14 พ.ค. เวลา 09:14 • ข่าวรอบโลก

หรือยูเครนกับยุโรปจะ “ตกหลุมพราง” ของปูติน

ใน “การเจรจาตรง รัสเซีย-ยูเครน” ที่อิสตันบูล แบบกำหนดวันไม่ทันตั้งตัว
ความเป็นไปได้ของการเจรจาตรงสองฝ่าย “รัสเซีย-ยูเครน” ที่อิสตันบูล ในวันพฤหัสนี้ 15 พฤษภาคม 2025 อาจดูเหมือนเป็นการพลิกทางการทูตที่น่าประหลาดใจของรัสเซีย แต่มันเป็นเพียงแวบแรกเท่านั้น
นักวิเคราะห์จาก Re: Russia ระบุว่าแนวโน้มของการเจรจาสันติภาพใหม่ในตุรกีสอดคล้องกับเป้าหมายของการเจรจาที่ยาวนานและหลายรอบของรัฐบาลทรัมป์ที่ซาอุดิอาระเบีย ดูคล้ายกับว่าคำเชื้อเชิญของรัสเซียที่เรียกยูเครนมานั่งคุยกันอาจสร้างแรงผลักดันมาจากการทูตของอเมริกา ทำให้ดูเหมือนทำเนียบขาวชนะในนโยบายต่างประเทศที่รอคอยมานาน
“ปูติน” ประกาศข้อเสนอของเขาภายใต้สถานการณ์ที่แลดูผิดสังเกต นั่นคือตั้งโต๊ะแถลงข่าวกลางดึกหลังเที่ยงคืนของ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากผู้นำยุโรปสี่ประเทศ (ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี โปแลนด์) ยื่นคำขาดที่กระตุ้นให้รัสเซียยอมรับ “การหยุดยิงโดยไม่มีเงื่อนไข” เป็นขั้นตอนแรกก่อนจะมีเจรจากัน
คำขาดนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกดดันรัสเซียให้เลิกยืนกรานที่จะแก้ไข “เงื่อนไขที่แตกต่าง” บางประการ ข้อเรียกร้องของมอสโกที่เคียฟมองว่าเท่ากับการยอมจำนน ก่อนจะถึงคำขาดของกลุ่มผู้นำยุโรป มอสโกสามารถดึงฝ่ายบริหารของทรัมป์เข้าร่วมการหารือเกี่ยวกับเงื่อนไขสันติภาพได้ ส่งผลให้ความพยายามที่จะนำรัสเซียมาสู่โต๊ะเจรจาในทันทีลดน้อยลง (หาฝ่ายที่สามเข้ามาเอี่ยวด้วย)
1
เสียงส่วนใหญ่ผู้นำยุโรปยืนกรานว่าการเจรจาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการหยุดยิงก่อน และเป็นเรื่องที่แฟร์ที่จะถามว่าการเจรจารอบต่อไปจะมีประโยชน์อะไรหากรัสเซียยังคงยึดติดกับข้อเรียกร้องแบบเดิมกับที่เคยเรียกร้องเมื่อสามปีก่อน ซึ่งรัสเซียแลดูจะส่งสัญญาณว่าจะทำเช่นนั้น
ปฏิกิริยาเริ่มต้นของ “เซเลนสกี” ต่อข้อเสนอของปูตินยังแนะนำว่าควรหยุดยิงก่อนมานั่งเจรจาด้วย อย่างไรก็ตามท่าทีของยูเครนเปลี่ยนไปเมื่อทรัมป์ยอมรับและเห็นดีเห็นงามข้อเสนอการเจรจาโดยตรงของปูตินโดยไม่มีเงื่อนไขทันที ซึ่งในขณะเดียวกันมันก็ไป “ด้อยค่า” การยื่นคำขาดของผู้นำยุโรปสี่ประเทศที่เดินทางมาสุมหัวคุยกันที่เคียฟ ในขณะเดียวกันก็แสดงความไม่มั่นใจว่า “ข้อตกลงนั้นเป็นไปได้หรือไม่”
2
เครดิตภาพ: Reuters
นักวิเคราะห์จาก Re: Russia โต้แย้งว่าข้อเสนอของปูตินไม่ใช่ “กลวิธียื้อเวลา” อย่างที่หลายคนเห็นและเข้าใจกัน เครมลินอยู่ๆ คงไม่กำหนดวันที่ว่าเป็น 15 พฤษภาคมได้แบบปุ๊บปั๊บ ซึ่งมันไปตรงกับช่วงสิ้นสุดการเดินทางเยือนซาอุดิอาระเบียของทรัมป์พอดี หากเป้าหมายคือต้องการยื้อถ่วงเวลาจริงๆ ตรงกันข้ามปูตินกำลังใช้ประโยชน์จากความปรารถนาของทรัมป์ที่จะประสบความสำเร็จทางการทูตครั้งยิ่งใหญ่โดยไม่คำนึงถึงเนื้อหาสาระสำคัญ
“ทรัมป์” บอกว่าเขาจะบินไปตุรกีก็ต่อเมื่อปูตินไปที่อิสตันบูลเท่านั้น การพบกันที่อิสตันบูลจะสมเหตุสมผลก็ต่อเมื่อมีการบรรลุข้อตกลงในเบื้องต้น แม้ว่าจะเป็นเพียงการสงบศึกชั่วคราวก็ตาม เงื่อนไขที่เป็นไปได้ยังไม่ชัดเจน แต่ฝั่งผู้เจรจาของสหรัฐฯ เช่น สตีฟ วิทคอฟฟ์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการประนีประนอมที่สำคัญกับมอสโกมาโดยตลอด น่าจะต้องทำงานอย่างหนักเพื่อสรุปข้อตกลง
ตอนนี้มีผู้นำคนเดียวที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าจะไปอิสตันบูลในวันพฤหัสบดีนี้คือ “เซเลนสกี” ซึ่งเขาไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปฏิบัติตามคำสั่งของทรัมป์ เนื่องจากวอชิงตันขู่ที่จะตัดความช่วยเหลือทางทหาร ในขณะเดียวกันคาดว่าผู้นำยุโรปที่เคยสนับสนุนเซเลนสกีในข้อพิพาทกับสหรัฐฯ ก่อนหน้านี้จะแอบสังเกตการณ์อยู่ห่างๆ
ล่าสุดดูจะชัดเจนแล้วว่า “ปูตินจะไม่ไปพบเซเลนสกีที่ตุรกี” (ส่งผู้ช่วยคนสำคัญกับลาฟรอฟไปคุยกับเซเลนสกีแทน) แต่การเงียบแบบนี้เน้นย้ำจุดยืนที่แข็งกร้าวของเขา ทำให้เกมการเจรจาตรงของคู่กรณีตกอยู่ในมือของเขา กล่าวอีกนัยหนึ่งมีเพียงปูตินเท่านั้นที่สามารถบรรลุความมุ่งมั่นของทรัมป์ในการลงนามข้อตกลงสำคัญระหว่างการเดินทางเยือนต่างประเทศครั้งแรกของเขาได้
1
ยูริ อูชาคอฟ ที่ปรึกษาด้านนโยบายการต่างประเทศของปูติน กับ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีการต่างประเทศรัสเซีย สองคนที่น่าจะเป็นตัวแทนนั่งเจรจากับฝ่ายยูเครนที่อิสตันบูล เครดิตภาพ: KP.RU
การเจรจาที่มีสหรัฐเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยกินเวลากว่าสองเดือนก่อนหน้านี้ (รวมถึงข้อเสนอของสหรัฐฯ ที่จะรับรองอำนาจอธิปไตยของรัสเซียเหนือไครเมียอย่างเป็นทางการ) แสดงให้เห็นว่าปูตินอาจเต็มใจสละสิทธิ์ในดินแดนที่ถูกผนวกซึ่งกองกำลังของเขายังไม่สามารถยึดครองได้สมบูรณ์ (ยึดเส้นแนวปะทะล่าสุดไปก่อน)
แต่ทว่ารัสเซียยังคงคัดค้านอย่างหนักแน่นต่อความช่วยเหลือทางทหารจากชาติตะวันตกที่ยังคงมีส่งให้ยูเครน รวมถึงการส่งทหารยุโรปเข้ามาประจำการในยูเครนในอนาคตอันใกล้ ข้อตกลงสุดท้ายที่ตกลงกันโดยไม่ได้รับเห็นดีเห็นงามจากเซเลนสกีหรือผู้นำยุโรปมีความเสี่ยงที่จะทำให้รัสเซียเล่นแง่ในประเด็นเหล่านี้โดยเฉพาะ
หากปูตินไม่เข้าร่วมการเจรจาที่อิสตันบูล การเจรจาอาจดำเนินต่อไปในระดับรัฐมนตรีต่างประเทศและจบลงโดยไม่มีผลลัพธ์เกิดขึ้น แต่สัญญาณใดๆ ที่ปูตินส่งว่าจะเข้ามีส่วนร่วมย่อมสร้างความกังวลใจให้กับยูเครนและยุโรปไม่น้อย เพราะเซเลนสกีแทบจะไม่มีทางเลือกอื่นหากทั้งทรัมป์และปูตินเดินทางมาถึงตุรกีพร้อมกับร่างข้อตกลงในมืออยู่แล้ว ซึ่งทรัมป์จะกดดันให้ยูเครนลงนาม
2
เรียบเรียงโดย Right Style
14th May 2025
  • อ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: TRT World>
โฆษณา