เมื่อวาน เวลา 00:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พายุกำลังมารัฐบาลเตรียมพร้อมหรือยัง ? | #บทบรรณาธิการกรุงเทพธุรกิจ

“พายุกำลังมา” นี่คือคำเตือนของ “เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยซึ่งออกมาย้ำเรื่องนี้หลายรอบมาก คำถามคือ คนในรัฐบาล “รู้หรือไม่และเตรียมความพร้อมไว้แล้วหรือยัง?” เพราะสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นในเวลานี้ คือ การห้ำหั่นทางการเมืองของพรรคต่างๆ
พายุในมุมของ ดร.เศรษฐพุฒิ หมายถึงภาวะเศรษฐกิจที่กำลังย่ำแย่ลงเรื่อยๆ ผลกระทบที่เห็นชัดสุดจะเกิดขึ้นในไตรมาสสุดท้ายของปี 2568 ซึ่งเกิดจาก “ภาษีทรัมป์” โดย “เศรษฐพุฒิ” เชื่อว่า ความไม่แน่นอนในการเจรจาระหว่าง “ไทย” กับ “สหรัฐ” จะทำให้การลงทุนชะลอตัว ดูเหมือนว่าตอนนี้ก็เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้วด้วย
ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังจากนี้มี 3 ด้านหลักๆ คือ 1.ผลกระทบโดยตรงต่อผู้ส่งออกไทยไปยังสหรัฐ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์ ยางล้อ อาหารแปรรูป และเครื่องจักร เพราะสินค้าเหล่านี้ส่งออกไปสหรัฐค่อนข้างมาก
2.ผลกระทบต่อธุรกิจที่อยู่ในซัพพลายเชนที่เราส่งออกไปยังประเทศอื่น แล้วประเทศเหล่านั้นส่งต่อไปยังสหรัฐอีกทอดหนึ่ง โดยธุรกิจเหล่านี้ก็โดนผลกระทบหนักไม่แพ้กัน
ข้อที่ 3 ซึ่งเป็นความเสี่ยงสำคัญสุดเลย คือ สินค้านำเข้าที่จะทะลักมาในประเทศไทย ประเด็นนี้น่าห่วงมากสุด เพราะประเทศอื่นๆ ที่ไม่สามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้ จะต้องหาตลาดอื่นทดแทน และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในจุดหมายสำคัญ สาเหตุที่เราต้องกังวลข้อนี้มากๆ เพราะส่งผลโดยตรงต่อภาคธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะเอสเอ็มอีซึ่งเวลานี้มีความเปราะบางที่สูงมากอยู่แล้ว หากธุรกิจเหล่านี้ล้มหายไปก็จะส่งผลต่อเนื่องไปยังตลาดแรงงาน เพิ่มความอันตรายต่อหนี้ครัวเรือนมากขึ้นด้วย
1
ในมุมมองของ “เศรษฐพุฒิ” อาจมีจุดที่เบาใจได้นิดนึง คือ เขาเชื่อว่า “พายุ” รอบใหม่จะไม่รุนแรงเท่ากับปี 2540 หรือแม้แต่ในช่วงโควิด เพียงแต่จะกินเวลายาวนานกว่า ...ประเด็นที่กองบรรณาธิการแอบเป็นห่วง คือ เราเหมือนคนที่ป่วยอยู่แล้ว กำลังเจอกับโรคใหม่ที่แทรกซ้อนเข้ามา โครงสร้างของเราจะรองรับไหวหรือไม่ แน่นอนว่า “รัฐบาล” ในฐานะที่ต้องดูแลคนไข้นี้จำเป็นต้องหามาตรการมาประคับประคอง ซึ่งในมุมมองของ “เศรษฐพุฒิ” ย้ำว่า ควรเป็นมาตรการที่ตรงจุดไม่ปูพรม ที่สำคัญควรออกแบบให้แตกต่างกัน ตามแผลของผู้ที่ได้รับผลกระทบ
1
อีกหนึ่งข้อเสนอที่น่าคิดจาก “เศรษฐพุฒิ” คือ มาตรการกระตุ้นการบริโภคในขณะที่สินค้าต่างประเทศทะลักเข้ามา อาจเป็นมาตรการที่ไม่เหมาะนักเพราะจะไปกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศเพื่อนบ้านแทนที่จะเป็นของไทย โดยเฉพาะโครงการ Digital Wallet ต้องดูเรื่องความคุ้มค่าและประสิทธิผลให้ดี ยิ่งสถานการณ์ปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้น การทบทวนโครงการนี้จึงเป็นเรื่องที่เหมาะสม ซึ่งเราหวังว่ากระสุนการคลังที่เหลืออยู่ไม่มาก รัฐบาลจะใช้มันยิงได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากสุด!
#กรุงเทพธุรกิจ #InsightforOpportunities #กรุงเทพธุรกิจEconomic
โฆษณา