11 พ.ค. เวลา 22:25 • สุขภาพ

เศร้า ใจสลาย ทำไมต้องพูด "ปวดตับ"

คำว่า “ปวดตับ” หมายถึง ภาวะทางอารมณ์ที่บีบคั้น หดหู่ หรือระทมใจ จนเกินกว่าจะรับได้อย่างสงบ มักใช้กับสถานการณ์ที่ตัวละครในละครรักสามเส้า, ซีรีส์วัยรุ่นดราม่า หรือคลิปคอนเทนต์สุดเศร้า ทำให้ผู้ชมรู้สึกอินจัดจนถึงขั้น “ทรมานใจ”
ในยุคที่สื่อบันเทิงไทยเต็มไปด้วยเรื่องราวเข้มข้น ดราม่าแสนเศร้า หรือแม้แต่คลิปตลกที่เสียดแทงใจคนดูอย่างรุนแรง เรามักได้ยินคำว่า “ปวดตับ” ใช้ในบริบทที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับร่างกายโดยตรง แต่กลับสื่อสารความรู้สึกได้อย่างชัดเจนและตรงจุด คำนี้กลายเป็น meme ทางภาษาและแสดงอารมณ์ของสังคมไทยในยุคปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ
ในแง่จิตวิทยา มนุษย์มักใช้ การอุปมาอุปไมยกับร่างกาย เพื่ออธิบายอารมณ์ เช่น "ใจสลาย" "อกหัก" หรือ "หัวใจจะวาย" แต่ “ปวดตับ” นั้นพิเศษตรงที่ เปรียบอารมณ์รุนแรงเป็นความเจ็บปวดของอวัยวะภายในที่ลึกกว่าและดู "ไม่โรแมนติก" อย่างตับ กลายเป็นสำนวนที่มีอารมณ์ขันปนเศร้า สะท้อนความสามารถของวัฒนธรรมไทยในการ “หัวเราะทั้งน้ำตา” ได้อย่างดี
ดังนั้น การเลือก "ตับ" แทนที่จะเป็น "ใจ" สื่อถึงอารมณ์ที่หนักหน่วงระดับลึก คล้ายกับการบ่นแบบประชด
บริบทนี้จะคล้ายกับ คิ้ว 8 มิติ(จริงๆมีแค่ 3) หรือ มั่นใจ 300% อะไรทำนองนี้
คำว่า “ปวดตับ” กลายเป็นเครื่องมือทางวาทกรรมที่มีประสิทธิภาพในสื่อออนไลน์ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มอย่าง Twitter, Facebook หรือ TikTok ในเชิงจิตวิทยาการรับรู้ การมีสำนวนที่คนเข้าใจตรงกันอย่าง “ปวดตับ” สร้างสิ่งที่เรียกว่า emotional shorthand คือการบีบอารมณ์ที่ซับซ้อนให้สื่อสารได้ในคำเดียว
นอกจากนี้ ในศาสตร์แพทย์แผนจีนโบราณ “ตับ” (肝 – กาน) มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับอารมณ์ โดยเฉพาะ “ความโกรธ” และ “ความเครียด” เชื่อกันว่า หากอารมณ์ตึงเครียดจะทำให้พลังงาน (Qi) ของตับไหลเวียนติดขัด นำไปสู่อาการเจ็บชายโครง แน่นหน้าอก หรือปวดหัวได้ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่วัฒนธรรมเอเชียรวมถึงไทย นำมาเปรียบเปรยว่าอารมณ์ที่รุนแรงมีผลต่อตับ
แล้วตับเกี่ยวข้องกับความรู้สึกจริงๆมั้ย?
ในตับจะมีบริเวณที่เรียกว่า Glisson’s Capsule เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (connective tissue) ที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มและยึดโครงสร้างของตับให้คงรูป บริเวณนี้เป็นแหล่งรับความรู้สึกเจ็บปวด เนื่องจากมันมีเส้นประสาทรับความรู้สึก (sensory nerve fibers) มากกว่าตัวเนื้อตับซึ่งไม่มีปลายประสาทเจ็บ ดังนั้น ในกรณีที่ตับเกิดภาวะอักเสบ, ตับโต, มีของเหลวคั่ง หรือมีแรงดันเพิ่มใน Glisson’s capsule จะเกิดการยืดตัวและกระตุ้นเส้นประสาท ส่งผลให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดๆหน่วงๆ บริเวณหน้าท้องได้
แม้ว่าการปวดตับเพราะดูซีรีย์ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับตับจริงๆ แต่หากวันใดมีอาการปวดตับจริงๆ แบบไม่ทราบสาเหตุขึ้นมา ควรรีบพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติมและรับการรักษาต่อไป
1
อ้างอิง
Moore, K. L., Dalley, A. F., & Agur, A. M. R. (2018). Clinically Oriented Anatomy (8th ed.). Philadelphia
Goyal, H., Perisetti, A., Rahman, M. I., & Amanullah, A. (2021). "Capsular pain in liver diseases: A review of pathophysiology and clinical implications." World Journal of Hepatology, 13(6), 633–643. https://doi.org/10.4254/wjh.v13.i6.633
โฆษณา