" ด้วย สะท้อนชัดว่า AI ได้มอบ "ขีดความสามารถใหม่" ให้กับภูมิภาคนี้ แม้บริบทเศรษฐกิจและการเมืองโลกในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่โอกาสจากการพัฒนา AI ยังคงมีมากกว่าความเสี่ยง เพราะ AI ได้กลายเป็น "สินทรัพย์ใหม่" ซึ่งผลักดันให้เมืองและประเทศต่าง ๆ เข้าสู่โหมดแข่งขัน ทุกคนอยากเป็นผู้นำ AI อยากขึ้นไปอยู่แถวหน้าของโลก รวมถึง "ตลาดเกิดใหม่"
AI ได้จุดประกายความสนใจและโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้คนในการเข้าใจว่า "โลกกำลังทำอะไรกันอยู่" ทุกประเทศ ทุกทวีป มีกฎหมายและข้อกำหนดในการใช้ AI แตกต่างกัน AI ไม่สามารถถูกสร้างใช้ หรือพัฒนาอย่างโดดเดี่ยวได้ หากต้องการสร้างผลิตภัณฑ์ คุณต้องรู้ว่าคุณสามารถส่งออกได้หรือไม่ และคุณสามารถขยายธุรกิจไปยังประเทศเหล่านั้นได้หรือเปล่า
เธอเน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือรัฐและเอกชนที่จะต้องพัฒนาศักยภาพของคนในชาติให้เข้าใจและเปรียบเทียบตัวเองกับสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรมและทวีปผ่านแนวคิด Co-opetition หรือการร่วมมือและแข่งขันไปพร้อมกันที่ทำให้ทุกฝ่ายเติบโตในยุคนี้
  • นักลงทุนมองอาเซียนท้าทายแต่ยังเต็มไปด้วยโอกาส
สำหรับศักยภาพของภูมิภาคเอเชียในมุมมองของนักลงทุนและระบบนิเวศของ VC (Venture Capital) ณ ปัจจุบัน แม้ความเฉพาะตัวและปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์จะเป็นบททดสอบสำคัญที่กดดันภูมิภาคนี้ แต่นักลงทุนระดับโลกยังคงจับตาโอกาสใหม่ ๆ ในเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่ทั้งสร้างโอกาสและโจทย์ใหม่ไปพร้อมกัน
Jupe Tan หุ้นส่วนผู้จัดการ Asia Pacific ของ Plug and Play Tech Center นักลงทุน CVC จากซิลิคอนวัลลีย์ พร้อมด้วย Justin Zhang หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจของ APAC Technology และกรรมการผู้จัดการ Morgan Stanley ในฐานะนักลงทุนที่โฟกัสตลาดจีน ได้เปิดมุมมองสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าวในเซสชั่น AI Global Funds, Cash Flow from West to East From Silicon Valley to Asia: The Power Shift in Tech Investments in the AI Era
Justin อ้างข้อมูลจาก Morgan Stanley ว่าในภาพรวมประเด็นเรื่องภาษีนำเข้าสินค้า (tariffs) ในเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 47% และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของ GDP ประมาณ 120 จุดใน 4 ไตรมาสข้างหน้า ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ จีนและเวียดนาม เนื่องจากมีดุลการค้าเกินดุลสูงเมื่อเทียบกับ GDP
ด้านภาพรวมตลาดสตาร์ทอัพเทคโนโลยี Early-stage ที่ยังเผชิญแรงกดดันชัดเจนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนการลงทุนกลับเริ่มเอียงไปทางตลาดสหรัฐและยุโรปมากขึ้น เนื่องจากเอเชีย โดยเฉพาะในอาเซียน ยังประสบปัญหาด้านการระดมทุนในรอบหลัง ๆ รวมถึงโอกาสในการ Exit ที่น้อยกว่า Jupe เสริม
โดยเขาอธิบายว่า ภูมิภาคอาเซียน เป็นตลาดที่แตกต่างและซับซ้อนสูง ด้วยภาษา วัฒนธรรม และกฎระเบียบที่ต่างกันในแต่ละประเทศ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ แม้จะเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดนักลงทุน แต่ไม่ได้สะท้อนภาพของภูมิภาคโดยรวม ตลาดใหญ่ ๆ เช่น ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย ซึ่งยังไม่มีเคสการ Exit ที่เด่นชัด
อย่างไรก็ดีทั้งสองเห็นตรงกันว่า AI ได้รับผลกระทบจากภาษีน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่นและยังคงเป็นโซนที่มีแรงขับเคลื่อนการเติบโตที่ดี โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและอาเซียน แม้ภูมิภาคจะมีอุปสรรคเฉพาะตัว ดังนั้น การลงทุนต้องเข้าใจบริบทท้องถิ่น พิจารณาอย่างลึกซึ้งกับพลวัตทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสังคมของแต่ละพื้นที่ ทั้งในแง่ผลตอบแทนและความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับชุมชนและตลาดท้องถิ่น เพราะในยุคต่อไปความเข้าใจพื้นที่จริงจะสำคัญไม่แพ้เทคโนโลยีล้ำสมัยหรือเงินทุนมหาศาล
  • ทุนอาหรับส่งออก GITEX รุกอาเซียนต่อ
ภายในงาน GITEX Asia ในครั้งนี้ยังได้ประกาศอย่างเป็นทางการในการขยายระบบนิเวศเทคโนโลยีระดับโลกต่อในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ "GITEX VIETNAM" โดยร่วมกับศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติเวียดนาม (NIC) ณ กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 1-2 ตุลาคม 2026 ด้วยเป้าหมายร่วมขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศเวียดนามสู่เป้าหมายเศรษฐกิจดิจิทัลมูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030
“การเปิดตัว GITEX VIETNAM จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการเปลี่ยนผ่านดิจิทัลของเวียดนามที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคนี้” เวียดนามกำลังกลายเป็นตัวเร่งสำคัญของการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีในอาเซียนและยกระดับสถานะเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีระดับภูมิภาค
รวมถึงผู้เล่นคนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานระดับโลก โดยปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์อันดับ 2 และ 5 ของโลกตามลำดับ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของเวียดนามมีมูลค่าสูงถึง 18 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2024 (SEMI) รวมถึงภาคการผลิตและการก่อสร้างที่ยังคงเป็นหัวใจของการพัฒนาเศรษฐกิจ Trixie กล่าว
ทั้งนี้อีกหนึ่งมหกรรมเทคโนโลยีภายใต้ GITEX ที่จะจัดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในปีนี้ คือ "GITEX DIGI_HEALTH 5.0 Expo-Summit in Thailand" มหกรรมเทคโนโลยีที่เจาะจงเรื่องการแพทย์และสาธารณสุขโดยเฉพาะ เพื่อสะท้อนภาพรวมของตลาดดิจิทัลเฮลธ์ในอาเซียนที่กำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ
โดย ไทย ในฐานะศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก ได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่มีศักยภาพสูงสุดในการปฏิวัติอุตสาหกรรมการแพทย์ด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย การนำ AI เข้ามาพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วย การวินิจฉัยโรค การเพิ่มประสิทธิภาพของบุคลากร รวมถึงการรักษาที่เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และการวินิจฉัยทางการแพทย์ขั้นสูง ทั้งนี้ตัวงานจะจัดขึ้นในวันที่ 10-12 กันยายน 2025
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ -
โฆษณา