16 พ.ค. เวลา 10:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ไขความลับ “ตะกร้าเงินเฟ้อ”

จากข่าวเกี่ยวกับเงินเฟ้อไทยในช่วงที่ผ่านมา นอกจากข้อสงสัยที่ว่า ทำไมเงินเฟ้อไทยถึงต่ำ? (อ่านบทความ “ปลดล็อกความเข้าใจ เงินเฟ้อไทยทำไมถึงต่ำ ได้ที่ https://www.bot.or.th/th/research-and-publications/articles-and-publications/bot-magazine/Phrasiam-68-2/theknowledge-lowinflation.html)
อีกข้อข้องใจของใครหลายคนก็คือ ตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของไทยสะท้อนการปรับราคาสินค้าที่คนส่วนใหญ่จับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? และอาจกลายเป็นอีกคำถามสำคัญตามมาว่าเพราะเหตุใดถึงรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นสวนทางกับตัวเลขเงินเฟ้อที่ค่อนข้างต่ำ? โดยอยู่ที่แค่ 0.4% ในปี 2567
บทความนี้จะพาทุกท่านมาไขข้อข้องใจเหล่านั้น ไปพร้อม ๆ กัน
เงินเฟ้อคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร
เงินเฟ้อ คือ ภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยวัดจากการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้จ่าย ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงราคาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยกระทรวงพาณิชย์จะประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นทางการทุกเดือน ซึ่งวัดจากการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index) หรือ CPI ที่คำนวณจากราคาสินค้าและบริการใน “ตะกร้าเงินเฟ้อ” ของประชาชนในประเทศ
อัตราเงินเฟ้อถูกใช้เป็นหนึ่งในเครื่องชี้ที่ใช้ในการดูแลเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชน การวัดเงินเฟ้อที่ถูกต้องและแม่นยำจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่การคำนวณตัวเลขออกมาก็มีความยากและข้อจำกัดเช่นกัน โดยคงไม่อาจจะวัดราคาสินค้าและบริการทุกตัวที่ทุกคนบริโภคได้ทั้งหมด เพราะคนแต่ละคนก็ต่างมีพฤติกรรมการบริโภคที่ต่างกัน ดังนั้น โจทย์ที่ท้าท้ายของกระทรวงพาณิชย์ก็คือ จะหาน้ำหนักและรายการสินค้าที่สามารถสะท้อนการบริโภคของประชาชนทั่วไปได้อย่างไร
Who : ตะกร้าสินค้าของใคร
ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) จัดทำขึ้นเพื่อใช้ประเมินการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการเฉลี่ยของ “คนส่วนใหญ่ในประเทศ” โดยมีกระทรวงพาณิชย์เป็นผู้จัดเก็บราคาสินค้าและบริการ และคำนวณเป็น CPI โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจสังคมของครัวเรือน (The Household Socio-Economic Survey: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติมาเป็นตัวแทนของ “คนส่วนใหญ่ในประเทศ”
ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์อ้างอิงข้อมูลจากการสำรวจ SES ปี 2566 ซึ่งครอบคลุมครัวเรือนทุกกลุ่มรายได้เป็นจำนวนทั้งสิ้น 49,664 ครัวเรือนทั่วประเทศ โดยนำโครงสร้างการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมดเหล่านี้มาเพื่อกำหนดว่าในตะกร้าเงินเฟ้อจะมีรายการสินค้าและบริการอะไรบ้าง เช่น ข้าวสารเจ้า ผงซักฟอก ค่าไฟ เป็นต้น และน้ำหนัก
ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสำหรับแต่ละรายการสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อควรจะเป็นเท่าไหร่
What : ตะกร้าเงินเฟ้อมีอะไรบ้าง
ในการเลือกรายการสินค้าและบริการเพื่อคำนวณ CPI กระทรวงพาณิชย์จะนำข้อมูลค่าใช้จ่ายและรายการสินค้าและบริการทั้งหมดที่ได้จาก SES มาจัดหมวดหมู่ โดยแบ่งออกเป็น 7 หมวด และเรียงค่าใช้จ่ายของรายการสินค้าในแต่ละหมวดจากมากไปน้อย เพื่อคัดเลือกรายการที่มีสัดส่วนสูงและสามารถสะท้อนการอุปโภคบริโภคของแต่ละหมวดมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น ในหมวดอาหารสด จะมีรายการ เนื้อหมู ส้มเขียวหวาน ผักคะน้า แต่อาจตัดผักชีฝรั่ง ผักโขมออกเพราะน้ำหนักค่าใช้จ่ายของครัวเรือนสำหรับสินค้านี้ค่อนข้างน้อย
1
ปัจจุบัน รายการสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อมีอยู่ทั้งหมด 464 รายการ โดย 3 หมวดหลักที่คนส่วนใหญ่ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน (สัดส่วนกว่า 76%) ได้แก่ อาหารและเครื่องดื่ม (สัดส่วนสูงถึง 39%) ที่อยู่อาศัย เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ (สัดส่วนเกือบ 25%) และการเดินทางและการสื่อสาร เช่น ค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง (สัดส่วนประมาณ 23%)
ทั้งนี้ เพื่อให้ดัชนีราคาสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่เสมอ กระทรวงพาณิชย์จะปรับปรุงโครงสร้างน้ำหนักและรายการสินค้าและบริการที่ใช้ในการคำนวณ CPI ทุก ๆ 4 ปี โดยการปรับปรุงครั้งล่าสุดด้วยข้อมูลปี 2566 ได้มีการปรับลดน้ำหนักบางหมวด
เช่น อาหาร เครื่องนุ่งห่ม และมีการยกเลิกสินค้าที่ได้รับความนิยมน้อยลง เช่น นิตยสาร และค่าสมาชิกเคเบิลทีวี ตลอดจนได้เพิ่มรายการที่ได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น แท็บเล็ต ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ค่าสมาชิกดูหนังฟังเพลงออนไลน์ และค่าพลังงานไฟฟ้า (EV)
How: ตะกร้าเงินเฟ้อจัดเก็บราคาและวัดอย่างไร
ในการเก็บข้อมูลราคาสินค้าและบริการสำหรับคำนวณการเปลี่ยนแปลงราคาเฉลี่ยถ่วงน้ำหนัก เพื่อให้ได้ CPI ตัวรวม นั้น จะมีการกำหนดลักษณะเฉพาะของรายการสินค้าและบริการที่ต้องจัดเก็บ ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่สำคัญ เพราะในความเป็นจริงแล้ว สินค้าแต่ละรายการก็มีให้เลือกอยู่จำนวนมาก และมีความหลากหลายทั้งในแง่ประเภท แบรนด์ และขนาด ซึ่งวิธีที่กระทรวงพาณิชย์ใช้ในการกำหนดลักษณะเฉพาะสินค้าคือจะดูจากความนิยมเป็นหลักเพื่อให้มั่นใจว่าราคาสินค้าที่สำรวจนั้นสามารถสะท้อนค่าใช้จ่ายในแต่ละหมวดของครัวเรือนได้
ยกตัวอย่างเช่น การเก็บข้อมูลราคาสบู่ซึ่งอยู่ในหมวดของใช้ส่วนตัว กระทรวงพาณิชย์จะสอบถามร้านค้าว่า แบรนด์ไหนและขนาดเท่าไหร่ที่คนนิยมซื้อ และเมื่อได้ลักษณะเฉพาะมาแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็จะเก็บราคาสินค้าตัวนั้นไปต่อเนื่อง โดยไม่เปลี่ยนแบรนด์หรือขนาดจนกว่าสินค้าดังกล่าวจะไม่เป็นที่นิยมหรือเลิกผลิตแล้วเท่านั้น เพื่อให้ได้ดัชนีราคาที่สะท้อนเพียงการเปลี่ยนแปลงของราคาเท่านั้น เพราะหากเปลี่ยนไปเก็บราคาของสบู่แบรนด์อื่นก็อาจมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ราคาแตกต่างกันได้ เช่น วัตถุดิบ ค่าการตลาด
1
นอกจากลักษณะเฉพาะของสินค้า กระทรวงพาณิชย์ยังกำหนดพื้นที่และร้านค้า รวมถึงเวลาและความถี่ในการจัดเก็บราคาอย่างชัดเจน เพื่อให้ราคาที่ใช้คำนวณ CPI สอดคล้องกับหลักการและสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาได้อย่างแท้จริง โดยมีการกำหนดเกณฑ์ต่าง ๆ ไว้อย่างชัดเจน อาทิ
เกณฑ์การคัดเลือกจังหวัด เช่น เป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ มีการค้าชายแดน เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ
เกณฑ์การคัดเลือกตลาด/ ร้านค้า เช่น สามารถเดินทางได้สะดวก เป็นที่นิยมของคนในพื้นที่ มีที่ตั้งเป็นหลักแหล่งสามารถเก็บข้อมูลได้ต่อเนื่อง
1
เกณฑ์การจัดเก็บราคา เช่น ต้องเป็นราคาที่ลูกค้าทั่วไปเผชิญ จึงจะไม่เก็บราคาที่ให้ส่วนลดเฉพาะกลุ่ม (เช่น สมาชิก) และเป็นราคาที่ซื้อขายด้วยเงินสด (ไม่รวมส่วนลดเมื่อมีการผ่อน) และต้องจัดเก็บในเวลาเดียวกันของทุกวัน (สำหรับสินค้าที่ราคาอาจแตกต่างกันในระหว่างวัน เช่น ผักและผลไม้) ทั้งนี้ สำหรับสินค้าที่ราคามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ๆ ก็จะมีความถี่ในการจัดเก็บราคาบ่อยขึ้น
ทั้งนี้ การเก็บราคาสินค้าแต่ละอย่างยังมีข้อจำกัดและความซับซ้อนที่แตกต่างกันไป บางสินค้าอาจจัดเก็บได้ง่ายจากหน่วยงานที่ดูแลโดยตรง เช่น ค่าไฟฟ้าและน้ำประปา ขณะที่บางสินค้าต้องขอความร่วมมือจากร้านค้าเนื่องจากต้องเก็บราคาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน และสำหรับบางสินค้า เช่น ค่าเช่าบ้าน จะมีความยุ่งยากมากขึ้น ทั้งในแง่ของการสำรวจบ้านเช่าที่เป็นที่นิยม และการคำนวณค่าใช้จ่ายของเจ้าของบ้านที่ไม่ได้จ่ายค่าเช่าเป็นตัวเงิน ซึ่งมีความซับซ้อนค่อนข้างมาก
ตัวอย่างการคำนวณน้ำหนักสินค้าในดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)
โดยสรุปแล้วเงินเฟ้อเป็นการวัดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าที่ครัวเรือนส่วนใหญ่เผชิญ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงราคาของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง อีกทั้งภายใต้ CPI ตัวรวมก็มีความหลากหลายของสินค้าและบริการ ดังนั้น คงจะไม่แปลกที่ตัวเลข CPI ที่ประกาศออกมาจะไม่ตรงกับความรู้สึกของคนบางกลุ่มหรือบางช่วง เพราะแต่ละคนอาจมีตะกร้าสินค้าที่แตกต่างกัน ทั้งในแง่ของลักษณะสินค้า แบรนด์ สัดส่วนการบริโภค งบประมาณที่มี หรือพื้นที่อยู่อาศัย
เช่น กลุ่มคนรายได้น้อยมีสัดส่วนของหมวดอาหารในตะกร้า (44%) มากกว่ากลุ่มคนรายได้สูง (28%) เมื่อราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น กลุ่มคนรายได้น้อยจึงจะรู้สึกว่าข้าวของแพงขึ้นมากกว่า หรือกลุ่มผู้รักสุขภาพที่บริโภคสินค้าออร์แกนิก/อาหารคีโตมากกว่ากลุ่มอื่น ก็อาจจะรู้สึกว่าตัวเองมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า หรือคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ อาจเผชิญกับราคาอาหารและเครื่องดื่มที่แพงกว่าคนที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด นั่นเอง
ทำไมเงินเฟ้อของแต่ละคนถึงไม่เท่ากัน?
ผู้เขียน
โฆษณา