เมื่อวาน เวลา 05:00 • สุขภาพ

เปิด ‘5 สาเหตุ’ เชิงลึก ทำไม ‘ยาในสหรัฐ’ ถึงแพงสุดขีด

ภายใต้ภาพลักษณ์ประเทศที่เจริญ สหรัฐกลับเผชิญ ‘ยาแพงลิ่ว’ โดยเบื้องหลังของราคายานั้น กลับซ่อนไว้ด้วยโครงสร้างอันซับซ้อนและผลประโยชน์ของหลายภาคส่วน ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทยาเท่านั้น ทำให้ชาวอเมริกันต้องแบกรับภาระค่ายาสูงจนน่าตกใจ
แม้อยู่ในกลุ่มประเทศที่เจริญแล้ว แต่คนอเมริกันกลับยังคงแบกราคายาในประเทศที่ “แพงมาก” สูงกว่ากลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอย่างยุโรป “เกือบ 3 เท่า” หรือมากกว่านี้ ถือเป็นปัญหาที่ถูกพูดถึงมายาวนาน และไม่ว่ารัฐบาลจากพรรคใดเข้ามา ก็ยังคงแก้ปัญหาไม่ได้
แต่ไม่นานมานี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งบริหารให้เหล่าบริษัทยา “ลดราคายาลง 50-80%” ให้เท่ากับประเทศอื่น ภายใน 30 วัน ซึ่งได้รับ “เสียงตอบรับเชิงบวก” ทั้งจากฐานเสียงรีพับลิกันและเดโมแครตด้วย เพราะไม่ว่าเป็นเสื้อสีใด ก็เผชิญยาแพงเหมือนกัน
หากดูสาเหตุของยาแพงในสหรัฐแล้ว จะพบว่าเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ “ซับซ้อน” และเกี่ยวพันกลุ่มผลประโยชน์หลายกลุ่ม ซึ่งไม่ใช่แค่บริษัทยาเท่านั้น โดยแบ่งออกได้เป็น “5 สาเหตุหลัก” ดังนี้
📌 1. อำนาจต่อรองยา ‘กระจัดกระจาย’
ในการต่อรองราคากับบริษัทยา ประเทศอื่น ๆ อาศัยหน่วยเจรจาเดียว ซึ่งก็คือ “รัฐบาล” โดยอย่างที่ไทย โรงพยาบาลส่วนใหญ่เป็นของรัฐ จึงมีอำนาจตัดสินใจว่าจะยอมรับราคาที่บริษัทยาต้องการหรือไม่ หากตั้งราคาสูงไป ก็อาจเข้ามาในตลาดนี้ไม่ได้
ต่างจากในสหรัฐ ซึ่งเป็น “ระบบทุนนิยมเสรีสูง” รัฐไม่ค่อยเข้าไปยุ่งเกี่ยว การเจรจากับผู้ผลิตยาจึงกระจายตามแผนประกันสุขภาพนับหมื่นแผน โดยไม่ได้มีรัฐบาลเป็นเจ้าภาพ ส่งผลให้ผู้ซื้อมีอำนาจต่อรองน้อยกว่ามาก นั่นคือ ราคายาแล้วแต่บริษัทยาจะกำหนด
“การที่เราขาดการรวมศูนย์ในการเจรจาต่อรอง เป็นเหตุผลสำคัญที่เราจ่ายยาแพงกว่าประเทศอื่น ๆ” สเตซี ดูเซตซินา ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสุขภาพจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัย Vanderbilt ในสหรัฐกล่าว
อันที่จริง ก่อนหน้านั้นมี “กฎหมาย Inflation Reduction Act” ออกมา ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2022 โดยอนุญาตให้โครงการ Medicare (ประกันสุขภาพของรัฐบาลกลางสำหรับผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปหรือผู้ทุพพลภาพ) ต่อรองราคากับบริษัทยาได้โดยตรง แต่กลับจำกัดอำนาจต่อรองไว้สำหรับ “ยาจำนวนเล็กน้อย” และต้องเป็นยาที่วางขายในสหรัฐมาแล้วหลายปี ซึ่งจริง ๆ แล้ว ควรขยายอำนาจต่อรองให้กว้างขวางกว่านี้มาก จึงจะสามารถลดราคายาโดยรวมได้อย่างมีนัยสำคัญ
📌 2. ไม่มีเพดานราคายา
อย่างที่เอ่ยก่อนหน้านี้ อเมริกาเป็นตลาดทุนนิยมเสรีขั้นสุด ที่เปิดให้ตั้งราคาสูงเท่าไรก็ได้ ตราบเท่าที่ผู้ป่วยยังสู้ไว้ โดยไม่จำเป็นต้องอิงราคาจากต้นทุนหรือจากราคาขายในต่างประเทศ
ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างในโซนยุโรป หรือในเอเชียที่มองว่า การรักษาพยาบาลควรเป็น “สิทธิสวัสดิการ” หากค่ารักษาแพงเกินไป รัฐบาลควรยื่นมือเข้าช่วยเหลือ และไม่ควรเปิดเสรีราคาเหมือนสินค้าทั่วไป เพราะการแพทย์เกี่ยวพันถึงชีวิตของประชาชน
1
“ผลการวิจัยของเราแสดงหลักฐานว่า บริษัทยาไม่ได้ตั้งราคายาจากต้นทุนวิจัยและพัฒนา (R&D) หรือคุณภาพของยา แต่พวกเขาตั้งราคา ‘ตามที่ตลาดสามารถจ่ายไหว’ ” ดร. อินมาคูลาด้า เฮอร์นันเดซ ศาสตราจารย์จากคณะเภสัชศาสตร์ Skaggs แห่ง University of California, San Diego กล่าว
📌 3. ไม่ใช่แค่บริษัทยาที่ได้ประโยชน์
นอกจากบริษัทยาที่ได้ประโยชน์จากค่ายาแพงขึ้นแล้ว แม้แต่แพทย์ โรงพยาบาล และคนกลางอื่น ๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้น เมื่อราคายาสูงขึ้นด้วย ซึ่งโรงพยาบาลส่วนใหญ่ในสหรัฐเป็นของเอกชน
สำหรับเรื่องนี้ หนังสือพิมพ์ The New York Times ได้เปิดเผยว่า ในนโยบายของ Medicare สำหรับยาบางชนิด เช่น ยาคีโมที่ให้ทางหลอดเลือดดำ แพทย์จ่ายเงินซื้อยานั้นล่วงหน้าก่อนสำหรับคนไข้ แล้วจึงเรียกเก็บเงินจาก Medicare โดย Medicare จะจ่ายคืนทั้งค่ายา และเปอร์เซ็นต์เพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ซึ่ง “ระบบ Buy and Bill” นี้ อาจทำให้แพทย์บางคน มีแนวโน้มเลือกใช้ยาที่ราคาแพงกว่า เพราะแรงจูงใจด้านเปอร์เซ็นต์ที่ได้จากราคายาที่สูงขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น ถ้า Medicare จ่ายเพิ่ม 6%
สำหรับยาราคา 10,000 ดอลลาร์ แพทย์จะได้เพิ่มอีก 600 ดอลลาร์ เทียบกับแค่ 6 ดอลลาร์ ถ้าเลือกยาที่ราคาเพียง 100 ดอลลาร์
ไม่เพียงนั้น ยังมีแรงจูงใจที่บิดเบี้ยว ซึ่งเกิดจากบทบาทของ “ผู้จัดการสิทธิประโยชน์ด้านยา” หรือ Pharmacy Benefit Manager (P.B.M.) ซึ่งเป็นธุรกิจบริษัท “ตัวกลาง” ที่รวมความต้องการของโรงพยาบาลและบริษัทประกันแผนต่าง ๆ แล้วไปเจรจาราคากับบริษัทยา จากนั้นก็กลับมาเสนอดีลที่ได้ให้โรงพยาบาลและบริษัทประกันอีกที
ประเด็นคือ ระบบที่มี P.B.M.เป็นตัวกลาง ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ไม่เอื้อต่อผู้ป่วย เพราะยิ่งราคายาสูง บริษัทเหล่านี้ก็ยิ่งได้ค่าธรรมเนียมมาก จึงอาจส่งเสริมให้ใช้ยาราคาแพงโดยไม่จำเป็น แม้มียาทางเลือกถูกกว่า ที่ได้ผลไม่ต่างกัน
อีกทั้งในหลายครั้ง P.B.M. ก็มักไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดการดีล อย่างรายการส่วนลดหรือการคิดคำนวณออกมา ซึ่งดีลระหว่างผู้ผลิตยา คนกลาง (P.B.M.) และบริษัทประกัน ได้กลายเป็นสิ่งที่ซับซ้อน และถูกตั้งคำถามจากสาธารณะในเรื่อง “ความโปร่งใส”
นอกจากนี้ หากเข้าไปค้นดู “UnitedHealth Group” จะพบว่า เป็นเจ้าของ P.B.M. ในชื่อ “OptumRx” ขณะเดียวกันก็เป็นเจ้าของบริษัทประกันสุขภาพ “UnitedHealthcare” ที่ซีอีโอถูกลอบยิง อีกทั้งมีบริการคลินิกและร้านขายยาของตนเอง เรียกได้ว่าคุมห่วงโซ่การรักษา ตั้งแต่การประกัน การจ่ายยา ไปจนถึงร้านขายยา
📌 4. สิทธิบัตรที่ยืดอายุขัยได้เรื่อย ๆ
โดยปกติ ในการคิดค้นยาแต่ละครั้ง ใช้งบประมาณสูงมาก และยังต้องเจอความเสี่ยงที่ต้องรื้อทิ้งใหม่ หากผลทดลองยานั้นล้มเหลว นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า “ยาต้นแบบ” (Original Drugs) ที่ออกมาสำเร็จ จะได้รับการปกป้องทางลิขสิทธิ์ ให้บริษัทที่คิดค้นนั้นสามารถขายได้เจ้าเดียว “ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง” เพื่อให้คุ้มค่ากับสิ่งที่ได้ลงทุนลงแรงมา
เมื่อพ้นระยะเวลานั้นแล้ว บริษัทอื่นก็สามารถทำยาเลียนแบบได้ ซึ่งเราเรียกว่า “ยาสามัญ” (Generic Drugs) อันมีราคาถูกกว่ามาก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและผู้ยากไร้ในการเข้าถึง
แต่ประเด็น คือ ในสหรัฐ เหล่าบริษัทยาได้ใช้วิธียื่นจดสิทธิบัตรจำนวนมาก โดยแต่ละสิทธิบัตรมีการปรับส่วนผสมเพียงเล็กน้อย “ไม่ได้เป็นนวัตกรรมใหม่” ขึ้นมา กลายเป็นว่าเมื่อสิทธิบัตรเดิมหมดอายุแล้ว สิทธิบัตรอีกฉบับก็มีผลคุ้มครองต่อ ทั้งที่ตัวยาหลักก็เหมือนเดิม
ยกตัวอย่างบริษัท AbbVie ใช้สิทธิบัตรเป็นเครื่องมือยืดเวลาลิขสิทธิ์ของยาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ “Humira” ในสหรัฐ ให้นานกว่ายุโรปถึง 4 ปี ซึ่งส่งผลให้คู่แข่งที่ผลิตยาสามัญไม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ และผู้บริโภคจึงต้องจ่ายค่ายาแพงต่อไป
สาเหตุที่ทำได้ในสหรัฐ แต่ทำไม่ได้ในยุโรป ก็เพราะว่าสิทธิบัตรเพิ่มเติมหลายฉบับที่ AbbVie ยื่นในยุโรปถูกปฏิเสธ เพราะถือว่ายังไม่มีสาระสำคัญพอ หรือเป็นสิ่งใหม่ด้านยา
ขณะที่ในสหรัฐ สิทธิบัตรเหล่านี้กลับได้รับการรับรอง ทำให้บริษัทสามารถยืดเวลาลิขสิทธิ์ยานั้นโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งช่วยรักษากำไรของบริษัทยา แม้จะเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยและระบบสาธารณสุขในระยะยาวก็ตาม
📌 5. ‘บริษัทยา’ ทรงอิทธิพลทางการเมือง
นอกจากบริษัทเทคโนโลยี บริษัทน้ำมัน และบริษัทค้าอาวุธสงครามแล้ว “บริษัทยา” นับเป็นหนึ่งในกลุ่มล็อบบี้ที่ “ทรงอิทธิพลที่สุด” ในวอชิงตัน ดี.ซี.
เห็นได้จากข้อมูลของสถาบันสถิติ Statista ระบุว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมที่ใช้จ่ายในการล็อบบี้มากที่สุดอันดับ 1 ในสหรัฐ คือ “อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในสหรัฐ” รวมเป็นเงินสูงถึง 293.7 ล้านดอลลาร์ หรือราว 9,700 ล้านบาท
ขณะที่ในปีเดียวกัน “อุตสาหกรรมประกัน” ใช้จ่ายในการล็อบบี้ 117.31 ล้านดอลลาร์ หรือราว 3,900 ล้านบาท
- "อุตสาหกรรมยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ" ใช้จ่ายในการล็อบบี้มากเป็นอันดับ 1 ในสหรัฐ (เครดิต: Statista) -
นี่อาจเป็นสาเหตุหรือไม่ ว่าทำไมสภาคองเกรส ถึงไม่สามารถผ่านกฎหมายควบคุมราคายาได้ ทำให้ “สหรัฐ” เป็นประเทศพัฒนาแล้วเพียงไม่กี่ประเทศที่รัฐบาลไม่มีอำนาจต่อรองราคายาเลย
กลายเป็นว่าประชาชนอเมริกันจำนวนมากต้องแบกรับ “ยาแพง” จนเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับชาติ และยังคงไม่ได้รับการแก้ไขจนถึงทุกวันนี้
โฆษณา