13 พ.ค. เวลา 10:36 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

ความทรงจำจากอวกาศของ ‘Don Pettit’ นักบินอวกาศอายุมากที่สุดของ NASA

คนวัย 70 ปียังสามารถทำอะไรได้มากมาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวิทยาการด้านสุขภาพที่ดีขึ้นตามยุคสมัย แต่ถ้าจะให้คนวัยใกล้ 70 ไปสำรวจอวกาศคงจะยากไปไม่หน่อย
Pettit (กลาง) ถ่ายภาพร่วมกับ Ivan Vagner (บน) และ Alexey Ovchinin (ล่าง) ที่ฐานปล่อยจรวดในคาซัคสถาน เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2024 (ภาพจาก: Bill Ingalls/NASA/AFP)
อย่างไรก็ตาม อายุไม่ใช่ข้อจำกัดของ Don Pettit (ดอน เพตทิต - ชื่อเต็ม Donald Roy Pettit) นักบินอวกาศของ NASA ในการปฏิบัติภารกิจในวัยเฉียด 70 โดย Pettit นั้นเข้าทำงานใน NASA เมื่อปี ค.ศ. 1996 และออกสู่อวกาศเป็นครั้งแรกในภารกิจเอ็กซ์เพดิชัน 6 (Expedition 6) เมื่อปี ค.ศ. 2003
Pettit (ซ้ายสุด) ระหว่างการปฏิบัติภารกิจ Expedition 6 เมื่อเดือน เม.ย. 2003 (ภาพจาก: NASA/AFP)
ส่วนมาก งานของ Pettit จะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักบินอวกาศในสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) เช่น ระบบประปา การปลูกพืชในสภาพน้ำต่าง ๆ และการซ่อมบำรุงระบบของสถานีฯ ตลอดชีวิตการทำงานกับ NASA นั้น Pettit ได้ปฏิบัติภารกิจในอวกาศด้วยกัน 4 ครั้ง
การปฏิบัติภารกิจครั้งล่าสุดของ Pettit นั้นพิเศษกว่าครั้งก่อน ๆ หน้า เนื่องจากเขาตั้งใจ “ทดลอง” ถ่ายภาพอวกาศและปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนโลก และนำภาพเหล่านั้นมาเผยแพร่ถือเป็นการรวม “ศาสตร์” และ “ศิลป์” ไว้ด้วยกันอย่างที่เจ้าตัวเคยกล่าวไว้ใน X ส่วนตัวว่า
ผมคิดว่านี่คือการผสมผสานระหว่างวิทยาศาสตร์และศิลปะ มีหลายสิ่งให้ติ่งเทคโนโลยีได้ชม หรือคุณจะนั่งดูรูปภาพเหล่านี้พลางคิดในใจว่า ‘เจ๋งดีนะ’ ก็ได้
Don Pettit
‘แสงเหนือเมืองไทย (Thai aurora)’ หรือออโรราจากไฟเรือประมงในท้องทะเลไทย (ภาพจาก: Don Pettit/NASA)
ภาพถ่ายเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก (ภาพจาก: Don Pettit/NASA)
Pettit กลับมายังโลกเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ที่ผ่านมาหลังจากปฏิบัติภารกิจครั้งล่าสุดไปทั้งสิ้น 220 วัน ซึ่งตรงกับวันเกิดปีที่ 70 ของเจ้าตัวพอดี และตลอดชีวิตการทำงานของเขาที่ NASA นั้น Pettit ได้ปฏิบัติภารกิจในอวกาศรวมทั้งสิ้น 590 วัน อีกทั้งได้เดินในอวกาศ 13 ครั้ง แม้ว่าจะมีมนุษย์จำนวนน้อยนิดที่จะได้เห็นโลกจากอวกาศ แต่ Pettit ก็เน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะมองจากมุมใด โลกของเราก็สวยงามเสมอ
โลกช่างสวยงามอย่างน่าทึ่งเมื่อคุณยืนอยู่บนพื้นดิน และโลกก็สวยด้วยจากอวกาศ แล้วก็บอกยากเสียด้วยครับว่ามองจากมุมไหนสวยกว่ากัน ผมว่า เราขวนขวายหาความงามของโลกจากการอยู่บนวงโคจร เพราะอวกาศนั้นคือโอกาสแสนพิเศษที่หาได้ยากยิ่ง แต่ถ้ามีมนุษย์ไปอยู่ในวงโคจรโลกมาทั้งชีวิต เมื่อพวกเขาได้แตะพื้นโลก ก็คงจะคิดครับว่า มุมมองตรงนั้นคือมุมมองที่สวยที่สุดที่พวกเขาเคยพบเห็น
Don Pettit
รวมมิตรทางช้างเผือก แสงจักรราศี ดาวเทียมต่าง ๆ และชั้นบรรยากาศเหนือโลก (ภาพจาก: Don Pettit/NASA)
เมฆแมกเจลลันใหญ่ที่มองเห็นได้จากซีกโลกใต้ ถ่ายติดพร้อมกับ 'f-region' หรือส่วนสีส้ม-แดงจากชั้นบรรยากาศของโลก (ภาพจาก: Don Pettit/NASA)
“รอบรู้ ดูกระแส ก้าวทันโลก” ไปกับ Thai PBS Sci & Tech พร้อมอัปเดตข้อมูลแวดวงวิทยาศาตร์ เทคโนโลยี รู้ทันโลกไอที และโซเชียลในรูปแบบ Audio จาก AI เสียงผู้ประกาศของ Thai PBS ได้ที่: www.thaipbs.or.th/ai-audio-news/playlists/SciAndTech
ภาพถ่ายอวกาศจากบัญชีผู้ใช้ X: @astro_Pettit
โฆษณา