13 พ.ค. เวลา 04:03 • สิ่งแวดล้อม

เลี้ยงปลานอกโลก เป็นอาหารให้นักบินอวกาศ เพิ่มโปรตีนรักษามวลกล้ามเนื้อ ด้วยน้ำแข็งจากบนดวงจันทร์

“ปลากะพงขาว” ที่ถูกเลี้ยงในศูนย์วิทยาศาสตร์ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส จะถูกปล่อยสู่อวกาศ เพื่อทดสอบว่าสามารถนำไปเลี้ยงบนอวกาศและใช้เป็นแหล่งโปรตีนสำหรับนักบินอวกาศที่จะไปทำภารกิจบนดาวอังคารและดวงจันทร์ได้หรือไม่ ตามโครงการ “Lunar Hatch”
โครงการ Lunar Hatch เป็นผลงานของดร.ซิริลล์ ปริซิบิลา นักวิจัยด้านชีววิทยาทางทะเลจากสถาบันวิจัยมหาสมุทรแห่งชาติของฝรั่งเศส โดยเขากล่าวว่า ปลาเป็นแหล่งโปรตีนที่ยอดเยี่ยม มีโอเมก้า 3 และวิตามินบีที่สำคัญ เหมาะสำหรับให้นักบินอวกาศกินเพื่อรักษามวลกล้ามเนื้อ
นักวิทยาศาสตร์จะส่งไข่ปลาขึ้นสู่ห้วงอวกาศ และจะฟักออกมาเมื่อเดินทางไปถึงสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) หลังจากนั้นทำการสังเกตและดูสุขภาพปลา ก่อนที่จะแช่แข็งปลาและส่งกลับมายังโลก ซึ่งหากวิธีนี้ประสบความสำเร็จก็จะสามารถเพาะเลี้ยงปลาบนดวงจันทร์ โดยดร.ปริซิบิลามั่นใจว่านั่งบินอวกาศจะสามารถได้กินปลากะพงขาวอย่างน้อยสัปดาห์ละสองครั้ง
ดร.ปริซิบิลา กล่าวว่าเป้าหมายสูงสุดของโครงการนี้ คือการสร้าง “ห่วงโซ่อาหารแบบปิด” โดยใช้ทรัพยากรจากนอกโลก โดยจะใช้น้ำจากน้ำแข็งที่พบในหลุมอุกกาบาตที่ขั้วโลกของดวงจันทร์
น้ำเสียจากการเลี้ยงปลาจะนำมาใช้ผลิตสาหร่ายขนาดจิ๋ว (Microalgae) ซึ่งสามารถใช้เป็นอาหารของสัตว์ต่าง ๆ ในระบบนิเวศ เช่น หอยสองฝา หรือแพลงก์ตอนสัตว์ที่ทำหน้าที่ช่วยเก็บสิ่งปฏิกูล ส่วนขี้ปลากะพงจะใช้เป็นอาหารสำหรับกุ้งและหนอนที่จะใช้เลี้ยงปลากะพงต่อไป
นักวิจัยคำนวณไว้จะต้องใช้ปลากะพงประมาณ 200 ตัว ถึงจะเพียงพอสำหรับนักบินอวกาศ 7 คนที่ทำภารกิจนาน 16 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังจะส่งไข่ปลากะพงที่ปฏิสนธิแล้ว 200 ตัวที่ส่งไปยังอวกาศด้วยเช่นกัน
โครงการนี้ก็ถูกคัดเลือกเป็นหนึ่งใน 100 โครงการสุดท้ายสำหรับภารกิจลงจอดยาน Argonaut บนดวงจันทร์ของ ESA ที่จะเริ่มขึ้นในปี 2034 โดยยานลำนี้สามารถขนส่งอุปกรณ์ได้มากถึง 1.8 ตันไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ รวมถึงไข่ปลากะพง
นักวิจัยยังต้องรอให้ CNES และศูนย์อวกาศเคนเนดีของนาซาจัดหาสถานที่สำหรับทดสอบทฤษฎีของดร.ปริซิบิลา ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่หวังว่าจะเกิดขึ้นภายในอนาคตอันใกล้นี้
อ่านต่อ:
โฆษณา