13 พ.ค. เวลา 10:56 • ข่าว

รู้จักภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV ทางเลือกป้องกันลูกน้อยวัย 2 ขวบปีแรกจากโรคร้าย

หนึ่งในโรคติดเชื้อที่ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นกังวลมากที่สุด คงหนีไม่พ้นโรคติดเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งมักระบาดในกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไวรัสชนิดนี้ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง
  • เชื้อไวรัส RSV คืออะไร
แพทย์หญิงมณินทร วรรณรัตน์ กุมารแพทย์โรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลเวชธานี อธิบายว่า เชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจ ทั้งส่วนบนและส่วนล่าง สามารถติดเชื้อได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ แต่ส่วนมากมักเกิดในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี เชื้อไวรัสนี้มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกายได้นานหลายชั่วโมง และอยู่ที่มือของเราได้นานประมาณ 30 นาที
ภาพจาก iStock
การติดเชื้อไวรัส RSV เกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านทางการไอ จาม ไวรัสเข้าสู่ร่างกายผ่านทางตา จมูก ปาก หรือจากการจับมือ ในประเทศไทยมักพบเชื้อไวรัส RSV บ่อยในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว
  • อาการโรค RSV
การติดเชื้อ RSV ส่งผลให้มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา เช่น ไข้ ไอ จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล แต่เมื่ออาการลุกลาม อาจทำให้เกิดหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ หรือปอดอักเสบ โดยจะมีอาการไข้สูง ไอแรง หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงหวีด หรือเสียงครืดคราดในลำคอ และมีเสมหะมากกว่าไข้หวัดธรรมดา เด็กเล็กไม่สามารถเอาน้ำมูกหรือเสมหะออกเองได้ ทำให้หายใจลำบาก
ปัจจุบันสามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงให้กับเด็กๆ ได้ด้วยการฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV (Nirsevimab) ซึ่งเป็นการฉีดสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัส RSV ให้กับร่างกายเพื่อนำไปใช้ต้านทานเชื้อไวรัส RSV ได้ทันที แนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV โดยแบ่งตามช่วงอายุดังนี้
  • กลุ่มทารกแรกเกิด – 12 เดือน
1. ทารกแรกเกิด – 12 เดือนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีแนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV
2. ทารกแรกเกิด – 12 เดือนที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง ได้แก่
- โรคปอดเรื้อรังจากภาวะคลอดก่อนกำหนด (BPD) ที่ยังคงต้องรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ ยาขับปัสสาวะ หรือมีการใช้ออกซิเจนในช่วง 6 เดือนก่อนเข้าสู่ฤดูกาลระบาด
- เด็กที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างรุนแรง
- เด็กที่เป็นโรค cystic fibrosis รุนแรง เช่น เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเนื่องจากการกำเริบของโรคปอดในปีแรกของชีวิต หรือมีความผิดปกติของภาพถ่ายทรวงอก หรือมีภาวะทุพโภชนาการ (Weight-for-length < 10th percentile) เป็นต้น
- เด็กที่มีโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดและยังคงได้รับการรักษาอยู่ (hemodynamically significant congenital heart disease)
ในกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนสำเร็จรูป RSV จำนวน 1 เข็ม ปริมาณขึ้นอยู่กับน้ำหนักและอายุของเด็ก โดยแนะนำให้ฉีดในระยะเข้าฤดูกาลระบาดของ RSV คือช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปี สำหรับทารกที่เกิดในช่วงฤดูกาลระบาดสามารถฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV หลังคลอดได้ทันที
  • กลุ่มเด็กอายุ 12 - 24 เดือน
1. เด็กอายุ 12 – 24 เดือนที่มีสุขภาพแข็งแรงดีแนะนำให้ฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV
2. เด็กอายุ 12 - 19 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง และอาจพิจารณาในเด็กอายุ 19-24 เดือน ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคติดเชื้อ RSV รุนแรง
ในกลุ่มนี้จะได้รับการฉีดวัคซีนสำเร็จรูป RSV จำนวน 2 เข็ม ปริมาณขึ้นอยู่กับน้ำหนักและอายุของเด็ก โดยแนะนำให้ฉีดในระยะเข้าฤดูกาลระบาดของ RSV คือช่วงเดือนมิถุนายนถึงตุลาคมของทุกปีเช่นเดียวกัน
ภาพจาก iStock
ทั้งนี้ ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV นับว่ามีความปลอดภัย ช่วยลดโอกาสในการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 79.5%, ลดความเสี่ยงจากการรักษาตัวในโรงพยาบาลของการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างที่เกิดจากเชื้อไวรัส RSV ได้ถึง 83.2%, ลดความรุนแรงและลดโอกาสจากการรักษาตัวในไอซียูได้ 75.3% นอกจากนี้ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส RSV ได้ยาวนานถึง 5 เดือน ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาในช่วงการระบาดของเชื้อไวรัส RSV
  • ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV กับวัคซีน RSV ต่างกันอย่างไร
ทั้ง 2 อย่างมีความต่างกันในเรื่องของกลไกการทำงานและความรวดเร็วในการให้การปกป้อง โดยภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV จะมีสารภูมิต้านทาน (antibody) ที่พร้อมต่อสู้กับเชื้อ RSV ได้ทันทีหลังการฉีดเข้าไปในร่างกาย ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับเด็กเล็กโดยเฉพาะ
ขณะที่วัคซีน RSV จะทำให้ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทาน (antibody) ขึ้นมาเองเพื่อต่อสู้กับเชื้อ RSV ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้างภูมิคุ้มกัน แต่ข้อดีคือให้ระยะเวลาในการป้องกันที่ยาวนานกว่า เหมาะสำหรับหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง
นอกจากภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป RSV แล้ว สิ่งสำคัญคือการที่พ่อแม่ผู้ปกครองพาลูกมาฉีดวัคซีนที่จำเป็นตามอายุของเด็ก โดยแบ่งอย่างง่ายๆ ได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. วัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีนที่อยู่ในแผนสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคของประเทศ แนะนำให้ได้ใช้ในเด็กไทยทุกคน ได้แก่
- วัคซีน บีซีจี ป้องกันวัณโรค ให้ตั้งแต่แรกเกิด
- วัคซีน ตับอักเสบบี ให้ 3 ครั้ง ตั้งแต่แรกเกิด อายุ 1-2 เดือน และ อายุ 6 เดือน
- วัคซีน โปลิโอ ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง และ 4-6 ขวบ
- วัคซีน คอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ ให้พร้อมกับ
- วัคซีนโปลิโอ คือ ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน 1 ขวบครึ่ง, 4-6 ขวบ และกระตุ้นเมื่ออายุ 11-12 ปี
- วัคซีน หัด-หัดเยอรมัน-คางทูม ให้เมื่ออายุ 9-12 เดือน และให้ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง
- วัคซีน ไข้สมองอักเสบเจอี ให้เมื่ออายุ 9-12 เดือน และกระตุ้นอีกครั้ง 12-18 เดือนต่อมา
2. วัคซีนทางเลือก เป็นวัคซีนที่มีประโยชน์แต่ยังมีราคาสูงจึงไม่สามารถจัดหาให้แก่เด็กๆ ทุกคนได้ ซึ่งในหลายๆ ครั้งก็ก่อให้เกิดโรครุนแรง ทำให้คุณพ่อคุณแม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง หากต้องการให้ลูกน้อยได้รับวัคซีน ได้แก่
- วัคซีน ป้องกันโรคจากเชื้อ Haemophilus Influenzae Type B (Hib) ซึ่งก่อโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด ให้เมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 1-1 ขวบครึ่ง
- วัคซีน ป้องกันโรคจากเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อแบบรุกราน (Invasive Pneumococcal Diseases : IPD) เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือด กระดูกและข้อติดเชื้อ ให้ฉีดเมื่ออายุ 2, 4, 6 เดือน และกระตุ้นเมื่ออายุ 12-15 เดือน
- วัคซีนป้องกันโรคท้องเสียจากไวรัสโรต้า ให้ 2 หรือ 3 ครั้ง (ขึ้นกับชนิดวัคซีน) เมื่ออายุ 2, 4 และ 6 เดือน โดยการหยอด
- วัคซีนไอกรนชนิดไร้เซลล์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเพื่อให้มีผลข้างเคียงลดลง บรรจุรวมกับวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก สามารถใช้แทนวัคซีนคอตีบ-บาดทะยัก-ไอกรนชนิดทั้งเซลล์ได้ทุกครั้ง
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป สำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปีการฉีดปีแรกต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน ในปีต่อมาให้ฉีดปีละ 1 ครั้ง
- วัคซีนตับอักเสบเอ ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี โดยให้ 2 ครั้ง ห่างกัน 6-12 เดือน
- วัคซีนอีสุกอีใส ให้ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปีขึ้นไป และให้ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 ขวบครึ่ง – 4 ขวบ ปัจจุบันมีวัคซีนรวมหัด-หัดเยอรมัน-คางทูม-อีสุกอีใส ซึ่งสามารถพิจารณาใช้แทนการฉีดแบบแยกเข็มได้ในเด็กอายุ 1-12 ปี
- วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูก หูดอวัยวะเพศ (และมะเร็งอวัยวะเพศ มะเร็งทวารหนักในผู้ชาย) ให้ได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี โดยฉีด 3 เข็ม ที่ 0, 6, 12 เดือน หากเริ่มฉีดเข็มแรกก่อนอายุ 15 ปี ฉีดเพียง 2 เข็มได้ โดยฉีดเข็มที่ 2 เมื่อ 6-12 เดือนต่อมา สำหรับเด็กชายให้ฉีดเฉพาะชนิด 4 สายพันธุ์ แต่เด็กหญิงสามารถเลือกใช้ชนิด 2 หรือ 4 สายพันธุ์อย่างใดอย่างหนึ่ง
- วัคซีนไข้เลือดออก ฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-45 ปี โดยให้ 3 ครั้ง ที่ 0, 6 และ 12 เดือน
  • อาการข้างเคียงจากวัคซีน
หลังจากลูกได้รับวัคซีนทุกครั้งควรเฝ้าสังเกตอาการที่โรงพยาบาลอย่างน้อย 30 นาที เนื่องจากปฏิกิริยาการแพ้รุนแรง (Anaphylaxis) มักเกิดขึ้นภายใน 30 นาทีหลังได้รับวัคซีน
ฝีจากวัคซีนบีซีจีที่ฉีดเมื่อแรกเกิดลูกอาจเป็นฝีใต้ผิวหนังขนาดเล็กอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ ไม่ต้องใส่ยาหรือปิดแผล ให้เช็ดแผลด้วยสำลีชุบน้ำต้มสุก หากมีต่อมน้ำเหลืองใกล้ตำแหน่งที่ฉีดวัคซีนบีซีจีมีขนาดใหญ่ควรไปพบแพทย์
ส่วนอาการปวด บวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนหรือมีอาการไข้ ร้องกวน อาเจียน ท้องเสียเป็นอาการข้างเคียงที่ไม่รุนแรง ดูแลโดยให้ยาพาราเซตามอล และรักษาตามอาการ แต่หากมีอาการรุนแรง เช่น ชักสะลึมสะลือ โคม่า มีผื่นลมพิษรุนแรงหายใจลำบาก ตัวเขียว ชีพจรเบาเร็วควรไปพบแพทย์ทันที
อย่างไรก็ตาม เมื่อมาถึงวันนัดฉีดวัคซีน แต่ลูกกลับมีไข้สูง ควรเลื่อนการฉีดวัคซีนออกไปก่อน แต่หากป่วยเพียงเล็กน้อย เช่น เป็นหวัดโดยไม่มีไข้ หรือท้องเสียเล็กน้อย ก็สามารถรับวัคซีนได้
หากแพ้วัคซีนหรือส่วนประกอบ ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนนั้นๆ หากลูกแพ้ไข่รุนแรงไม่ควรรับวัคซีนที่ผลิตจากไข่ เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่แต่สามารถรับวัคซีนหัดได้ เพราะในวัคซีนมีไข่ปนอยู่น้อยมาก ที่สำคัญคือควรพาลูกมารับวัคซีนตามวันนัดและควรนำสมุดบันทึกวัคซีนมาพบแพทย์ทุกครั้งที่รับวัคซีน พร้อมเก็บสมุดบันทึกวัคซีนไว้จนลูกน้อยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับประเมินภูมิคุ้มกันโรค
โฆษณา