13 พ.ค. เวลา 08:01 • ธุรกิจ

บัลลังก์ยาสหรัฐ ถูกท้าทาย! เมื่อยาจีน ไล่ตามติด ผลทดลองเผย ยารักษามะเร็งปอดของจีน ‘เหนือกว่า’ Merck

จีนกำลังเขย่าบัลลังก์ยาโลก! เมื่อยาจีนจาก ‘Akeso’ สร้างปรากฏการณ์รักษามะเร็งปอด ด้วยผลลัพธ์ที่ ‘เหนือกว่า’ ยาตะวันตกจาก ‘Merck’ ในการทดลองระยะสุดท้าย โดย ‘ความเป็นเต่าทะเล’ ของชาวจีนที่นำความรู้กลับมาพัฒนาบ้านเกิด เป็นแรงส่งให้ยาจีนรุดหน้าเร็ว
เมื่อเอ่ยถึง “ยาแพทย์แผนปัจจุบัน” หลายคนมักนึกถึง “สหรัฐ” เจ้าแห่งนวัตกรรมยาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Pfizer, Johnson & Johnson, Eli Lilly หรือแม้แต่ Merck & Co. ที่เป็นเจ้าของยารักษามะเร็งชื่อดังอย่าง “Keytruda” ซึ่งคิดเป็นรายได้ของ Merck สูงถึง 40%
แต่บัลลังก์ด้านยากำลังจะเปลี่ยนไปหรือไม่ เมื่อ “ยาแผนปัจจุบันจากจีน” กำลังรุดหน้าอย่างรวดเร็ว และไล่ตามติดสหรัฐแบบหายใจรดต้นคอ เห็นได้จาก “ในการทดลองระยะสุดท้าย” สำหรับมะเร็งปอด
ยา “Ivonescimab” จากบริษัทยาจีน “Akeso” สามารถเพิ่มระยะเวลาให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่โดยที่โรคไม่แย่ลง “สูงขึ้นเกือบสองเท่า” คือเป็น 11.1 เดือน เมื่อเทียบกับ 5.8 เดือนสำหรับ Keytruda จากการเปิดเผยข้อมูลในการประชุม World Conference on Lung Cancer ซึ่งผลลัพธ์ที่ออกมานี้ ถือว่าน่าทึ่งอย่างยิ่ง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา บริษัทจีนได้ก้าวหน้าอย่างมากในการคิดค้นและพัฒนายาที่ล้ำสมัย จนสามารถแข่งขันกับยาตะวันตกได้โดยตรง ยิ่งไปกว่านั้น พวกเขายังได้ลงนามในข้อตกลงอนุญาตให้พันธมิตรจากชาติตะวันตกใช้สิทธิในนวัตกรรม คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์ เพื่อขยายตลาดผลิตภัณฑ์ของตนไปทั่วโลก
เมื่อปีที่แล้ว AstraZeneca ได้ลงนามในข้อตกลงมูลค่า 1,920 ล้านดอลลาร์กับบริษัท CSPC Pharmaceutical Group ของจีน เพื่อร่วมพัฒนายารักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด ขณะที่ Merck ก็มีข้อตกลงมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์กับ Hansoh Pharmaceutical ของจีนเช่นกัน สำหรับยาลดน้ำหนักที่อยู่ระหว่างการทดลอง
สะท้อนว่า “จีน” กำลังกลายเป็นพลังสำคัญในวงการยาโลก ไม่ใช่เพียงในฐานะฐานผลิต แต่ยังเป็นผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมที่น่าจับตามอง
📌 เต่าทะเลกลับบ้าน พัฒนายาในบ้านเกิด
1
สิ่งสำคัญที่ทำให้วิทยาการจีนรุดหน้าอย่างรวดเร็ว มาจาก “ความเป็นเต่าทะเล” ของชาวจีน ซึ่งเปรียบเปรยชาวจีนที่ออกไปเก็บเกี่ยวความรู้ และประสบการณ์จากโลกกว้าง แล้วกลับมาทำงานหรือเริ่มต้นธุรกิจในจีน โดยเฉพาะในสาขาวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีชีวภาพ จนช่วยยกระดับวงการเทคโนโลยีของประเทศให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อย ๆ
หนึ่งในนั้น คือ “มิเชล เซี่ย” (Michelle Xia) ผู้ก่อตั้งบริษัทยาจีน “Akeso” ที่มีผลการทดลองด้านยารักษามะเร็งปอดชนะ Merck
ตอนที่คุณเซี่ยก่อตั้งบริษัทกับเพื่อนร่วมงานอีกสามคนในปี 2012 จีนยังมีห้องแล็บเพียงไม่กี่แห่งที่สามารถค้นคว้ายาได้ด้วยตนเอง ในขณะที่บริษัทในสหรัฐต่างว่าจ้างนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเข้าสู่แผนกวิจัยกันอย่างคับคั่ง
เซี่ยเอง ซึ่งมีพื้นเพเป็นชาวมณฑลกานซู่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ก็เคยเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์เหล่านั้น โดยเธอเคยทำการวิจัยด้านมะเร็งที่มหาวิทยาลัย Louisville และทำงานในสหรัฐให้กับบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทยา Bayer
ความจริงที่ว่า ประเทศบ้านเกิดของเธอมีศักยภาพทางการแพทย์ที่ตามไม่ทันชาติตะวันตกนั้น คอยรบกวนจิตใจเธออยู่เสมอ
“แรงผลักดันฉันเรียบง่ายมาก ฉันคิดอยู่เสมอว่า ทำไมจีนถึงไม่มีนวัตกรรมเป็นของตัวเอง?” คุณเซี่ยในวัย 58 ปี กล่าวในการให้สัมภาษณ์
เซี่ยเริ่มสนใจด้านการแพทย์ตั้งแต่วัยรุ่นตอนต้น เมื่อเธอไปเยี่ยมลุงที่โรงพยาบาลหลังการผ่าตัด นั่นเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นหมอ แต่แม่ของเธอกลับไม่สนับสนุน เพราะไม่อยากให้ลูกสาวต้องเผชิญกับความตาย และความเจ็บป่วยอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น เซี่ยจึงเบนเข็มไปทำงานวิจัยทางการแพทย์แทน โดยสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัย Newcastle ในสหราชอาณาจักร หลังจากใช้ชีวิตในต่างประเทศมาเกือบสองทศวรรษ รวมถึงช่วงเวลาที่อยู่ในรัฐเคนทักกีและแคลิฟอร์เนีย เธอก็ได้รับมอบหมายจากนายจ้างในขณะนั้น คือบริษัท Crown Bioscience ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ให้กลับไปตั้งสำนักงานในประเทศจีนเมื่อปี 2008 เพื่อให้บริการแก่บริษัทยาอื่นๆ
เธอกระโดดเข้าสู่ตลาดยาในจีนอย่างเต็มตัว และได้เห็นว่า ยาที่มีนวัตกรรมจากต่างประเทศ ต้องใช้เวลานานถึง “8 ถึง 10 ปี” กว่าจะมาถึงมือผู้ป่วยชาวจีน
จากนั้นเธอก็ได้บ่มเพาะ “ความฝันที่จะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งในจีน สามารถเข้าถึงยารุ่นใหม่ที่ล้ำหน้าที่สุดของโลกได้” เธอกล่าวไว้เมื่อปีที่แล้ว ระหว่างกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยซุนยัดเซ็นในนครกว่างโจว
ในขณะนั้น ประชากรของจีนมีแนวโน้มร่ำรวยขึ้นและมีอายุมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี เซี่ยและผู้ร่วมก่อตั้งอีกสามคนล้วนมีประสบการณ์ทำงานในสหรัฐมาอย่างยาวนาน หนึ่งในนั้นคือ “ไป่หยง หลี่” ซึ่งเคยทำงานที่บริษัท Pfizer นานถึง 12 ปี โดยเป็นผู้นำด้านการพัฒนายาภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับโรคมะเร็ง พวกเขาจึงร่วมกันก่อตั้ง “บริษัทยา Akeso” ขึ้นในปี 2012 ที่เมืองจงซาน ทางตอนใต้ของจีน
Akeso เริ่มต้นด้วยเงินทุนจาก Venture Capital เพียงเล็กน้อย ไม่ถึง 3 ล้านดอลลาร์ บริษัทเช่าสำนักงาน และจ้างนักวิจัยที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีเข้ามาร่วมงาน ขณะที่ผู้ร่วมก่อตั้งทั้งหมดไม่ได้รับเงินเดือน
สามปีต่อมา Akeso ก็สามารถคว้าข้อตกลงการให้สิทธิกับบริษัท Merck ได้สำเร็จ โดย Merck ได้ซื้อสิทธิทั่วโลกในการพัฒนาและทำตลาดแอนติบอดีรักษามะเร็งจาก Akeso ข้อตกลงครั้งนั้นช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้กับ Akeso และเปิดทางสู่ความร่วมมืออื่นๆ อีกมากมาย บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงในปี 2020 และสามารถระดมทุนได้ราว 10,000 ล้านบาท
1
ในปัจจุบัน สำนักงานใหญ่ของ Akeso ซึ่งตั้งอยู่ในมณฑลกวางตุ้ง ทางตอนใต้ของจีน ได้ขยายเป็นแคมปัสขนาดใหญ่ มีโรงงานกว้างขวางที่ผลิตยาหลายสิบชนิดซึ่งวางขายในจีนหรืออยู่ระหว่างการทดลองทางคลินิก บริษัทมีพนักงานมากกว่า 3,000 คน และมีมูลค่าตลาดหลักทรัพย์ราว 300,000 ล้านบาท
โฆษณา