16 พ.ค. เวลา 12:00 • ข่าว

เมื่อศรัทธา คือทุน และพระ คือ “ผู้บริหาร” เปิดโมเดลหาเงินของ“วัดไทย”ผ่านกรณีข่าวเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง

กระแสข่าวร้อนแรงช่วงนี้ไม่ใช่เรื่องการเมืองหรือบันเทิง หากแต่เป็นข่าวที่สั่นคลอนศรัทธาในศาสนาพุทธอย่างรุนแรงอีกครั้ง เมื่อเจ้าอาวาสวัดชื่อดังอย่าง "วัดไร่ขิง" จังหวัดนครปฐม มีคดีพัวพันกับเว็บพนันออนไลน์ ยักยอกเงินวัดกว่า 300 ล้านบาท
มีเส้นทางการเงิน โอนจากบัญชีวัด เข้าบัญชีส่วนตัว ตั้งแต่ห้วงปี 2564 และเชื่อมโยงไปยังบัญชีเครือข่ายนายหน้าเว็บพนันออนไลน์ผิดกฎหมายหลายครั้ง จนนำไปสู่การตั้งคำถามใหญ่ของสังคมไทยว่า วัดไทย สามารถหาเงินได้มากขนาดนี้เชียวหรือ? และ ทำไมพระถึงมีอำนาจจัดการทรัพย์สินจำนวนมหาศาลได้อย่างไม่มีระบบตรวจสอบ
1
  • วัดไร่ขิง รายได้ต่อปีไม่ธรรมดา ช่องว่างคือ “เงินสด”
"วัดไร่ขิง" ไม่ใช่วัดธรรมดา หากแต่เป็นวัดศูนย์กลางของศรัทธาในภาคกลาง มีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อย่างหลวงพ่อวัดไร่ขิงเป็นที่เคารพบูชา ตลอดทั้งปี มีผู้คนจากทั่วสารทิศเดินทางไปกราบไหว้ ทำบุญ และร่วมกิจกรรมทางศาสนาอย่างหนาแน่นตลอดทั้งปี
1
รายได้ของวัดนอกจาก มาจากการบริจาค วัตถุมงคล งานบุญ ยังมาจากการเปิดประมูลพื้นที่วางแผงขายของ “งานวัด” “ตลาดนัด” ทำเลทองที่ใครก็อยากได้ ที่มีกระแสข่าว จากคำบอกเล่าของพ่อค้า-แม่ค้า ว่าราคา อยู่ตั้งแต่หลักหมื่น ไปจนถึง หลักล้าน “คุ้มไม่คุ้ม” ต้องมีล็อคจองที่วัดไร่ขิงไว้ก่อน
1
นี่เองทำให้แต่ละปี วัดไร่ขิง มีรายได้หลักร้อยล้านบาท ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขโดยประมาณ แต่ก็เพียงพอจะทำให้เข้าใจว่า วัดในปัจจุบัน โดยเฉพาะวัดดังๆ มีศักยภาพทางการเงินไม่น้อยไปกว่าธุรกิจขนาดกลางหรือองค์กรท้องถิ่นบางแห่งเสียด้วยซ้ำ
กรณีนี้สะท้อนให้เห็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของภาพอันซับซ้อนของ “พุทธพาณิชย์” ที่กลายมาเป็นคำที่คนรุ่นใหม่ใช้พูดถึงระบบวัดที่ขับเคลื่อนด้วยเงินและภาพลักษณ์ความดัง มากกว่าธรรมะและการปฏิบัติธรรม
1
เปิดเนื้อหาซ้อนความจริง ที่ซีรีส์ไทยเรื่อง “สาธุ (The Believers)” เคยได้ตีแผ่เรื่องราวของ โมเดลการหาเงินจากวัด โดยกลุ่มวัยรุ่น ชาย-หญิง 3 คน ที่เปลี่ยนวัดร้างให้กลายเป็นธุรกิจศาสนาใช้การตลาดดิจิทัลและวาทกรรมเรื่องบุญมาเป็นเครื่องมือหาเงิน สะท้อนภาพจริงที่สังคมไทยเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า แรงศรัทธาอาจถูกกลุ่มคนบางกลุ่มแปรรูปให้เป็นเครื่องมือสร้างเงินและผลประโยชน์ได้ง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ
1
ย้อนกลับมาสิ่งที่เกิดขึ้นกับวัดไร่ขิงไม่ใช่เรื่องส่วนบุคคล แต่เป็น ข้อคำถาม ถึง ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งในด้านการขาดระบบตรวจสอบภายในวัด การไม่แยกบัญชีเงินวัดกับเงินส่วนตัวของพระ การไม่มีมาตรฐานกลางสำหรับการรายงานรายรับรายจ่าย รวมถึงช่องว่างในกฎหมายที่เปิดโอกาสให้ผู้มีอำนาจภายในวัดจัดการทรัพย์สินจำนวนมหาศาลได้โดยลำพังนานนับสิบปี
1
อ้างอิงจากคำสัมภาษณ์ของกรรมการวัดรายหนึ่ง ที่ระบุกับสื่อดังล่าสุด ว่า เงินบางส่วนที่วัดเปิดประมูลพื้นที่ หายไปจากบัญชี แบบจับต้นชนปลายไม่ได้ แต่ไม่มีใครกล้าทวงถาม และรับรู้พฤติกรรมของเจ้าอาวาสคนดังมาโดยตลอด แต่ทำอะไรไม่ได้ และ ช่องว่าง คือ การรับจ่ายแบบ “เงินสด” ในหลายๆกิจกรรมของวัด เช่น ค่าประมูลแผง
2
  • วัดกับความเสี่ยงที่จะถูกใช้เพื่อฟอกเงิน
1
จากกรณีของเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ทุจริตยักยอกเงินวัด ก่อนหน้านี้ทีดีอาร์ไอ เคยนำเสนอรายงานฉบับย่อ “วัดกับความเสี่ยงที่จะถูกใช้เพื่อฟอกเงิน” ซึ่งมีเนื้อหาบางส่วนเชื่อมโยงชวนคิด ไม่ว่าจะเป็น ภาพรวมของช่องโหว่ของการใช้จ่าย “เงินวัด” ,รายได้ของวัด ทั้งจากเงินอุดหนุนจากรัฐ และเงินทำบุญ รวมไปถึง เทียบเคียงการกำกับดูแลองค์กรศาสนาในต่างประเทศ
Thairath Money ถอดใจความบางส่วนมาให้เห็นภาพมากขึ้น ซึ่งในรายงานของทีดีอาร์ไอ ระบุไว้ ว่า “วัด” เป็นสถานที่ที่พุทธศาสนิกชนให้ความสำคัญ เพราะเป็นแหล่งรวมความศรัทธาและการทำบุญ พุทธศาสนิกชนส่วนมากจึงเต็มใจบริจาคเงินเพื่อการทำบุญ ร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของวัด
1
แม้ว่าวัดจะไม่ได้มีกลไกหลักในการระดมเงิน และใช้เงินเพื่อวัตถุประสงค์ในการกุศลและการศาสนาก็ตาม ซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลบางกลุ่มมักใช้ความศรัทธาจากการบริจาคทำบุญเหล่านี้ เป็นช่องทางในการแสวงหาผลประโยชน์ ส่งผลให้วัดมีความเสี่ยงที่จะถูกใช้บังหน้าเพื่อการกระทำความผิดได้
ดังเห็นได้จากคดีที่ผ่านมา ทั้งคดีหลวงปู่เณรคำ ที่ใช้วัดบังหน้าเพื่อระดมเงินทำบุญตามความศรัทธา โดยขอรับการบริจาคเงินหรือทรัพย์สินจากประชาชนเพื่อก่อสร้างพระแก้วมรกตจำลอง และขอรับบริจาคเงินเพื่อสมทบทุนการก่อสร้างโรงพยาบาลร้อยเอ็ด แต่กลับนำเงินที่รับบริจาคดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ส่วนตน เช่น การซื้อที่ดิน การก่อสร้างบ้านพัก การซื้อรถยนต์ราคาแพง การใช้จ่ายที่เป็นความฟุ่มเฟือย เป็นต้น
2
นอกจากนี้ในช่วงปี 2561 ยังปรากฏคดีที่สะเทือนวงการพระพุทธศาสนา ได้แก่ คดี “เงินทอนวัด” หรือคดีการทุจริตเงินอุดหนุนวัดของเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) โดยเจ้าหน้าที่สำนักงาน พศ. จะเข้าไปติดต่อเจ้าอาวาสวัดในแต่ละจังหวัดเพื่อเสนอเงินอุดหนุนให้แก่วัด
1
แต่ทางวัดจะต้องเขียนโครงการเสนอของบประมาณกับสำนักงาน พศ. เพื่อพิจารณาอนุมัติโครงการ เมื่อวัดได้รับอนุมัติเงินอุดหนุนดังกล่าวแล้วจะต้องทำการเบิกจ่ายงบประมาณ และนำส่วนหนึ่งคืนให้แก่เจ้าหน้าที่สำนักงาน พศ. ที่มาติดต่อเพื่อเป็นค่าสินบน ซึ่งจากคดีเงินทอนวัดดังกล่าว เป็นการทุจริตเงินอุดหนุนวัดตั้งแต่ปี 2557–2561 คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 270 ล้านบาท
แม้จะมีการดำเนินการกวาดล้างคดีทุจริตเงินทอนวัดไปแล้ว หากแต่สถานการณ์การใช้วัดเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดอาจมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นอีก และมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นด้วย หากการกำกับดูแลการเงินของวัดมีช่องโหว่ ซึ่งจะเป็นจุดเปราะบางที่สำคัญ ที่ทำให้ “มิจฉาชีพ” ใช้เป็นช่องวางในการใช้วัด เป็นเครื่องมือกระทำความผิดได้
  • สาธุ ต้องเท่ากับ “ความดีงาม” ที่ตรวจสอบได้
แม้ในความเป็นจริง วัดบางแห่งอาจมีการจัดการแบบโปร่งใส มีคณะกรรมการดูแลการเงิน ตรวจสอบบัญชีประจำปี และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะ แต่นั่นก็อาจเป็นส่วนน้อย ในขณะที่วัดที่มีอิทธิพล หรือมีศรัทธามหาชนหลั่งไหลจำนวนมาก มักอยู่ในพื้นที่เงามืดที่ยากต่อการตรวจสอบ และเมื่อมีเงินจำนวนมากไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ความเสี่ยงที่ผู้ดูแลจะหลุดจากหลักธรรมและเข้าสู่ความโลภจึงสูงขึ้นตามไปด้วย
ระบบที่ปล่อยให้เกิดความลักลั่นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า มาพร้อมกับคำถามใหญ่ ว่า พระควรมีสิทธิบริหารเงินจำนวนมหาศาลเพียงลำพังหรือไม่? และเราควรมีระบบตรวจสอบจากภายนอกที่เข้มข้นมากกว่านี้อีกหรือไม่? หรือแม้แต่คำถามที่ลึกกว่านั้นว่า สังคมควรทบทวนความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธาและเงินอีกครั้งหรือไม่? เพื่อให้ “วัด” ยังคงเป็น “วัด” ไม่ยึดโยงกับการหารายได้เป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ในสังคมไทยยังมีวัดและพระดีอีกมากมายที่ปฏิบัติตนตามหลักธรรมคำสอน ช่วยเหลือชุมชน เป็นที่พึ่งทางใจแก่ผู้คน และไม่ข้องเกี่ยวกับผลประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งหากสังคมต้องการฟื้นศรัทธาที่กำลังถูกสั่นคลอน บางทีเราอาจต้องเริ่มจากการสร้างระบบที่ทำให้วัดเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง ทั้งในแง่จิตวิญญาณ และในแง่ธรรมาภิบาล
เพราะ “สาธุ” ในบริบทของซีรีส์ อาจหมายถึงการเอาศรัทธามาทำเป็นสินทรัพย์ แต่ในโลกความจริง บางทีคำว่า “สาธุ” ควรกลับมามีน้ำหนักอีกครั้ง ในฐานะเสียงที่ผู้ศรัทธามอบให้ กับความดีงามที่โปร่งใสและตรวจสอบได้อย่างแท้จริง
อ่านข่าวการเงินส่วนบุคคล และการวางแผนการเงิน กับ Thairath Money เพื่อให้คุณ "การเงินดีชีวิตดีได้ที่
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney
โฆษณา