เมื่อวาน เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

การปฏิวัติ AI เขย่าศก.โลกและไทย | #บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ผันผวน เราเห็นการกลับมาของนโยบายการค้าที่เข้มงวดภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังสร้างคลื่นกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลก ด้วยนโยบาย “America First” ที่เน้นปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ การขึ้นอัตราภาษีที่สูงลิบลิ่ว ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานระดับโลกเท่านั้น แต่ยังสร้างความท้าทายใหม่ให้ประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยที่ยังพึ่งพาการส่งออกอย่างมาก
ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่จากการถูกกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม สินค้าส่งออกของไทยหลายประเภทที่เข้าสู่ตลาดสหรัฐ ต้องเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่การเป็นส่วนหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานของจีน ทำให้ไทยได้รับผลกระทบทางอ้อมจากภาษีที่สูงขึ้นกับสินค้าจีน เศรษฐกิจไทยที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 จึงต้องปรับตัวอีกครั้ง
ท่ามกลางบรรยากาศการค้าโลกที่ผันผวน คาดเดายาก ภาครัฐไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาทวิภาคีอย่างเข้มข้นเพื่อลดผลกระทบ หนุนผู้ประกอบการในการกระจายความเสี่ยงสู่ตลาดใหม่ๆ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน อินเดีย และตะวันออกกลาง
ขณะเดียวกัน การปฏิวัติด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ ‘เอไอ’ (AI) กำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่ไม่น้อยไปกว่าผลกระทบของนโยบายภาษี เทคโนโลยีเอไอ ที่พัฒนาก้าวกระโดดนับตั้งแต่การเปิดตัว ChatGPT เมื่อปลายปี 2022 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจและการทำงานทั่วโลก ทั้งสร้างงานประเภทใหม่ ทดแทนแรงงานในบางภาคส่วน และการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิตและบริการ McKinsey
Global Institute ประเมินว่า เอไอ จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 13 ล้านล้านดอลลาร์ปี 2030 และอาจส่งผลกระทบต่อเกือบ 30% ของชั่วโมงการทำงานทั่วโลก เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายที่นานาประเทศต้องเตรียมพร้อมรับมือ
สำหรับประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงทั้งสองด้านนี้เกิดขึ้นในเวลาที่ทับซ้อนกัน สร้างทั้งความท้าทายและโอกาสใหม่ๆ ในด้านหนึ่ง ประเทศไทยอาจใช้ประโยชน์จาก เอไอ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ซึ่งอาจช่วยลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้า แต่อีกด้านหนึ่ง การนำ เอไอ มาใช้อย่างรวดเร็วในประเทศคู่แข่งอาจทำให้ไทยสูญเสียความสามารถการแข่งขันด้านต้นทุนแรงงานที่เคยเป็นจุดแข็ง
โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานเข้มข้น การปรับตัวของไทย จึงต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบและรวดเร็ว มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีทักษะด้านดิจิทัลและความสามารถในการทำงานร่วมกับเอไอได้อย่างไร้รอยต่อ
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจEconomic
โฆษณา